เศรษฐพงค์ อดีตรองประธาน กสทช. ชี้ควบรวม ‘ทรู-ดีแทค’ใช้ประกาศปี 61 ไม่ต้องขออนุมัติเช่นเดียวกับ 9 ดีลก่อนหน้า ยัน กสทช. ต้องยึดกฎหมาย ไม่เลือกปฏิบัติ
วันที่ 3 ส.ค.2565 พ.อ.เศรษฐพงค์ มะลิสุวรรณ อดีตรองประธานกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) กล่าวถึงกรณีการควบรวม ทรูและดีแทคว่า การควบรวมไม่ใช่เรื่องใหม่ของอุตสาหกรรมโทรคมนาคมไทย ที่ผ่านมามีการควบรวมเกิดขึ้นไม่น้อยกว่า 9 ราย ซึ่งแจ้งการควบรวมตามประกาศ กสทช. ปี 2561 โดยไม่ต้องได้รับอนุญาตจาก กสทช. เช่นเดียวกับการรวมรวมธุรกิจระหว่าง ทรู กับดีแทค ซึ่งเป็นการควบบริษัท (Amalgamation) จึงไม่ต้องขออนุญาตจาก กสทช. เช่นเดียวกัน
ทั้งนี้ ตามประกาศ กสทช.ปี 61 ที่ใช้มาหลายกรณีแล้วนั้น เมื่อ กสทช.รับทราบ หากมองว่าอาจจะมีผลกระทบเกิดขึ้น กสทช.สามารถกำหนดเงื่อนไข มาใช้เพื่อป้องกันความเสียหายต่อประโยชน์สาธารณะได้ ซึ่งในกรณีนี้ ก็ควรเป็นเช่นเดียวกับดีลที่ผ่านๆ มา ไม่น่ามีเหตุผลใดที่จะเลือกปฏิบัติให้แตกต่างจากดีลที่ผ่านมา
เมื่อถามถึงกรณีมีการยกเอาประกาศฉบับอื่นๆ นอกจากประกาศ กสทช. ปี 61 มาใช้อ้างอิง กรณีควบรวม ทรู และดีแทค นั้น พ.อ.เศรษฐพงค์ กล่าวว่า การนำประกาศฉบับต่างๆ มาอ้างอิงทำให้สังคมเกิดความสับสน ซึ่งต้องแยกให้ออกก่อนว่า การควบรวม แตกต่างจากการเข้าซื้อกิจการ
ดังนั้น การควบรวมที่ผ่านมา รวมถึงกรณีของทรูและดีแทค ต้องใช้ประกาศ กสทช. ปี 61 ซึ่งออกสมัยที่ตนเป็น กสทช.และเป็น กสทช.ฝั่งโทรคมนาคม โดยระบุว่า ประกาศเรื่องการรวมธุรกิจฯ ปี 2561 กำหนดให้ผู้ได้รับใบอนุญาตประกอบกิจการโทรคมนาคม หรือผู้มีอำนาจควบคุมของผู้ได้รับใบอนุญาตที่ต้องการรวมธุรกิจ ต้องรายงานการรวมธุรกิจต่อเลขาธิการ กสทช. ทราบล่วงหน้าไม่น้อยกว่า 90 วันก่อนจดทะเบียนควบบริษัท ซึ่งกำหนดให้ รายงานต่อเลขาธิการ กสทช.เท่านั้น
ส่วนที่มีคนยกเอากฎหมายฉบับอื่นมาอ้างอิงนั้น เช่น ประกาศ กสทช. ปี 53 ที่ถูกยกเลิกไปแล้ว หรือ ประกาศปี 49 ที่เป็นเรื่องการเข้าซื้อกิจการ มาใช้อ้างอิงนั้น ทำไม่ได้ เพราะเป็นคนละเรื่องกัน กสทช.ยกเลิกกฎหมายเรื่องการแข่งขัน 2 ครั้ง ครั้งแรกเนื่องจากประกาศปี 49 ไม่ได้พูดเรื่องการควบรวม จึงออกประกาศปี 53 มาใช้กับการควบรวม และเมื่อมีประกาศปี 61 เรื่องการรวมธุรกิจ ก็ได้ยกเลิกประกาศปี 53 ไปแล้ว
เหตุที่ยกเลิกประกาศปี 53 เพราะหลักเกณฑ์ไม่ตรงตามบัญญัติในกฎหมายแม่บท โดยพ.ร.บ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ฯ และพ.ร.บ.การประกอบกิจการโทรคมนาคมฯ ไม่ได้ให้อำนาจ กสทช. ในการอนุญาตหรือไม่อนุญาตการรวมธุรกิจ ดังนั้น จึงเกิดประกาศเรื่องการรวมธุรกิจปี 61 ออกมาใช้แทน เพื่อให้เกิดความชัดเจนและสอดคล้องกับพ.ร.บ.ทั้ง 2 ฉบับ
“ดีลทรูและดีแทค ไม่ใช่ดีลแรกในการควบรวมภายใต้ประกาศ กสทช. ปี 61 ที่ผ่านมามีถึง 9 ดีล ทำไมถึงจะมีปัญหาเฉพาะกรณีนี้ได้อย่างไร ทุกกรณีต้องพิจารณาอย่างเท่าเทียม ไม่เลือกปฏิบัติ เรามีกฎระเบียบกำกับดูแล ก็ควรยึดตามหลักเกณฑ์” พ.อ.เศรษฐพงค์ กล่าว
กสทช. มีมติเพียง รับทราบการแจ้งการรวมธุรกิจเหล่านั้นเท่านั้น โดยมิได้ออกคำสั่งอนุญาต และมิได้อาศัยอำนาจตามประกาศเรื่องมาตรการป้องกันการผูกขาดฯ ปี 2549 มาประกอบการพิจารณาแต่อย่างใด โดยเฉพาะการรวมธุรกิจระหว่างบริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) และบริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) เป็นบริษัท โทรคมนาคมแห่งชาติ จำกัด (มหาชน) กสทช.ก็มีมติเพียงรับทราบการแจ้งการรวมธุรกิจเหล่านั้นเท่านั้น ซึ่งเป็นการรวมธุรกิจโดยวิธีการควบบริษัทดังเช่นการรวมธุรกิจทรูกับดีแทคในครั้งนี้ ดังนั้น กสทช.ต้องดำเนินการแบบเดียวกัน โดยไม่เลือกปฏิบัติ
พ.อ.เศรษฐพงค์ กล่าวว่า ส่วนข้อกังวลว่าราคาจะสูงขึ้นจนกระทบเศรษฐกิจนั้น เป็นไปไม่ได้ เพราะ กสทช. มีกฎหมาย และอำนาจในการกำหนดเพดานราคาอยู่แล้ว การจะคาดคะเนว่า ราคาจะสูงขึ้นเกินกรอบเพดาน ที่กสทช.ควบคุมนั้น ผู้ประกอบการทุกรายมีใบอนุญาต ทุกคนต้องเคารพกฎระเบียบอยู่แล้ว ซึ่งที่ผ่านมา กสทช. ควบคุมเพดานราคาได้ดี จนประเทศไทย มีราคาค่าบริการ ถูกเป็นอันดับต้นๆ ของโลกอยู่แล้ว ดังนั้น เรื่องราคา คงไม่ต้องกังวล