เล่นจริง แต่ไม่ตาย! เกาหลีใต้จัดแข่ง "Squid Game" ที่ UAE ตอกย้ำอิทธิพลซอฟต์เพาเวอร์

Home » เล่นจริง แต่ไม่ตาย! เกาหลีใต้จัดแข่ง "Squid Game" ที่ UAE ตอกย้ำอิทธิพลซอฟต์เพาเวอร์
เล่นจริง แต่ไม่ตาย! เกาหลีใต้จัดแข่ง "Squid Game" ที่ UAE ตอกย้ำอิทธิพลซอฟต์เพาเวอร์

ศูนย์วัฒนธรรมเกาหลีใต้ โปรโมทวัฒนธรรมสู่สายตาชาวโลกผ่านซีรีส์ดัง Squid Game เล่นจริง แต่ไม่ตายจริง

ศูนย์วัฒนธรรมเกาหลีใต้ประจำกรุงอาบูดาบีของสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ หรือ UAE เตรียมจัดงานแข่งขันด่านจริงที่มีในซีรีส์ดัง “Squid Game” หรือ “เกมปลาหมึก” ผลงานความบันเทิงระดับโลกจากเกาหลีใต้ โดยจะมีขึ้นในวันที่ 12 ต.ค.นี้ ตอกย้ำความสำเร็จที่ตอนนี้ซีรีส์ Squid Game กลายเป็นซีรีส์ที่ มีคนดูสูงที่สุดใน 90 ประเทศบน Netflix ใน 10 วันแรกหลังเริ่มสตรีม นับเป็นบทพิสูจน์ความสำเร็จของพลังทางวัฒนธรรม หรือ ซอฟต์เพาเวอร์ เกาหลีใต้อย่างดีเยี่ยม

“เกมที่เห็นในเรื่องอาจจะดูรุนแรงเกินไป ทั้งนี้ก็เพื่ออรรถรสในการนำเสนอของเรื่องราวในซีรีส์ให้มีความดราม่าสูงที่สุด แต่จริงๆ แล้วทั้งหมดล้วนเป็นเกมที่เด็กๆ ชอบเล่นกันในเกาหลีใต้ ทางศูนย์วัฒนธรรมเกาหลีใต้ประจำกรุงอาบูดาบีหวังเป็นอย่างยิ่งว่า ผู้คนในสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์จะมีความสนใจในวัฒนธรรมเกาหลีมากยิ่งขึ้น”

ผู้เล่น 30 คน จากมากกว่า 300 ที่สมัครเข้าร่วม

การแข่งขันจะจัดขึ้นภายใต้ชื่อ “KCC Squid Game” ด้วยจำนวนผู้เล่น 2 ทีม ทีมละ 15 คน รวมทั้งสิ้น 30 คนเท่านั้น เป็นการคัดเลือกผู้เล่นจากจำนวนผู้สมัครมากกว่า 300 คน โดยผู้เล่นจะได้สวมชุดแทร็กสูทสีเขียวตามแบบฉบับที่นักแสดงสวมใส่ในซีรีส์ ขณะที่ทีมงานก็จะสวมชุดสุดไอคอนิคสีชมพูเข้มที่มีสัญลักษณ์ สามเหลี่ยม สี่เหลี่ยม วงกลม ตรงตามซีรีส์เช่นเดียวกัน

จากทั้งหมด 6 เกมที่ผู้ชมทั่วโลกได้เห็นกันในซีรีส์ จะมีเพียง 4 เกมเท่านั้นที่ถูกนำมาจัดให้แข่งขันกัน โดยเกมที่มีความรุนแรงจะถูกตัดออกไป และจะมีการนำเกม “Ddakji” ในฉากต้นเรื่องที่เป็นการแข่งขันระหว่าง “ซองกีฮุน” แสดงโดย “อีจองแก” กับ “เซลล์แมน” แสดงโดย “กงยู” มาให้ผู้เล่นได้ประลองฝีมือกันด้วย และแน่นอนว่าการจัดอีเวนท์ KCC Squid Game นี้เน้นความปลอดภัยเป็นสิ่งสำคัญ

ไม่มีบทลงโทษรุนแรง ไม่มีคนตาย ไม่มีเงินรางวัล

ศูนย์วัฒนธรรมเกาหลีใต้ประจำกรุงอาบูดาบียืนยันว่าจะไม่มีบทลงโทษรุนแรง ไม่มีการเสียชีวิต และไม่มีเงินรางวัล 45,600 ล้านวอน หรือราว 1,290 ล้านบาทให้กับผู้ชนะอีกด้วย ขณะที่ “ปืนฟองน้ำ” จะถูกใช้แทน “ปืนจริง” และเกมด่าน “เหยียบกระจก” จะตั้งอยู่บนพื้นราบแทนการวางบนที่สูง

กระแสของซีรีส์ดังเกิดขึ้นหลังจากที่เริ่มสตรีมบน Netflix ในวันที่ 17 ก.ย.ที่ผ่านมา โดยหลังจากนั้นเพียง 10 วัน Squid Game ไต่ชาร์ทขึ้นไปอยู่ที่อันดับ 1 ซึ่ง มีคนดูสูงสุดใน 90 ประเทศทั่วโลก

นับเป็นซีรีส์เกาหลีใต้เรื่องแรกที่ขึ้นอันดับ 1 ในสหรัฐฯ อีกทั้ง 95% ของผู้ชมซีรีส์เรื่องนี้คือคนดูจากนอกเกาหลีใต้อีกด้วย ถือเป็นการก้าวข้ามอุปสรรคสำคัญเรื่อง “ภาษา” และการอ่าน “ซับไตเติล” อย่างมีนัยสำคัญ

แท็กที่เกี่ยวข้อง

เรื่องอื่นที่น่าสนใจ