เลี่ยงสาเหตุเกิดเพลิงไหม้ ป้องกันและหลีกเลี่ยงอย่างไร ไม่ให้ "ไฟไหม้บ้าน"

Home » เลี่ยงสาเหตุเกิดเพลิงไหม้ ป้องกันและหลีกเลี่ยงอย่างไร ไม่ให้ "ไฟไหม้บ้าน"



เลี่ยงสาเหตุเกิดเพลิงไหม้ ป้องกันและหลีกเลี่ยงอย่างไร ไม่ให้ "ไฟไหม้บ้าน"

จากเหตุการณ์ไฟไหม้บ้าน 3 ชั้นย่านพุทธมณฑลสาย 3 และเกิดการถล่มจนทำให้เกิดการสูญเสียทั้งชีวิตและทรัพย์สิน Sanook Home จึงอยากนำเสนอเกี่ยวกับสาเหตุของการเกิดเพลิงไหม้ รวมไปถึงวิธีป้องกันเพื่อไม่ให้เกิดอัคคีภัย เพราะอัคคีภัยเป็นความสูญเสียยิ่งใหญ่ที่ไม่อาจเรียกคืน โดยเฉพาะในช่วงใกล้หยุดยาวที่หลายๆ คนอาจวางแผนเดินทางท่องเที่ยว ทิ้งบ้านไว้หลายวัน มาดูกันว่าจะป้องกัน ลดเสี่ยงเบื้องต้นได้อย่างไร

ข้อมูลจากสถานีดับเพลิงสามเสนได้อธิบายถึงสาเหตุที่ทำให้เกิดเพลิงไหม้พร้อมวิธีป้องกันไว้อย่างละเอียดดังนี้

สาเหตุที่ทำให้เกิดเพลิงไหม้

อัคคีภัยเกิดจากหลายสาเหตุ ซึ่งที่ผ่านมาพบว่าสาเหตุส่วนใหญ่เกิดจากความประมาท และมองข้ามสิ่งเล็กๆ น้อยๆ เช่น ความประมาทในการใช้เครื่องใช้ไฟฟ้า การใช้เชื้อเพลิงทั้งน้ำมัน และแก๊ส หรือจะเป็นเหตุที่เราสามารถป้องกันได้ เช่นการเผาขยะ หญ้าแห้งในที่ที่มีลมแรง เป็นต้น

ไฟฟ้าลัดวงจร เป็นสาเหตุอันดับต้นๆ ของเพลิงไหม้ ซึ่งก็มักจะมาจากสภาพการใช้งานของสายไฟฟ้ามาอย่างยาวนาน ขาดการดูแลบำรุงรักษา ทำให้เกิดไฟฟ้าลัดวงจร หรือการใช้เครื่องใช้ไฟฟ้าต่างๆ

จุดธูปเทียนบูชาพระ เป็นอีกสาเหตุหนึ่งที่พบบ่อยเช่นกัน เนื่องจากหลังจุดธูปเทียนทิ้งไว้แล้วไม่ได้ดับก้นบุหรี่ การสูบบุหรี่หรือจุดไฟในบริเวณที่มีไอของสารระเหย เช่น น้ำมันเบนซินอาจทำให้เกิดการจุดติด ก็เป็นอีกสาเหตุที่ก่อให้เกิดเพลิงไหม้

วิธีป้องกันอัคคีภัย

ความเสียหายที่เกิดจากอัคคีภัย เป็นการยากที่จะควบคุมและป้องกันมิให้เกิดอัคคีภัยขึ้นได้อย่างเด็ดขาดและเสมอไปเพราะอัคคีภัยนั้นเปรียบเสมือน “ศัตรูที่ไม่รู้จักหลับ” และความประมาทเลินเล่อของผู้ทำงานหรือผู้ประกอบกิจการเป็นจำนวนมาก ย่อมจะเกิดและมีขึ้นได้ไม่วันใดก็วันหนึ่ง จึงเห็นควรที่จะต้องช่วยกันป้องกันอัคคีภัยในการป้องกันอัคคีภัยจะมีสิ่งที่ควรปฏิบัติเฉพาะเรื่องเฉพาะอย่างอีกมากมาย แต่ก็มีหลักการง่าย ๆ ในการป้องกันอัคคีภัยอยู่ 5 ประการ คือ

1. การจัดระเบียบเรียบร้อยภายในและภายนอกอาคารให้ดี เช่น การขจัดสิ่งรกรุงรังภายในอาคาร บ้านเรือนให้หมดไปโดยการเก็บรักษาสิ่งที่อาจจะเกิดอัคคีภัยได้ง่ายไว้ให้เป็นสัดส่วน ซึ่งเป็นบันได ขั้นต้นในการป้องกันอัคคีภัย

2. การตรวจตราซ่อมบำรุงสิ่งที่นำมาใช้ในการประกอบกิจการ เช่น สายไฟฟ้า เครื่องจักรกล เครื่องทำความร้อนให้อยู่ในสภาพที่สมบูรณ์ และความปลอดภัยก็จะป้องกันมิให้เกิดอัคคีภัย ได้ดียิ่งขึ้น

3. อย่าฝ่าฝืนข้อห้ามที่จิตสำนึกควรพึงระวัง

3.1) อย่าปล่อยให้เด็กเล่นไฟ

3.2) อย่าจุดธูปเทียนบูชาพระทิ้งไว้

3.3) อย่าวางก้นบุหรี่ที่ขอบจานที่เขี่ยบุหรี่ หรือขยี้ดับไม่หมด ทำให้พลัดตกจากจาน หรือ สูบบุหรี่บนที่นอน

3.4) อย่าใช้เครื่องต้มน้ำไฟฟ้าแล้วเสียบปลั๊กจนน้ำแห้ง

3.5) อย่าเปิดพัดลมแล้วไม่ปิดปล่อยให้หมุนค้างคืนค้างวัน

3.6) อาจมีเครื่องอำนวยความสุขอย่างอื่น เช่น เปิดโทรทัศน์ แล้วลืมปิด

3.7) วางเครื่องไฟฟ้า เช่น โทรทัศน์ ตู้เย็น ติดฝาผนัง ความร้อนระบายออกไม่ได้

3.8) อย่าหมกเศษผ้าขี้ริ้ว วางไม้กวาดดอกหญ้า หรือซุกเศษกระดาษไว้หลังตู้เย็น บางครั้ง สัตว์เลี้ยงในอาคารก็คาบเศษสิ่งไม้ใช้ไปสะสมไว้หลังตู้เย็นที่มีไออุ่นอาจเกิดการคุไหม้ขึ้น

3.9) อย่าใช้อุปกรณ์ไฟฟ้าที่ไม่ได้มาตรฐานหรือปลอมแปลงคุณภาพ เช่น บาลาสต์ที่ใช้กับ หลอดไฟฟ้าฟลูออเรสเซนท์เมื่อเปิดไฟทิ้งไว้อาจร้อนและลุกไหม้ส่วนของอาคารที่ติดอยู่

3.10) อย่าจุดหรือเผาขยะมูลฝอย หญ้าแห้ง โดยไม่มีคนดูแล เพราะไฟที่ยังไม่ดับเกิดลมพัด คุขึ้นมาอีก มีลูกไฟปลิวไปจุดติดบริเวณใกล้เคียงได้

3.11) อย่าลืมเสียบปลั๊กไฟฟ้าทิ้งไว้

3.12) อย่าทิ้งอาคารบ้านเรือนหรือคนชราแลเด็กไว้โดยไม่มีผู้ดูแล

3.13) อย่าสูบบุหรี่ขณะเติมน้ำมันรถ

3.14) ดูแลการหุงต้มเมื่อเสร็จการหุงต้มแล้วให้ดับไฟถ้าใช้เตาแก๊สต้องปิดวาล์วเตาแก๊สและถังแก๊สให้เรียบร้อย

3.15) เครื่องเขียนแบบพิมพ์บางชนิดไวไฟ เช่น กระดาษไข ยาลบกระดาษไข อาจเป็นสื่อสะพานไฟทำให้เกิดอัคคีภัยติดต่อคุกคามได้

3.16) ดีดีที สเปรย์ฉีดผม ฉีดใกล้ไฟ จะติดไฟและระเบิด

3.17) เกิดไฟฟ้าลัดวงจรในคืนฝนตกหนัก เพราะสายไฟที่เก่าเปื่อย เมื่อวางทับอยู่กับฝ้าเพดาน ไม้ผุที่มีความชื้นย่อมเกิดอันตรายจากกระแสไฟฟ้าขึ้นได้

3.18) เกิดฟ้าผ่าลงที่อาคารขณะมีพายุฝน ถ้าไม่มีสายล่อฟ้าที่ถูกต้องก็ต้อง เกิดเพลิงไหม้ขึ้น ได้อย่างแน่นอน

3.19) เตาแก๊สหุงต้มในครัวเรือนหรือสำนักงานเกิดรั่ว

3.20) รถยนต์ รถจักรยานยนต์ เกิดอุบัติเหตุหรือถ่ายเทน้ำมันเบนซิน เกิดการรั่ว ไหลก็น่าเกิด อัคคีภัยขึ้นได้

3.21) ในสถานที่บางแห่งมีการเก็บรักษาเคมีที่อาจก่อให้เกิดอัคคีภัยได้ง่าย อาจ คุไหม้ขึ้นได้เอง สารเคมีบางชนิด เช่น สีน้ำมันและ น้ำมันลินสีด เมื่อคลุกเคล้ากับเศษผ้าวางทิ้งไว้อาจคุไหม้ขึ้นเอง ในห้องทดลองเคมีของโรงเรียน เคยมีเหตุ เกิดจากขวดบรรจุฟอสฟอรัสเหลือง (ขวด) พลัด ตกลงมา เกิดแตกลุกไหม้ขึ้น

3.22) ซ่อมแซมสถานที่ เช่นการลอกสีด้วยเครื่องพ่นไฟการตัดเชื่อมโลหะด้วยแก๊สหรือไฟฟ้าการทาสีหรือพ่นสีต้องทำด้วยความระมัดระวัง อาจเกิดไฟลุกไหม้ขึ้นได้

4. ความร่วมมือที่ดี จะต้องปฏิบัติตามคำแนะนำที่เจ้าหน้าที่ดับเพลิงนายตรวจป้องกันอัคคีภัยได้ให้ไว้ และปฏิบัติตามข้อห้ามที่วาง ไว้เพื่อความปลอดภัยจากสถาบันต่างๆ

5. ประการสุดท้าย จะต้องมีน้ำในตุ่ม อุปกรณ์กักเก็บน้ำเตรียมไว้สำหรับสาดรดเพื่อให้อาคารเปียกชุ่มก่อนไฟจะมาถึง เตรียมทรายและเครื่องมือดับเพลิงเคมีไว้ให้ถูกที่ถูกทางสำหรับดับเพลิงชั้นต้นและต้องรู้จักการใช้เครื่องดับเพลิงเคมีด้วย และระลึกอยู่เสมอว่าเมื่อเกิดเพลิงไหม้แล้วจะต้องปฏิบัติดังนี้

(1) แจ้งข่าวเพลิงไหม้ทันที โทร. 199 หรือสถานีดับเพลิงสถานีตำรวจใกล้เคียงโดยแบ่งหน้าที่กันทำ

(2) ดับเพลิงด้วยเครื่องดับเพลิงที่มีอยู่ในบริเวณที่ใกล้เคียงกับที่เกิดเหตุ

(3) หากดับเพลิงชั้นต้นไม่ได้ให้เปิดประตูหน้าต่างบ้านและอาคารทุกบานและอุดท่อ ทางต่างๆ ที่อาจเป็นทางผ่านความร้อน ก๊าซและควันเพลิงเสียด้วย

ในโรงงานอุตสาหกรรมก็ปลอดภัยจากอัคคีภัยได้ ซึ่งจะแบ่งการปฏิบัติไว้เป็น 2 บริเวณ คือ บริเวณที่มีการผลิตและที่ใช้ในการเก็บสินค้า

บริเวณที่มีการผลิต

1) ด้านเครื่องจักร ควรมีการตรวจเช็คซ่อมบำรุงเป็นประจำให้อยู่ในสภาพที่ดี

2) ด้านเครื่องใช้ไฟฟ้า สายไฟฟ้าและอุปกรณ์ต้องอยู่ในสภาพที่ดีและได้รับการตรวจเช็คเป็นประจำ ควรหลีกเลี่ยงการต่อสายไฟฟ้าโดยใช้ผ้าเทปพันหรือการต่อแบบชั่วคราว หลังเลิกงานควรปิดสวิตซ์อุปกรณ์ไฟฟ้าที่เมนใหญ่

3) การขจัดแหล่งที่เป็นบ่อเกิดของไฟอื่น ๆ ควรงดมิให้มีการสูบบุหรี่ในบริเวณที่มีการผลิต ความสะอาดเป็นหลัก เบื้องต้นของการป้องกันอัคคีภัย บริเวณที่มีการผลิตควรมีถัง หรือถาดไว้รองรับเศษของการผลิตหรือเศษของอื่น ๆและหลัง เลิกงานต้องนำไปทิ้งทุกวัน กรรมวิธีใดที่มีความอันตรายในการก่อให้เกิดอัคคีภัยสูงควรจะแยกออกจากส่วนต่างๆ และจัดให้มีการป้องกันเฉพาะขึ้น

4) การจัดเก็บสินค้า สินค้าไม่ว่าวัตถุดิบหรือสำเร็จรูปควรอยู่ในบริเวณการผลิตน้อยที่สุดเท่าที่จำเป็น วัตถุไวไฟที่ใช้ในการผลิตต้องถูกจำกัดเพียงเพื่อพอใช้ในหนึ่งวัน หลังเลิกงานต้องนำวัตถุไวไฟนั้นไปเก็บยังที่จัดไว้เฉพาะ

5) การปฏิบัติหลังเลิกงาน หลังเลิกงานทุกวันควรมีการเดินตรวจดูความเรียบร้อย เช่น วัตถุไฟฟ้าได้นำไปเก็บในที่จัดเก็บไว้โดยเฉพาะ อุปกรณ์ไฟฟ้าทุกชิ้นได้ปิดสวิตซ์เรียบร้อยหรือยัง และรวมถึงการทำความสะอาดด้วย

บริเวณที่ใช้เก็บสินค้า

1) ด้านการจัดเก็บ
– การเก็บสินค้าควรเก็บอย่างมีระเบียบ ภายในบริเวณจัดเก็บต้องมีช่องทางเดินสินค้า ควรจัดเก็บเป็นล็อก ๆในแต่ละเลือกต้องมีช่องทางเดินและปริมาณสินค้าไม่มากเกินไปความสูงไม่เกิน 6 เมตร หรือ 1 เมตร จากเพดานถึงหลังคาและสินค้าควรอยู่ห่างจากแสงไฟ
– สินค้าควรอยู่บนที่รองรับหรือชั้นวางของ
– ควรเว้นและมีการขีดเส้นกำหนดแนววางสินค้า

2) การจับยกสินค้า ของเหลวไวไฟ แก๊สหรือวัตถุไวไฟอื่น ๆ ควรเก็บแยกต่างหากจากสินค้าอื่น ๆ และสามารถทำได้ควรแยกห้องเก็บวัตถุไวไฟ

3) การขจัดแหล่งที่เป็นบ่อเกิดของไฟอื่น ๆ
– ควรงดมิให้มีการสูบบุหรี่ในบริเวณที่มีการเก็บสินค้า
– ไม่ควรมีการผลิตหรือดำเนินการใด ๆ ในบริเวณที่เก็บสินค้า เช่น การอัดแบตเตอรี่
– ควรรักษาความสะอาดบริเวณที่เก็บสินค้าเป็นประจำ เช่น จากเศษกระดาษที่ใช้ห่อสินค้า

4) การตรวจเช็คดูแลและความปลอดภัย
– สายไฟฟ้าและอุปกรณ์ไฟฟ้าในบริเวณที่เก็บสินค้าควรได้รับการตรวจ เช็คเป็นประจำ
– บริเวณที่เก็บสินค้าควรปิดล็อคไว้เสมอเมื่อไม่ได้ใช้และห้ามบุคคลภายนอกซึ่งไม่ได้รับอนุญาติเข้าไป
– อุปกรณ์ดับเพลิงควรติดตั้งบริเวณทางเข้าออก

สถานีดับเพลิงสามเสนหวังเป็นอย่างยิ่งว่าข้อมูลเหล่านี้จะเป็นประโยชน์สำหรับทุกคน

แท็กที่เกี่ยวข้อง

เรื่องอื่นที่น่าสนใจ