เรือสำราญ ไมน์ ชิฟฟ์ 5 นำนักท่องเที่ยว 1,892 คน แวะท่องเที่ยวแบบวันเดย์ทริปที่เกาะสมุย ชูการท่องเที่ยวชุมชน เส้นทางการเรียนรู้เรื่องมะพร้าว เส้นทางอาหารถิ่น
เมื่อวันที่ 17 ธ.ค. 2565 ที่ท่าเทียบเรือเกาะสมุย (หน้าทอน) อ.เกาะสมุย จ.สุราษฎร์ธานี นายชยพล อินทรสุภา นายอำเภอเกาะสมุย พร้อมด้วยนางศุภากาญจน์ ยอดฉุน ผอ.ททท.สำนักงานเกาะสมุย และศูนย์อำนวยการรักษาผลประโยชน์ของชาติทางทะเล ภาค 2 สมาคมส่งเสริมการท่องเที่ยวเกาะสมุย สภ.เกาะสมุย
ตรวจคนเข้าเมืองจ.สุราษฎร์ธานี ตำรวจท่องเที่ยวเกาะสมุย ตำรวจน้ำเกาะสมุย เทศบาลนครเกาะสมุย สำนักงานเจ้าท่าภูมิภาคสาขาเกาะสมุย และภาคเอกชน ให้การต้อนรับนักท่องเที่ยว 1,892 คน ที่เดินทางมากับเรือสำราญ ไมน์ ชิฟฟ์ 5 ซึ่งเป็นเรือสำราญลำที่ 2 หลังเปิดการท่องเที่ยว ที่มาจอดแวะให้นักท่องเที่ยวเข้ามาท่องเที่ยวพักผ่อนบนเกาะสมุยแบบวันเดย์ทริป
โดยบรรยากาศต้อนรับบนท่าเทียบเรือเป็นไปด้วยความคึกคัก มีการแสดงรำมโนราห์ แจกถุงผ้าและของที่ระลึกให้กับนักท่องเที่ยวด้วย ซึ่งได้สร้างรอยยิ้มและความประทับใจให้กับนักท่องเที่ยวเป็นอย่างมาก สำหรับโปรแกรมท่องเที่ยวแบบวันเดย์ทริป นักท่องเที่ยวจะไปท่องเที่ยวตามแหล่งท่องเที่ยวสำคัญบนเกาะสมุย
ได้แก่ วัดพระใหญ่ วัดแหลมสุวรรณาราม หาดเฉวง ชุมชนตลาดหน้าทอน รับประทานอาหารซีฟู้ดบนเกาะสมุย พักผ่อนใช้บริการสิ่งอำนวยความสะดวกตามโรงแรมต่างๆในเกาะสมุย และนักท่องเที่ยวบางส่วนจะไปท่องเที่ยวเชิงธรรมชาติ ที่เกาะแตน เกาะมัดสุม อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะอ่างทอง ก่อนกลับขึ้นเรือในช่วงเย็น
นางศุภากาญจน์ ผอ.ททท.สำนักงานเกาะสมุย กล่าวว่า เรือสำราญ ไมน์ ชิฟฟ์ 5 กำหนดการเดินทางตั้งแต่วันที่ 5 พฤศจิกายน ถึง 21 ธันวาคม 65 รวม 46 วัน ออกเส้นทางจากเมืองอันตัลยา ประเทศตรุกี-ประเทศสิงคโปร์-ประเทศในกลุ่มอาเซียน-ประเทศสิงค์โปร์ สำหรับประเทศในกลุ่มอาเซียนมีจำนวน 14 วัน
ออกจากประเทศสิงค์โปร์ ประเทศมาเลเซีย ปะระเทศเวียดนาม ประเทศไทย(เกาะสมุย จ.สุราษฎร์ธานี แหลมฉบัง จ.ชลบุรี) และสิ้นสุดการเดินทางที่ประเทศสิงค์โปร์ โดยมีผู้โดยสาร ประมาณ 1,892 คน ลูกเรือ 918 คน ซึ่งนับว่าจำนวนผู้โดยสารมีจำนวนประมาณ 3 เท่าเมื่อเทียบกับเรือลำแรกที่เข้าเกาะสมุย โดยผู้โดยสารส่วนใหญ่เป็นชาวเยอรมัน
นอกจากนี้เป็นที่น่ายินดีเป็นอย่างยิ่งที่การเดินทางของนักท่องเที่ยวเรือสำราญลำที่ 2 ที่เข้าเกาะสมุยนี้ ได้มีการบรรจุขายแพ็คเกจทัวร์ในเรือสำราญที่เกี่ยวกับการท่องเที่ยวชุมชนเป็นครั้งแรก ทั้งเส้นทางการเรียนรู้เรื่องมะพร้าว เส้นทางอาหารถิ่น ซึ่งนับว่าเป็นผลสำเร็จร่วมในการทำงาน และผลักดันของพันธมิตรภาคการท่องเที่ยวในพื้นที่
จึงถือว่าเป็นก้าวแรกที่การท่องเที่ยวชุมชนเกาะสมุยเข้ามามีส่วนร่วมในธุรกิจเรือสำราญอย่างเป็นรูปธรรม และคงต้องพัฒนา รักษามาตรฐาน เสน่ห์ของชุมชนสู่การท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์มากขึ้น เพื่อให้สอดคล้องกับพฤติกรรมนักท่องเที่ยวกลุ่มคุณภาพเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนต่อไป