หัวหน้าศูนย์โรคอุบัติใหม่ทางคลินิก รพ.จุฬาลงกรณ์ ห่วงเด็ก-วัยรุ่น เผย เริ่มเห็นแล้วได้รับผลจากกัญชา ชี้แพทย์ทำงานหนักขึ้น โดยเฉพาะจิตแพทย์กับแพทย์ระบบประสาท เปิดข้อมูลเด็กป่วย 6 ราย รายที่ 4 ถึงขั้นวิกฤต
วันที่ 28 มิ.ย.2565 ผศ.นพ.โอภาส พุทธเจริญ หัวหน้าศูนย์โรคอุบัติใหม่ทางคลินิก โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย โพสต์เฟซบุ๊กส่วนตัว Opass Putcharoen ถึงผลกระทบกัญชาในเด็ก ว่ากัญชาเพื่อการแพทย์จริงๆ คือแพทย์ทำงานหนักขึ้น โดยเฉพาะจิตแพทย์กับแพทย์ระบบประสาท เริ่มเห็นเด็กและวัยรุ่นได้รับผลจากกัญชาแล้ว รายที่ 4 นี่ใช้มีดปาดคอตัวเองเลยนะ
นอกจากนี้ ยังโพสต์ภาพข้อมูลผลกระทบกัญชาต่อเด็กและเยาวชน วันที่ 21-26 มิย 2565 ราชวิทยาลัยกุมารแพทย์แห่งประเทศไทย มีรายละเอียด ดังนี้
รายที่ 1 เพศชายอายุ 14 ปี อาศัยอยู่กรุงเทพมหานคร เป็นผู้ป่วยจิตเวชไม่ได้กินยามาสองสัปดาห์ ได้รับกัญชาโดยไม่รู้ตัวจากการสูบบุหรี่ที่ผสมกัญชา มีอาการสับสนกระวนกระวายพฤติกรรมเปลี่ยนแปลงตรวจกัญชาในปัสสาวะได้ผลบวก ให้การรักษาเบื้องต้นและกลับบ้าน
รายที่ 2 เพศชาย อายุ 17 ปี 6 เดือน อาศัยอยู่จังหวัดพิจิตร ได้รับกัญชาจากเพื่อนโดยการใช้ส่วนดอกสูบเพื่อสันทนาการ มีอาการสับสนกระวนกระวายหูแว่วภาพหลอนทำลายข้าวของ ก้าวร้าว แพทย์ได้ทำการรักษาให้เบื้องต้นและกลับบ้านแล้ว
รายที่ 3 เพศชาย อายุ 17 ปี 10 เดือน อาศัยอยู่จังหวัดนครศรีธรรมราช ได้รับกัญชาจากเพื่อนโดยการใช้ส่วนใบสูบเพื่อสันทนาการ ครูสังเกตว่าดูผอมลงหน้าตาไม่สดใส และมีการตรวจพบบ้องกัญชาในกระเป๋า โดยผู้ป่วยให้การยอมรับว่าสูบกัญชามากกว่าหนึ่งปีมีอาการง่วงนอนซึมคิดมากเบลอมึนงงให้การรักษาเบื้องต้น
รายที่ 4 เพศชาย อายุ 16 ปี 4 เดือน อยู่กรุงเทพมหานคร ได้รับกัญชาโดยการสุ่มจากเพื่อน มีอาการสับสนกระวนกระวายใช้มีดปาดคอตนเอง แรกรับอาการวิกฤตแพทย์ได้ทำการรักษาเบื้องต้นให้หยุดพักการเรียน ในระหว่างนี้ให้ยาทางจิตเวชและนัดติดตาม รอผลส่งตรวจสารเสพติดในปัสสาวะ
รายที่ 5 เพศหญิง อายุ 3 ปี 3 เดือน อยู่กรุงเทพมหานคร ได้รับกัญชาโดยไม่รู้ตัวจากการรับประทานคุกกี้ผสมกัญชาไม่ทราบยี่ห้อ ซึ่งย่าซื้อมาไว้ที่บ้าน หลังรับประทานมีอาการง่วงนอนซึม ให้การรักษาเบื้องต้นและส่งต่อรักษาตามสิทธิ์
รายที่ 6 เพศชาย อายุ 15 ปี 9 เดือน อยู่กรุงเทพมหานคร มีปัญหาด้านจิตเวช มีอาการหวาดระแวงจึงทดลองกินกัญชาโดยซื้อช็อกโกแลตผสมกัญชามาลองกิน หลังกินมีอาการคลื่นไส้อาเจียนมีเสียง/ภาพหลอน วิตกกังวล ซึมเศร้า ให้การรักษาตามอาการป่วยและรักษาทางจิตเวชและป้องกันการใช้สารเสพติด (กัญชา) ซ้ำ