เร่งช่วยนักเรียน-นศ. 210 ชีวิตในซูดาน หลังเกิดเหตุปะทะ กต.เตรียมพร้อมแผนอพยพ

Home » เร่งช่วยนักเรียน-นศ. 210 ชีวิตในซูดาน หลังเกิดเหตุปะทะ กต.เตรียมพร้อมแผนอพยพ



ศอ.บต.เร่งช่วยนักเรียน นักศึกษา ในซูดาน 210 ชีวิต ตั้งศูนย์ประสานงานฯ หลังเกิดเหตุปะทะกลางกรุง กต.เตรียมพร้อมแผนอพยพ ทั้งทางอากาศ-บก

เมื่อวันที่ 21 เม.ย.66 นายชนธัญ แสงพุ่ม รองเลขาธิการศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) เปิดเผยว่า ขณะนี้พบว่ามีจำนวนนักเรียน นักศึกษาไทยที่อาศัยอยู่ในประเทศซูดาน 210 คน ส่วนใหญ่เป็นเยาวชนในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ศอ.บต.ตั้งศูนย์ประสานงานนักเรียน นักศึกษาจังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่ศึกษาต่อในต่างประเทศ (ศป.นศ.จชต.)

เพื่อให้ข้อมูล และให้ความช่วยเหลือประชาชน นักเรียน นักศึกษาไทยที่พำนักอยู่ในสาธารณรัฐซูดาน จากเกิดเหตุปะทะกันระหว่างกองทัพซูดานกับกลุ่มกองกำลังติดอาวุธ ณ กรุงคาร์ทูม สาธารณรัฐซูดาน เมื่อวันที่ 15 เม.ย.ที่ผ่านมา

นายชนธัญ กล่าวต่อว่า นักเรียน นักศึกษาไทยมุสลิมที่ศึกษาต่อในต่างประเทศ เพื่อให้ข้อมูล และให้ความช่วยเหลือประชาชน นักเรียน และนักศึกษาไทยที่พำนักอยู่ในสาธารณรัฐซูดานว่า สามารถประสานขอความช่วยเหลือ พร้อมกับเป็นศูนย์ประสานเพื่อให้ผู้ปกครองที่อยู่ในพื้นที่ สามารถรับรู้ถึงความเคลื่อนไหวของบุตรหลานที่อาศัยอยู่ในประเทศ

ทั้งนี้ ศอ.บต. พร้อมร่วมมือกับกระทรวงการต่างประเทศ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จะพยายามอย่างดีที่สุดเพื่อติดตามการดูแลให้ความช่วยเหลือและประสานข้อมูลความเป็นอยู่ของคนไทย นักเรียน นักศึกษาไทยจากจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่เดินทางไปศึกษาต่อ และทำงาน ณ สาธารณรัฐซูดาน อย่างเร็วที่สุด

“นักเรียน นักศึกษา และผู้ปกครอง ที่ต้องการขอความช่วยเหลือสามารถติดต่อ ศูนย์ประสานงานนักเรียน นักศึกษาจังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่ศึกษาต่อในต่างประเทศ (ศป.นศ.จชต.) โทร 073-274-101 หรือ ทาง Facebook Page FAS : Foreign Affairs Strategy Division” หรือ โทรสายด่วนอุ่นใจ 1880 หรือ ติดต่อโดยตรง ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ จ.ยะลา”

ด้าน นางกาญจนา ภัทรโชค อธิบดีกรมสารนิเทศและโฆษกกระทรวงการต่างประเทศ ให้สัมภาษณ์ว่า นายณัฐพล ขันธหิรัญ รองปลัดกระทรวงการต่างประเทศ เป็นประธานประชุมคณะทำงานศูนย์ประสานงานฉุกเฉิน (Rapid Response Center – RRC) เพื่อติดตามสถานการณ์ความไม่สงบในสาธารณรัฐซูดาน จากการปะทะกันระหว่างกองทัพซูดาน กับกลุ่มกองกำลังติดอาวุธ Rapid Support Forces (RSF) ในกรุงคาร์ทูม และพื้นที่อื่นๆ ของประเทศ

โดยมีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกว่า 15 หน่วยงาน รวมทั้งนายพุทธพร อิ้วตกส้าน เอกอัครราชทูต ณ กรุงไคโร เข้าร่วม (ระบบประชุมทางไกล) โดยมีผลการประชุมสำคัญ ดังนี้

จากข้อมูล ณ วันที่ 19 เม.ย. มีพลเรือนเสียชีวิตแล้ว 188 ราย โดย 3 ราย เป็นเจ้าหน้าที่ท้องถิ่นของโครงการอาหารโลก และมีผู้บาดเจ็บอีกกว่า 1,800 ราย โดยคาดว่า สถานการณ์ความไม่สงบคงจะไม่ยุติโดยเร็ว

ปัจจุบัน มีคนไทยพำนักอยู่ในประเทศซูดานประมาณ 200 กว่าคน ประกอบด้วยนักเรียนไทยมุสลิม ซึ่งส่วนใหญ่ศึกษาอยู่ที่ International University of Africa ในกรุงคาร์ทูม และส่วนที่เหลือเป็นคนไทยที่ทำงานหรือสมรสกับชาวซูดาน ซึ่งในชั้นนี้ทุกคนยังปลอดภัย โดยกระทรวงการต่างประเทศติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด และสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงไคโร ประสานติดต่อกับหัวหน้าชุมชนไทยและนายกสมาคมนักเรียนไทยในประเทศซูดาน

แต่สถานการณ์ความปลอดภัยยังไม่น่าไว้วางใจ การสู้รบยังมีต่อเนื่อง จึงขอให้นักเรียนไทย คนไทยไม่ออกนอกเคหะสถาน และสถานเอกอัครราชทูตฯจัดเตรียมการช่วยเหลือที่จำเป็นโดยเฉพาะอย่างยิ่งด้านอาหารและน้ำดื่ม โดยประสานงานกับกงสุลกิตติมศักดิ์ ณ กรุงคาร์ทูม

กระทรวงการต่างประเทศและหน่วยราชการที่เกี่ยวข้อง หารือเตรียมพร้อมเรื่องการอพยพคนไทยไว้แล้ว หากสถานการณ์ไปถึงขั้นที่จำเป็น อย่างไรก็ดี จะยังรอติดตามประเมินสถานการณ์ต่อไปก่อนในชั้นนี้ โดยจัดเตรียมแผนอพยพไว้ทั้งทางอากาศ และทางบก ซึ่งขณะนี้น่านฟ้าซูดานยังปิดอยู่ และเส้นทางการเดินทางทางบกยังคงไม่ปลอดภัยนัก

นอกจากนั้น สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงไคโร ประสานกับสถานเอกอัครราชทูตต่างชาติประจำซูดานและอียิปต์ อาทิ อินโดนีเซีย มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ และญี่ปุ่น และหน่วยงานของสหประชาชาติ เพื่อติดตามรับทราบสถานการณ์ในซูดานอย่างสม่ำเสมอ รวมทั้งขอรับความร่วมมือในการจัดเตรียมแผนอพยพร่วมกันด้วย

กระทรวงการต่างประเทศ ขอย้ำช่องทางการสื่อสาร หมายเลขฉุกเฉิน 0961657120 / 0963520513 / 0963529015 สำหรับญาติของนักเรียนและคนไทยในซูดานที่ประสงค์จะสอบถามสถานการณ์ รวมทั้งสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงไคโร เปิดช่องทางการติดต่อเพื่อขอรับความช่วยเหลือที่หมายเลข +201019401243 หรืออีเมล์ [email protected]

 

แท็กที่เกี่ยวข้อง

เรื่องอื่นที่น่าสนใจ