เสรีภาพที่เลือกได้
คอลัมน์ บทบรรณาธิการข่าวสด
เสรีภาพที่เลือกได้ – ขณะที่ทั่วทั้งโลกอยู่ในยุคที่เรียกว่าดิสรัปชั่น เต็มไปด้วยการเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็วรุนแรง แต่ก็ทำให้เกิดสิ่งใหม่ขึ้นมาพร้อมกัน
สังคมไทยเราเอง ก็หนีไม่พ้นกระแสนี้ รวมถึงการเติบโตทางความคิดและทางการเมืองของคนรุ่นใหม่ ที่มีตั้งแต่เด็กมัธยม ไปจนถึงเด็กมหาวิทยาลัย และคนที่เพิ่งจบใหม่ทำงานใหม่ๆ ล้วนแต่ลุกขึ้นมาแสดงความคิดเห็นอย่างดุเดือด แข็งกร้าว ในโลกโซเชี่ยล ไปจนถึงการเคลื่อนไหวชุมนุม
คนรุ่นใหม่ยังแสดงออกในเชิงสัญลักษณ์มากมาย ที่กล้าวิพากษ์วิจารณ์ โต้แย้ง กระทั่ง ต่อต้าน ต่อวัฒนธรรม ขนบธรรมเนียม ประเพณี ความเชื่อต่างๆ
เพราะเราอยู่ในโลกยุคดิจิตอล ในสังคมไทยเอง คนรุ่นใหม่รู้ข้อมูลข่าวสารได้รวดเร็วกว้างไกล เปิดหูเปิดตาได้กว้างขวางกว่าคนรุ่นเก่าๆ หลายต่อหลายเท่า จึงรู้และคิดได้อย่างเป็นระบบ
แม้แต่การแสดงออกถึงความเคารพหรือไม่เคารพ ก็เป็นอีกประเด็นร้อนแรงที่คนรุ่นใหม่กำลังสร้างเป็นปรากฏการณ์ใหม่ในสังคมไทย
เรื่องการแสดงออกเชิงสัญลักษณ์เป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมแต่ละสังคม ชุมชน และประเทศ
ตัวอย่างที่เห็นอยู่บ่อยๆ และเป็นข่าวดังมาจากแวดวงการแข่งขันฟุตบอลของลีกอังกฤษ รวมถึงทีมชาติอังกฤษ ซึ่งก่อนเกมมักมีนักเตะหลายคนคุกเข่าเพื่อแสดงสัญลักษณ์ต่อต้านการเหยียดผิว ที่เริ่มมาตั้งแต่ปี 2563 จากกระแสรณรงค์ Black Lives Matter
กรณีนี้กลายเป็นประเด็นที่แฟนฟุตบอลส่วนหนึ่งไม่เห็นด้วยถึงขั้นโห่ใส่
นอกจากนี้ยังมีตัวอย่างวันรำลึกสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่ 1 ของอังกฤษ วันที่ 11 พฤศจิกายน ที่ผู้คนมักติดป๊อปปี้เพื่อรำลึกและยกย่องทหารที่สละชีวิต แต่ก็มีคนที่แสดงตนว่าไม่ขอติดสัญลักษณ์นี้ ด้วยเหตุผลและอุดมการณ์ส่วนตัว
เป็นเรื่องธรรมดาของวัฒนธรรมทางสังคมและเสรีภาพทางการเมืองของบุคคล
การอยู่ร่วมกันในสังคมให้สงบสุขและเป็นประชาธิปไตยจึงมาจากการสร้างสมดุล ประนีประนอม มีความเห็นอกเห็นใจ เคารพความเห็นและการแสดงออกซึ่งกันและกัน
เมื่อใดก็ตามที่การแสดงออกของปัจเจกบุคคลหรือคณะทำให้คนอีกกลุ่มไม่เห็นด้วย จึงต้องพูดคุยทำความเข้าใจกันด้วยเหตุผล เพื่อหาจุดที่จะทำให้อยู่ร่วมกันได้
ไม่ใช่การบังคับให้ทุกคนเห็นตรงกัน กดขี่หรือปิดกั้นอยู่ฝ่ายเดียว สร้างบรรทัดฐานอยู่ฝ่ายเดียว
อย่าลืมว่าเสรีภาพที่จะเลือกแสดงหรือ ไม่แสดง เป็นดัชนีหนึ่งที่บ่งบอกว่าสังคม นั้นๆ มีวุฒิภาวะเช่นไร พัฒนาแล้วหรือยังไม่พัฒนา