ผู้ว่าฯกทม.-นายกพัทยา
เลาะรั้ว
การหาเสียงของผู้รับสมัครลงเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพ มหานครและพัทยา ต่างประกาศนโยบายในการบริหารจัดการเมือง วิเคราะห์ปัญหาของเมือง หนทางแก้ไข ปรับปรุง แนวนโยบายที่จะทำให้กรุงเทพฯ มีทิศทางในการพัฒนาเมืองด้านต่างๆ
หน้าที่หลักของผู้ว่าฯ กทม. และนายกเมืองพัทยาก็คือ การพัฒนาเมือง ซึ่งตาม พ.ร.บ.การผังเมืองก็คือ การดำเนินการวางนโยบาย รวมทั้งการสร้าง ปรับปรุง ฟื้นฟู บูรณะ ดำรงรักษาหรือดำเนินการอื่นใดเพื่อพัฒนาที่ดิน อสังหาริมทรัพย์ ภายใต้กรอบของการผังเมือง เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิต ความเป็นอยู่ที่ดีของประชาชน และความเจริญก้าวหน้าของเมืองบริเวณที่เกี่ยวข้องหรือชนบทต่างๆ
การพัฒนาเมืองคงไม่ใช่เรื่องของป้องกันน้ำท่วม เรื่องของ ทางเดินเท้า หรือการปรับปรุงถนนหนทาง เรื่องของการดูแลรักษาสภาพแวดล้อมของเมือง ฯลฯ อย่างที่เข้าใจกัน
กรณีกรุงเทพฯ จากอดีตมาถึงปัจจุบันและกำลังส่งผลไปถึงอนาคตก็คือ รูปลักษณ์ของเมืองมิได้เกิดขึ้นจากนโยบายของกรุงเทพมหานครที่กำหนดไว้ในกฎกระทรวงผังเมืองรวม
เช่น ระบบการขนส่งมวลชนโดยการพัฒนาระบบรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนขึ้นในกรุงเทพฯ อยู่ในอำนาจหน้าที่ของการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย สังกัดกระทรวงคมนาคม มิได้อยู่ในสังกัดกรุงเทพมหานครภายใต้การบริหารจัดการของผู้ว่าฯ กทม.
ขณะที่การใช้ประโยชน์ในที่ดินเพื่อกิจกรรมต่างๆ รอบสถานีรถไฟฟ้าขนส่งมวลชน ทำให้เกิดการพัฒนาเมืองเป็นแนวยาวตลอดเส้นทางของรถไฟฟ้าขนส่งมวลชน (เรียกกันว่า พัฒนาเมืองแบบเส้นก๋วยเตี๋ยว) ดังนั้นระบบการบริการสาธารณูปโภคอื่นคือ ไฟฟ้า ประปา ต้องให้บริการสอดคล้องกับการพัฒนาเมืองที่เป็นแนวยาว แต่ยังไม่มีแบบแผนผังที่แน่นอน
นี่จะเป็นความยุ่งยากและปัญหาที่ผู้ว่าฯ กทม. จะต้องจัดการวางแผนพัฒนาเมืองอย่างเป็นระบบ แต่กลับยังไม่เห็นเป็นแนวนโยบายในการหาเสียงเลือกตั้งครั้งนี้แต่อย่างใด
ส่วนเมืองพัทยาก็เช่นเดียวกัน และดูจะสับสนซับซ้อนยิ่งกว่าปัญหาของกรุงเทพฯ ทั้งๆ ที่เล็กกว่ากรุงเทพฯ นับสิบเท่า เพราะพัทยาอยู่ในเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก ที่มีคณะกรรมการนโยบายพัฒนาพิเศษกำกับควบคุม จะพัฒนาอะไรก็ต้องไปผ่านความเห็นชอบจากสำนักคณะกรรมการนโยบายฯ ตามพระราชบัญญัติพัฒนาพิเศษ
ปัญหาก็คือ นายกเมืองพัทยามิได้มีอำนาจหน้าที่ในการบริหารจัดการเมืองตามนโยบายที่เสนอให้กับประชาชนในพื้นที่เมืองพัทยาโดยอิสระ เช่นการจะเอาที่ดินส.ป.ก.มาพัฒนาเมืองเป็นเมืองใหม่และศูนย์ธุรกิจ EEC อยู่ติดกับพื้นที่สถานีรถไฟความเร็วสูงพัทยา จะมีปัญหาการใช้สาธารณูปโภคในโครงสร้างหลัก เช่น น้ำกิน น้ำใช้ การควบคุมการบำบัดน้ำเสีย น้ำท่วมขัง รวมทั้งปัญหามลพิษที่อาจจะเกี่ยวข้องกันระหว่างพื้นที่ใช้ประโยชน์เพื่อการท่องเที่ยวสันทนาการกับพื้นที่เมืองใหม่
เรื่องอย่างนี้ จะมีใครยกประเด็นขึ้นมาถามหาความเห็นจาก ผู้สมัครเป็นพ่อเมืองทั้งสองแห่งหรือไม่
นายช่าง