เศรษฐา นำทีมเพื่อไทย ต้อนรับคณะทูตอียู 15 ประเทศ ชูนโยบายเขตธุรกิจใหม่ พร้อมสานต่อเอฟทีเอ สร้างรายได้ การลงทุนจากต่างชาติ
เมื่อวันที่ 3 พ.ค.2566 ที่พรรคเพื่อไทย (พท.) แกนนำพรรคเพื่อไทย นำโดยนายเศรษฐา ทวีสิน แคนดิเดตนายกฯ พรรคเพื่อไทย นพ.พรหมมินทร์ เลิศสุริย์เดช ประธานคณะทำงานด้านนโยบายเศรษฐกิจ นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง ที่ปรึกษาคณะทำงานด้านนโยบายเศรษฐกิจ นายนพดล ปัทมะ คณะกรรมการยุทธศาสตร์และทิศทางการเมือง นายปานปรีย์ พหิทธานุกร ที่ปรึกษาคณะทำงานด้านนโยบายเศรษฐกิจ นางนลินี ทวีสิน ประธานคณะนโยบายต่างประเทศ และน.ส.ชยิกา วงศ์นภาจันทร์ เลขานุการคณะทำงานนโยบายต่างประเทศ ให้การต้อนรับคณะทูตานุทูตและผู้แทนจากสหภาพยุโรปรวม 15 ประเทศ
เพื่อพบปะแลกเปลี่ยน และหารือเกี่ยวกับความเป็นไปได้ในการร่วมมือ ที่จะส่งเสริมความสัมพันธ์ไทย-สหภาพยุโรปทั้งในมิติเศรษฐกิจ การเมืองและสังคมในอนาคตให้แน่นแฟ้นและเป็นไปทางทิศทางที่ดีมากยิ่งขึ้น
นายเศรษฐา กล่าวว่า ขอขอบคุณคณะทูตานุทูตจากสหภาพยุโรป(อียู) รวม 15 ประเทศ และผู้แทนจากสหภาพยุโรปที่ให้เกียรติมาร่วมพูดคุยกับพรรค อียูถือเป็นหนึ่งในคู่ค้าที่ใหญ่ที่สุดเป็นอันดับต้นๆของไทย ในปี 2562 โดยมูลค่าการค้าระหว่างไทย-อียูสูงถึง 1.35 ล้านล้านบาท อียูยังเป็นตลาดส่งออกที่ใหญ่ที่สุดเป็นอันดับ 3 และการลงทุนในไทยยังสูงเป็นอันดับ 2 อีกด้วย
นอกจากนี้ไทย-อียูยังได้มือความร่วมมือทางการเมือง และสังคมระหว่างกันอย่างเข้มข้น ตั้งแต่ด้านสิทธิมนุษยชน ด้านสิ่งแวดล้อมไปจนถึงความมั่นคงระดับภูมิภาค จึงอยากขอขอบคุณอียู ในฐานะผู้สนับสนุนประเทศไทยอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในด้านประชาธิปไตยและสิทธิมนุษยชน
ทั้งนี้ น่าเสียดายว่าที่ผ่านมาความร่วมมือในด้านต่างๆ อาจจะไม่มีความก้าวหน้ามากนัก ดังนั้น หากพรรคเพื่อไทยเป็นรัฐบาล จะสานต่อการเจรจาข้อตกลงเขตการค้าเสรี (เอฟทีเอ) ไทย-อียู ที่รัฐบาลเพื่อไทยได้ริเริ่มไว้ เพื่อประโยชน์ทางการค้าการลงทุนของทั้งสองฝ่าย และยังหวังอีกด้วยว่าจะทำงานคู่ขนานกันไปเพื่อเพิ่มผลิตภาพแรงงาน เพื่อดึงดูดแรงงานที่มีทักษะขั้นสูงด้วยการเติมเต็มช่องว่างระหว่างคนกับความก้าวหน้าของเทคโนโลยี
เรามีนโยบายเขตธุรกิจใหม่ (New Business Zone) ภายใต้สโลแกน “ดึงเงินนอก ปลุกเงินใน เปลี่ยนเงินที่หลับไหล เป็นเงินที่สร้างเงิน” ผ่านกฎหมายธุรกิจชุดใหม่ สิทธิประโยชน์ใหม่ เพื่อสร้างระบบนิเวศน์ทางธุรกิจใหม่ ซึ่งจะอำนวยความสะดวกในการประกอบธุรกิจให้นักลงทุนต่างชาติ ผลักดันให้ประเทศไทยน่าลงทุนมากยิ่งขึ้น
โดยนโยบายนี้จะเน้นเป้าหมายสำคัญ 2 ประการคือ 1.เพิ่มการลงทุนในอุตสาหกรรมด้านเทคโนโลยี และ 2.ส่งเสริมธุรกิจขนาดกลางขนาดย่อม (SME) นโยบายเขตธุรกิจใหม่จะลดอุปสรรคในข้อกฎหมายที่เอื้อต่อการการลงทุนและจะตรากฎหมายพิเศษขึ้นให้ครอบคลุมประเด็นเรื่องแรงงาน ที่ดิน และวีซ่า เพื่อสร้างธุรกิจเอสเอ็มอี ให้เกิดความได้เปรียบในการแข่งขัน และเชื่อมต่อเม็ดเงินลงทุนให้กับธุรกิจเอสเอ็มอี
ทั้งนี้ ภาษีนำเข้า ภาษีรายได้ส่วนบุคคล ภาษีนิติบุคคล และภาษีที่ดิน จะได้รับการงดเว้นในโซนนี้ โดยเขตธุรกิจใหม่ยังมีระบบนิเวศทางธุรกิจที่ครบถ้วนทั้งระบบสาธารณูปโภค โครงสร้างพื้นฐานใหม่ ระบบการศึกษา การผลิตคนทำงานใหม่ และระบบธนาคารใหม่ เพื่อผลักดันให้ภาคเอกชนมีขีดความสามารถทางการแข่งขันที่สูงขึ้น
โดยเขตธุรกิจใหม่จะนำร่องใน 4 จังหวัดได้แก่ เชียงใหม่ ขอนแก่น กรุงเทพฯ และหาดใหญ่ ซึ่งหวังว่านโยบายนี้จะได้รับความสนใจจากนานาประเทศ จนสามารถเพิ่มการลงทุนทางตรงจากต่างประเทศได้มากขึ้นอย่างมีนัยยะสำคัญ