เริ่มแล้ววันนี้! ความร่วมมือครั้งประวัติศาสตร์ 2 สื่อใหญ่ “มติชน x เดลินิวส์” โพลเลือกตั้ง '66 รอบแรก

Home » เริ่มแล้ววันนี้! ความร่วมมือครั้งประวัติศาสตร์ 2 สื่อใหญ่ “มติชน x เดลินิวส์” โพลเลือกตั้ง '66 รอบแรก


เริ่มแล้ววันนี้! ความร่วมมือครั้งประวัติศาสตร์ 2 สื่อใหญ่ “มติชน x เดลินิวส์” โพลเลือกตั้ง '66 รอบแรก

เริ่มแล้ววันนี้ ! ความร่วมมือครั้งประวัติศาสตร์ของสองสื่อใหญ่ “มติชน x เดลินิวส์” โพลเลือกตั้ง ’66 รอบแรก เชิญชวนคนไทยโหวตเลือกนายกฯ ที่ใช่-พรรคการเมืองที่ชอบผ่านทุกแพลตฟอร์ม สะท้อนอนาคตการเมืองไทยในห้วงเวลาแห่งการเปลี่ยนผ่านครั้งสำคัญ

เมื่อวันที่ 7 เมษายน 2566 ผู้สื่อข่าวรายงานการจัดทำโพลความร่วมมือครั้งประวัติศาสตร์ ระหว่าง “เครือมติชนและเดลินิวส์” สื่อสองสำนักใหญ่ เพื่อสะท้อนผลเลือกตั้ง 2566 โดยการทำโพลเปิดทั้งหมดสองรอบ รอบแรกดีเดย์เริ่มตั้งแต่วันเสาร์ที่ 8 เมษายน 2566 เป็นการโหวตผ่านช่องทางออนไลน์ทุกแพลตฟอร์มของสื่อเครือมติชน และเดลินิวส์ คาดว่าจะมีผู้ร่วมโหวตจำนวนมาก โดยเฉพาะกลุ่มนิวโหวตเตอร์ พลังเสียงคนรุ่นใหม่ และประชาชนชาวไทยทั่วประเทศ

สำหรับขั้นตอนการโหวต “มติชน x เดลินิวส์” โพลเลือกตั้ง ’66 ในรอบที่ 1 หรือรอบแรกนั้น ในฝั่งสื่อเครือมติชน สามารถโหวตได้ผ่านเว็บไซต์ https://www.matichon.co.th/thai-election66-poll/ ตั้งแต่เวลา 00.01 น. ของวันเสาร์ที่ 8 เมษายน 2566 เป็นต้นไป และสื่อเครือมติชน อาทิ มติชน ข่าวสด ประชาชาติธุรกิจ มติชนสุดสัปดาห์ มติชนทีวี ฯลฯ ก็ยังได้เตรียมโปรโมทเผยแพร่ช่องทางการเข้าไปทำโพลเอาไว้ให้กับประชาชนผ่านทุกแพลตฟอร์ม ทั้งสื่อสิ่งพิมพ์ ออนไลน์ และโซเชียลมีเดีย รวมทั้งจัดทำ “คิวอาร์โค้ด” ส่องสแกนร่วมโหวตแคมเปญขึ้นมาโดยเฉพาะอีกด้วย

ส่วนประเด็น “คำถาม” ในโพลรอบแรก มี 2 ข้อ เพื่อสะท้อนฉันทามติในกลุ่มประชาชนผู้มีสิทธิ์ออกเสียงเลือกตั้ง และทำโพลออนไลน์ผ่านสื่อเครือมติชน-เดลินิวส์ ดังนี้ คำถามที่ 1 “ท่านจะเลือกใครเป็นนายกรัฐมนตรี ในการเลือกตั้ง 2566” ตามด้วยคำถามที่ 2 “ท่านจะสนับสนุนพรรคการเมืองใด ในการเลือกตั้ง 2566” โดยระบบการโหวตออนไลน์ดังกล่าว จะไม่สามารถโหวตซ้ำผ่าน “ไอพี แอดเดรส” (IP Address) เดียวกันได้เพื่อป้องกันการทำโพลซ้ำ

นายปราปต์ บุนปาน รองกรรมการผู้จัดการสายเทคโนโลยีและดิจิทัลมีเดีย บริษัท มติชน จำกัด (มหาชน) ระบุว่า ปัจจุบัน สังคมไทยกำลังเดินหน้าเข้าสู่การเลือกตั้งเต็มตัว หลังจากมีการรับสมัคร ส.ส.แบบแบ่งเขต และส.ส.ระบบบัญชีรายชื่อ โดยที่ผู้สมัครแต่ละรายและพรรคการเมืองทุกพรรคต่างก็มีหมายเลขประจำตัวที่จะใช้รณรงค์หาเสียงกันเรียบร้อย นอกจากนั้น ประชาชนยังได้รับทราบจุดยืนและแนวนโยบายของแต่ละพรรคการเมืองมามากพอสมควร จากการติดตามข่าวสาร, เวทีปราศรัย และเวทีดีเบตต่างๆ ดังนั้น วันที่ 8 เมษายน 2566 เครือมติชนและเดลินิวส์ จึงพร้อมใจกันเปิดแบบสำรวจความเห็นหรือโพลเลือกตั้งขึ้นเป็นครั้งแรก โดยจะถามคำถาม 2 ข้อสำคัญ ที่จะบ่งชี้ให้เห็นภาพอนาคตของการเมืองไทย ได้แก่ ใครคือแคนดิเดตนายกรัฐมนตรียอดนิยม และพรรคการเมืองใดคือพรรคการเมืองยอดนิยม ในความเห็นของผู้อ่าน

“เชื่อว่าโพลเลือกตั้ง ’66 ของมติชนและเดลินิวส์ จะช่วยกระตุ้นให้ประชาชนสนใจอยากออกไปใช้สิทธิ์เลือกตั้งในวันที่ 14 พฤษภาคม ขณะเดียวกัน ผลลัพธ์ของโพลที่ประมวลออกมา ก็น่าจะเป็นการบ้านที่ทำให้พรรคการเมืองที่ลงสนามเลือกตั้งในคราวนี้ ได้กลับไปทบทวนว่าตนเองต้องทำงานอะไรเพิ่มเติมบ้าง เพื่อจะเอาชนะใจประชาชน และภายหลังจากการที่เราได้ทราบผลลัพธ์ของโพลในรอบแรก ทางเครือมติชนและเดลินิวส์ก็จะทำโพลเลือกตั้งรอบที่สองในช่วงปลายเดือนเมษายน รวมทั้งจะจัดเวทีเสวนาวิเคราะห์ผลโพลในช่วงต้นเดือนพฤษภาคม 2566” นายปราปต์ กล่าว

ด้านนายสมปรารถนา คล้ายวิเชียร ผู้อำนวยการกลุ่มสื่ออิเล็กทรอนิกส์ มติชน กล่าวถึงการทำโพลร่วมกันระหว่าง มติชน-เดลินิวส์ ซึ่งเริ่มครั้งที่ 1 ในวันที่ 8 เมษาฯ ว่า ถือเป็นช่วงเวลาที่เหมาะสม ในการสำรวจความคิดเห็นของประชาชนส่วนใหญ่ที่กำลังเตรียมออกไปใช้สิทธิ์เลือกตั้ง เพราะได้เห็นข้อมูลในภาพรวมแล้วว่า มีพรรคการเมืองจำนวนกี่พรรคเป็นตัวเลือก และแต่ละพรรคการเมือง คัดสรรบุคคลที่เป็น แคนดิเดตนายกรัฐมนตรี ออกมานำเสนอเรียบร้อยแล้ว

“มีข้อมูลออกมาอย่างต่อเนื่องทั้งในสื่อกระแสหลักและในสื่อสังคมออนไลน์ว่า พรรคนั้น หรือบุคคลนั้นกำลังมีกระแสความนิยมเพิ่มขึ้น จากการเปิดตัวบุคคลหรือเปิดนโยบายที่ชัดเจนออกมา การเปิดให้ประชาชนทั่วไปเข้ามาโหวตทำโพลในระบบออนไลน์ของ มติชน-เดลินิวส์ น่าจะเป็นข้อมูลอีกชุดหนึ่งที่น่าสนใจว่า ใคร หรือพรรคไหนกันแน่ที่คนทั่วไปจะตัดสินใจเลือก” นายสมปรารถนา กล่าว

นายปารเมศ เหตระกูล กรรมการบริหารหนังสือพิมพ์เดลินิวส์ กล่าวว่า เดลินิวส์เป็นองค์กรสื่อครบวงจร ที่จำหน่ายหนังสือพิมพ์ทั่วประเทศ เป็นที่ยอมรับของประชาชนทั้งประเทศมายาวนาน ปีนี้ก็ได้ก้าวเข้าสู่ปีที่ 60 แล้ว มีบุคลากรด้านสื่อสารมวลชนที่เชี่ยวชาญและมีประสบการณ์ในสนามข่าวทุกประเภท ขณะเดียวกัน สำหรับสนามเลือกตั้ง 14 พ.ค. 2566 ที่กำลังจะมาถึง น่าจะเป็นประวัติศาสตร์อีกหน้าหนึ่งของเมืองไทย เดลินิวส์จึงได้เตรียมความพร้อมผู้สื่อข่าวทั่วประเทศ เพื่อเกาะติดทุกพื้นที่อย่างรวดเร็ว พร้อมร่วมผนึกกำลังทำโพลเลือกตั้งให้มีผลออกมาอย่าง “แม่นยำ” มากที่สุด ด้วยการออกเสียงแสดงความคิดเห็นจากกลุ่มผู้อ่านของเดลินิวส์และเครือมติชน

“เชื่อว่าจะเป็นแรงผลักดันให้เห็นการเมืองในอนาคต แนวทางการแก้ไขปัญหาต่าง ๆ จึงมองว่า ผลโพลที่ออกมา น่าจะมีความใกล้เคียงกับความเป็นจริงมากที่สุด ขอเชิญชวนผู้อ่านเดลินิวส์และเครือมติชน รวมไปถึงประชาชนชาวไทย ได้ร่วมแสดงความคิดเห็นผ่านโพล เพื่อเป็นเสียงสะท้อนไปยังสถาบันพรรคการเมือง และผู้สมัครรับเลือกตั้ง ได้ทราบว่า มาถูกทางแล้วหรือไม่ จะได้ปรับตัวตามความต้องการของประชาชนทั่วประเทศต่อไป” นายปารเมศ ระบุ

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับแคมเปญโพลความร่วมมือเจาะลึกศึกเลือกตั้ง 2566 ระหว่าง 2 ค่ายยักษ์ใหญ่วงการสื่อมวลชน “มติชน x เดลินิวส์” ได้แถลงข่าวลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) กันไปแล้วเมื่อ 20 มี.ค.ที่ผ่านมา โดยมีผู้บริหารเครือมติชน นำโดย น.ส.ปานบัว บุนปาน กรรมการผู้จัดการ บริษัท มติชน จำกัด (มหาชน) นายปราปต์ บุนปาน รองกรรมการผู้จัดการสายเทคโนโลยีและดิจิทัลมีเดีย บริษัท มติชน จำกัด (มหาชน) ร่วมกับ นางประพิณ รุจิรวงศ์, นายปารเมศ เหตระกูล และนางสิริวรรณ พันธุ์ปรีชากิจ กรรมการบริหาร น.ส.พ.เดลินิวส์และเดลินิวส์ออนไลน์ รวมถึง ผศ.อัครพงษ์ ค่ำคูณ คณบดีวิทยาลัยนานาชาติปรีดี พนมยงค์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ และ นายศุภกร รวยวาสนา กรรมการผู้จัดการ บริษัท ยูนิกเดฟ จำกัด ผู้ให้บริการระบบซิสเต็ม เอ็นจิเนียร์ และไอทีโซลูชั่นชั้นนำ เข้าร่วม

น.ส.ปานบัว เอ็มดีเครือมติชน ระบุในวันแถลงข่าวดังกล่าวว่า โพลครั้งนี้มีความสำคัญ เพราะมีการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นอย่างมาก ทั้งการเปลี่ยนแปลงวิธีการเลือกตั้ง การเปลี่ยนแปลงเขตการเลือกตั้ง การเปลี่ยนแปลงผู้สมัครลงรับเลือกตั้ง และการเปลี่ยนแปลงในฐานะผู้โหวตหน้าใหม่ หรือนิวโหวตเตอร์ (New Voter) เฉพาะแค่ปัจจัยตรงนี้ ใครที่คาดการณ์ว่าการเลือกตั้ง 2566 จะคาดเดาได้ง่าย ไม่น่าจะใช่ เพราะมีความซับซ้อนมากกว่าเดิม ไม่รวมถึงมิติปัญหาด้านต่างๆ ที่ทุกคนล้วนแล้วแต่ก็มีมิติของปัญหาที่แตกต่างกัน ซึ่งอาจจะนำผลไปสู่การตัดสินใจเลือกตามแต่มิติที่ได้รับผลกระทบมา เพราะฉะนั้นจึงนับเป็นเรื่องซับซ้อนที่สุดครั้งหนึ่งของการเลือกตั้งในประเทศไทย

 

แท็กที่เกี่ยวข้อง

เรื่องอื่นที่น่าสนใจ