วงการอีสปอร์ต เดินทางไปข้างหน้าอย่างไม่หยุดยั้งในช่วง 5-6 ปีที่ผ่านมา จากที่ถูกตีค่าว่าเป็นแค่เกมที่เล่นเพื่อฆ่าเวลา ตอนนี้มันได้กลายร่างเป็นอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ ที่มีเม็ดเงินหมุนเวียนไม่แพ้มหกรรมกีฬาระดับโลก … เพียงแต่เพียงการแข่งขันโซนอเมริกาเหนือนั้น แม้มูลค่าและโปรดักชั่นจะดูดีไม่เบา แต่พวกเขายังต้องการการเติบโตไปอีกระดับ
แรกเริ่มเดิมที การจัดการแข่งขันรายการอีสปอร์ตในโซนอเมริกาเหนือ มักจะใช้การ “ตามรอย” การแข่งขันกีฬาจริง ๆ โดยเฉพาะการตามรอยกีฬาอย่าง บาสเกตบอล NBA และ อเมริกันฟุตบอล NFL ซึ่งถือเป็นกีฬาประจำชาติ ที่ได้รับความนิยมระดับโลก
กล่าวคือ นักแข่ง (โปรเพลเยอร์) เป็นศูนย์กลาง แต่ละทีมมีผู้สนับสนุนที่พร้อมจ่ายเงินจำนวนมากเพื่อความสำเร็จ และทีมใดยิ่งไปไกล ยิ่งมีชื่อเสียง นักแข่งของทีมนั้น ๆ ก็เป็นเหมือนกับนักกีฬาระดับสตาร์ ตรงที่มีสปอนเซอร์ต่าง ๆ เข้ามามากมาย ไม่ว่าจะเครื่องดื่มชูกำลัง, เสื้อผ้า, รองเท้า และมากไปจนถึงการสร้างสนามแข่งที่เป็นสนามเหย้าของตัวเองเหมือนกับกีฬาจริง ๆ ที่การแข่งขันแบบลีกนั้นจะต้องเป็นแบบ เหย้า-เยือน
มองในแง่หนึ่ง นี่คือเรื่องปกติของอุตสาหกรรมที่ประสบความสำเร็จและเรตติ้งดีมียอดผู้ชม มันเป็นธรรมดาที่สปอนเซอร์จะเข้ามาแบบไม่หยุด แต่ในอีกทางหนึ่ง พวกเขาอาจจะลืมไปว่า อีสปอร์ต นั้นคืออะไรที่แตกต่างจาก กีฬาชนิดอื่น ๆ … แค่วิธีการแข่งขันก็แตกต่างแล้ว ดังนั้น อีสปอร์ต จึงไม่จำเป็นต้องมีหลาย ๆ สิ่งที่วงการกีฬาจริง ๆ มี
“มากเกินไป และไม่ได้ประโยชน์” คือสิ่งที่มีคนหนึ่งเลิกเล็งเห็นการพยายาม “ตามรอย” กีฬาอื่น ๆ ของวงการอีสปอร์ต ที่พยายามจะทำให้เหมือนเขาไปเสียทุกอย่าง และใครคนนั้นต้องการเปลี่ยนมันให้ “ตรงเป้ายิ่งกว่าเดิม” ตัดสิ่งที่ไม่จำเป็นออก เพื่อเอาเงินรางวัล หรือเงินสนับสนุนที่ได้ เอามาใช้ให้ตรงจุดยิ่งกว่าที่เคย
คริส กรีลี่ย์ ซีอีโอ ของการแข่งขัน League of Legends Championship Series (LCS) หรือศึกอีสปอร์ตเกม League of Legends ทวีปอเมริกาเหนือ คือคนที่เชื่อว่าการพยายามทำให้ลีกอีสปอร์ต แข่งขันกันแบบตามรอยลีกกีฬาอาชีพระดับโลก ถือเป็นเรื่องที่ไร้สาระ และกดศักยภาพการเติบโตของอีสปอร์ต … แน่นอน เพราะเขามั่นใจว่าวงการเกมสามารถไปได้ไกลกว่านั้นเยอะเลยทีเดียว
ทำไมต้องเปลี่ยน?
ทุกการแข่งขันไม่ว่าจะระดับไหนสิ่งที่ขาดไม่ได้คือ สปอนเซอร์ สำหรับวงการอีสปอร์ตในโซนอเมริกาเหนือ นั้นกว่าที่จะทำความเข้าใจกับสปอนเซอร์ระดับโลกให้เข้าใจว่าการแข่งขันเกมไม่ใช่เรื่องเล่นๆ เป็นการแข่งขันที่มีคนรอติดตามเยอะ และสามารถทำให้การลงทุนคุ้มค่า คือเรื่องที่ต้องใช้เวลาไม่น้อย
การแข่งขัน อีสปอร์ต ที่โซนนี้ยังไม่ได้รับการยอมรับมากเท่าโซนอื่น ๆ อย่าง ยุโรป หรือ เอเชีย ดังนั้นสำหรับ สหรัฐอเมริกา ในโลกของ อีสปอร์ต แล้ว พวกเขาเหมือนหมายเลข 2 เป็นรองยอดทีมจากเกมต่าง ๆ ในยุโรปหรือเอเชียหลายขุม ซึ่งจุดนี้แตกต่างต่างกับกีฬาในระเทศของพวกเขาอย่าง NBA และ NFL ทีได้รับการยอมรับทั้งโลก ทีมใดได้แชมป์ NBA และ NFL ทีมนั้นเหมือนได้แชมป์โลกของวงการบาสเกตบอลและอเมริกันฟุตบอล ทั้ง ๆ ที่แข่งในประเทศอเมริกาประเทศเดียว
สหรัฐอเมริกาไม่ชอบเป็นหมายเลข 2 ไม่ว่าในเรื่องใด ๆ ก็ตาม ดังนั้นพวกเขาจึงต้องการเงินทุนเข้ามารันวงการเพื่อเป็นที่ 1 ให้ได้ สิ่งที่กลุ่มผู้สร้างรายการแข่งขันอีสปอร์ตในอเมริกาเหนือ จึงเริ่มหาวิธีอธิบายให้ลูกค้าของพวกเขากล้าเอาเงินมาลงทุนได้ง่ายที่สุด นั่นคือการปรับการแข่งขันให้กลุ่มสปอนเซอร์เห็นภาพ นั่นเองจึงนำมาสู่การเอาพิมพ์เขียวของการแข่งขันกีฬาระดับโลกมาวางไว้แล้วทำตาม …
แบรนด์ระดับโลกอย่าง ไนกี้, อาดิดาส, หรืออะไรก็ตามแต่คุ้นเคยดีอยู่แล้วกับการแข่งขันกีฬาจริง ๆ พวกเขาอยู่และสนับสนันของแบบนี้มาหลายสิบปี ดังนั้นเมื่อเอา อีสปอร์ต มาลอกแบบตามการแข่งขันกีฬาจริงพวกเขาก็สามารถ “อ๋อ” ได้ง่ายๆ
โลโก้ของแต่ละทีม โลโก้ของการแข่งขัน ที่พยายามทำออกมาเป็นแพทเทิร์น “ตราโล่” ให้เหมือนกับตราสโมสรกีฬาดัง ๆ ขณะที่การแข่งขันก็เลียนแบบมาจาก NBA หรือ NFL ที่จะมีการแข่งแบบแบ่งตามสายในฤดูกาลปกติ เหมือนที่ NBA และ NFL แบ่งสายตะวันตกตะวันออก
จากนั้นจะคัดเอาทีมที่เข้ารอบของแต่ละสายมาเล่นแบบเพลย์ออฟกันในรอบสุดท้าย ซึ่ง กรีลี่ย์ มองว่า เปลืองเวลามากเกินไปและไม่ได้ประโยชน์ หนำซ้ำยังกำหนดโปรแกรมแข่งขันเฉพาะวันเสาร์-อาทิตย์ ทั้ง ๆ ที่ความจริงแล้ว ไม่รู้จะเว้นว่างไปตั้ง 5 วันเหมือนกีฬาอย่างบาสเกตบอล, ฟุตบอล หรือ อเมริกันฟุตบอลทำไม เพราะนักกีฬาอีสปอร์ต ไม่ได้ใช้ร่างกายหนักจนถึงขั้นต้องพักฟื้นอะไรแบบนั้น
ยกตัวอย่างเช่นเกมในรอบแบ่งสาย บางครั้งที่ได้ทีมเข้ารอบไปแล้วแต่โปรแกรมเหลืออยู่ ทีมสองทีมก็ต้องมาแข่งขันกันโดยไม่จำเป็นเพราะไม่มีผลได้เสียอะไรแล้ว นอกจากการทิ้งเกมเพื่อการพนัน ซึ่งมันผิดวัตถุประสงค์ของ อีสปอร์ต ไปเยอะ สิ่งสำคัญที่เขาสนับสนุนให้เลิกแข่งแบบนี้ เพราะมันคือการยัดเยียดให้เกิดแมตช์การแข่งขันมากเกินไป จากเกมที่ควรจะตื่นเต้นโดยธรรมชาติ กลายเป็นเกมที่พยายามยัดเยียดให้ตื่นเต้น ซึ่งสุดท้ายแล้วเมื่อพยายามทำให้ทุกอย่างตื่นเต้น ระนาบอารมณ์ก็ถูกดันไปอยู่ในระดับเดียวกันหมด จนไม่มีความตื่นเต้นหลงเหลืออยู่เลย
“จริง ๆ แล้วการแข่งขัน อีสปอร์ต นั้นจะต้องเป็นอะไรที่ตื่นเต้น แล้วปัญหาคือถ้าเอาทุกอย่างมาแข่งกันแบบทัวร์นาเม้นต์หมด มันคือการฝืนธรรมชาติให้มันตื่นเต้น ซึ่งสุดท้าย ถ้าทุกอย่าง ‘ตื่นเต้น’ ไปหมด มันก็ไม่มีอะไรตื่นเต้นเลยใช่ไหม” กรีลี่ย์ กล่าว
ซึ่งเมื่อทุกอย่างได้ดำเนินไปบนความเข้าใจมาสักพัก กรีลี่ย์ เชื่อว่าตอนนี้ถึงเวลาแล้วที่เหล่าผู้สนับสนุนสามารถเข้าใจถึงโครงสร้างของ อีสปอร์ต พวกเขาสามารถมั่นใจในการลงทุนได้ แม้จะไม่ได้ต้องลอกแบบจากการแข่งขันกีฬาชนิดอื่น ๆ และ กรีลี่ย์ เชื่อว่าการหลุดออกจากกรอบครั้งนี้จะทำให้ LCS หรือวงการ อีสปอร์ต สามารถทะยานข้ามขีดจำกัดที่วงการกีฬาชนิดอื่นทำได้ … เขาจึงเตรียมการ “รีแบรนด์” ขึ้นใหม่เพื่ออนาคตที่ไกลกว่าที่เคย
ตัดสิ่งไม่จำเป็น เน้นสร้างอัตลักษณ์
กรีลี่ย์ เริ่มจากการเปลี่ยนโลโก้การแข่งขัน LCS ใหม่ การออกแบบกราฟิกที่ใช้ประกอบการแข่งขันใหม่ทั้งหมด แต่เดิมโลโก้การแข่งขันนั้นจะออกแบบมาคล้าย ๆ กับโลโก้ของทีมอเมริกันฟุตบอลของในระดับมหาวิทยาลัย แต่โลโก้ใหม่นั้นเขาสั่งให้เน้นแสงสีมากขึ้น ออกแบบให้มันล้ำสมัย ให้ดูสมกับเป็นกีฬาอิเล็กทรอนิกส์ เหมือนกับที่ลีกในยุโรป จีน และ เกาหลีใต้ ทำ
และเมื่อมีการรีแบรนด์และจัดการแข่งขันใหม่แบบไม่ใช่แค่แข่งสุดสัปดาห์ ไม่จำเป็นต้องมีแบ่งสายตะวันตะวันออก ไม่มีเกมเหย้า ไม่มีเกมเยือน ทำให้การแข่งขัน LCS หลังจากนี้จะเป็นการแข่งขันแบบที่หลายรายการระดับโลกทำกัน นั่นคือการรวมนักกีฬาอีสปอร์ต ของแต่ละทีมมาเจอแข่งขันกันในสตูดิโอ
ที่ ลอส แอนเจลิส โดยสตูดิโอที่ถือว่าเป็น “สนามกลาง” นี้จะได้รับการออกแบบใหม่เพื่อให้เหมาะกับการแข่งขันอีสปอร์ตโดยเฉพาะ จากทีมงานดีไซน์ระดับโลกอย่าง DesignStudio และ Stink Studios
การเปลี่ยนแปลงมีราคาต้องจ่าย แม้เขาจะมองการณ์ไกลแค่ไหน แต่ผู้คนที่สหรัฐอเมริกายากจะเข้าใจ หลายคนยังไม่เข้าใจสิ่งที่ กรีลี่ย์ ทำ การพยายามผลักดันให้ อีสปอร์ต ในอเมริกาเหนือ กลายเป็นลีกที่ทำเงินมหาศาล และได้รับการยอมรับจากคนส่วนใหญ่ เขาต้องการทำให้ อีสปอร์ต คือ อีสปอร์ต ไม่ใช่การแข่งขัน NBA หรือ NFL ที่เล่นกันผ่านเครื่องมืออิเล็กทรอนิกส์
“คนเรานั้นล้วนเกลียดการเปลี่ยนแปลง” กรีลี่ย์ เริ่มกล่าวถึงไอเดียการรีแบรนด์ LCS ในอเมริกาเหนือ
“แต่ความจริงคือ โลกนี้ได้ห็นการรีแบรนด์ของกีฬาอีสปอร์ตมามากมายหลายครั้งเหลือเกิน แล้วมันก็ถึงเวลาที่คุณจะต้องเลิกใช้โลโก้การแข่งขันที่ดูเหมือนกับกระป๋องซุปได้แล้ว ยุคนี้มันต้องสะท้อนความเป็นตัวตนออกมาให้ได้”
“การรีแบรนด์ครั้งนี้จะไม่ใช่แค่เปลี่ยนสีและโลโก้ใหม่ให้ล้ำสมัย แต่เราจะค่อย ๆ เปลี่ยนหลาย ๆ สิ่งเพื่อให้ได้เห็นการเปลี่ยนแปลงที่สมบูรณ์แบบครั้งสุดท้าย เราอาจจะต้องใช้เวลา 1 หรือ 2 ปี แต่เชื่อเถอะนี่คือการออกสตาร์ทที่เยี่ยมยอดแน่นอน” กรีลี่ย์ กล่าว
LCS แห่งอเมริกาเหนือ ยืนยันว่าพวกเขาต้องการเป็นที่ 1 เหมือนกับกีฬาทุกชนิด ก่อนหน้านี้พวกเขาพยายามทำอะไรให้เข้าใจง่าย ๆ เพื่อจะได้มีสปอนเซอร์เข้ามา นอกจากระบบการแข่งขันที่ลอกแบบมาจาก NBA และ NFL อย่างที่กล่าวไป นักกีฬาอีสปอร์ต โซนอเมริกา ก็แทบไม่มีกลุ่มมือใหม่น่าจับตามองเลย พวกเขาได้แต่ดึงตัวนักกีฬาอายุมากที่ใกล้ปลดระวางจากทีมในโซนอื่น ๆ ที่เหลือแต่ชื่อเข้ามาเรียกสปอนเซอร์ ซึ่งแน่นอนว่าสิ่งนั้นมันไม่ได้ยั่งยืน มันเหมือนผักชีโรยหน้าที่สวยแต่รูป แต่เมื่อลงสนามกลับไม่เคยได้ผลการแข่งขันที่ต้องการ ยิ่งเมื่อต้องพบคู่แข่งระดับนานาชาติ ความต่างยิ่งชัดเจน
LCS แห่งอเมริกาเหนืออยากจะทำให้ อีสปอร์ต ถูกยอมรับจากคนทั่วไปเหมือนกับส่วนอื่น ๆ ของโลก และเหนือสิ่งอื่นใด พวกเขาต้องการเปิดการแข่งขันแบบสมัครเล่น เพื่อให้นักแข่งหน้าใหม่ หรือทีมที่มาจากสถาบันการศึกษาต่าง ๆ ส่งทีมเข้ามาแข่งร่วมกันกับทีม ‘อคาเดมี’ ของสโมสรอาชีพ โดยจะใช้ชื่อแข่งว่า LCS Proving Grounds ซึ่่งนี่ต่างหากที่คือการแก้ปัญหาที่แท้จริง ๆ อาศัยความเข้าถึงง่ายมาสร้างการมีส่วนร่วม และสร้างสภาพแวดล้อมที่บ่มเพาะโปรเพลเยอร์รุ่นใหม่ไปพร้อมกัน ไม่ใช่การเลียนแบบกีฬาอย่าง NFL หรือ NBA อีกต่อไป
สุดท้ายแล้ว กรีลี่ย์ ต้องการให้ อีสปอร์ต คือการแข่งขันที่ตื่นเต้นและน่าติดตาม แต่ตั้งอยู่บนความเป็นจริงมากที่สุด สนามแข่งเหย้าเยือนที่เปล่าประโยชน์นำมาซึ่งการเสียเวลาและคำถามที่ว่าจะเหย้าเยือนไปทำไม ในเมื่อสุดท้ายก็เล่นในเครื่องมืออิเล็กทรอนิกส์อยู่ดี จะต้องเล่นแบบแบ่งสายตะวันออก-ตะวันตก ไปทำไม ในเมื่อมันมากเกินพอดี และนี่ก็ไม่ใช่ NBA หรือ NFL
การพยายามใส่อะไรที่เยอะเกินไป มันกลายเป็นสิ่งทำลายความเป็นธรรมชาติในเวลาเดียวกัน นั่นคือสิ่งที่กำลังเกิดขึ้นในวงการอีสปอร์ต ไม่ใช่แค่ในอเมริกาเหนือเท่านั้น แต่หลาย ๆ ที่กำลังตั้งใจทำในสิ่งที่ไม่จำเป็น เช่นการพยายามใช้คำว่าอีสปอร์ต เพิ่มมูลค่าสิ่งต่าง ๆ จนแพงหูฉี่ทั้ง ๆ ที่ไม่จำเป็น อาทิ รองเท้ากีฬาแบบอีสปอร์ต ซึ่งแท้จริงแล้วนักกีฬาต้องนั่งอยู่บนเก้าอี้ ดังนั้นการใส่รองเท้าไม่น่าจะช่วยอะไรได้เหมือนกับที่แบรนด์รองเท้าสำหรับอีสปอร์ตโฆษณาชวนเชื่อ
ทุกวันนี้อุปกรณ์ต่าง ๆ แค่ติดป้ายว่า “Gaming Grade” ก็สามารถอัพราคาได้ ทั้ง ๆ ที่ความจริงแล้ว อุปกรณ์สำหรับนักกีฬาอีสปอร์ตที่จำเป็นจริง ๆ มีเพียง เม้าส์ แผ่นรองเม้าส์ คีย์บอร์ด หูฟัง จอภาพ เครื่องคอมพิวเตอร์/เกมคอนโซล ที่มีประสิทธิภาพเท่านั้น อย่างอื่นจัดอยู่ในประเภทที่ “ไม่ต้องมีก็ได้” ดังนั้นไม่มีประโยชน์ที่จะต้องเชิดชูสิ่งที่ไม่จำเป็นให้เสียเวลา
“เราไม่จำเป็นต้องเลียนแบบกีฬาเดิม ๆ อีกต่อไป เราพร้อมสำหรับการรีแบรนด์ จุดสนใจหลักของเราคือการสร้างตัวที่เข้าถึงทุกแง่มุมในการแข่งขัน LCS ตั้งแต่คอนเทนท์ไปจนถึงการผลิตรายการเพื่อออกอากาศ และวิธีการสร้างปฏิสัมพันธ์โต้ตอบกับแฟน ๆ”
“โซนอเมริกาของเราต้องพยายามดึงศักยภาพทุกอย่างเพื่อให้ลีกได้แข่งขันกันมากขึ้น เพื่อให้แน่ใจว่าเราจะสามารถสร้างการเปลี่ยนแปลงในการแข่งขันไม่ว่าจะในระดับมืออาชีพหรือระดับอคาเดมี … จากการรีแบรนด์ครั้งนี้ผมเชื่อว่าเราอยู่ในจุดที่ดีกว่าปีก่อน ๆ อย่างแน่นอน” กรีลี่ย์ กล่าวทิ้งท้าย
ณ ตอนนี้ปัญหาเดียวคือการระบาดของ COVID-19 ที่อาจจะทำให้แฟน ๆ เข้ามาเชียร์การแข่งขันในสตูดิโอแห่งใหม่ไม่ได้ แต่ กรีลี่ย์ เชื่อว่ามันไม่ใช่ปัญหาใหญ่ เพราะตอนนี้สถานการณ์จะเริ่มคลี่คลายทีละนิดและกลับมาสู่ปกติได้ในท้ายที่สุด
เหตุผลอีกประการที่ กรีลี่ย์ เชื่อมั่นเช่นนั้น เพราะว่าการแข่งขัน อีสปอร์ต นั้น แฟน ๆ ส่วนใหญ่จะติดตามการแข่งขันผ่านช่องทางสตรีมมิ่งหรือ Twitch และ YouTube อยู่แล้ว ดังนั้น มันจึงไม่ใช่ปัญหาใหญ่เหมือนกับการแข่งขันกีฬาที่ขับเคลื่อนด้วยยอดคนดูในสนาม ไม่มีข้อจำกัดเรื่องระยะทางและการเดินทาง นี่คือตัวอย่างที่ชัดเจนว่าทำไม อีสปอร์ต จึงไม่ต้องตามรอย กีฬา ให้เสียเวลา เพราะพวกเขามีจุดขายคนละแบบ และมีจุดเด่นคนละอย่างกันนั่นเอง
หลุดออกจากกรอบ สร้างตัวตน ใช้ประโยชน์สูงสุดจากจุดแข็งที่มี และการก้าวเป็นที่ 1 ด้วยคุณสมบัติของแชมเปียนที่มาจากฝีมือจริง ๆ นี่คือสิ่งที่ LCS ไม่ได้แค่พัฒนาโซนการแข่งขันของพวกเขาเอง แต่พวกเขายังส่งสัญญาณเตือนถึงลีกอื่น ๆ ว่า อีสปอร์ต คือ อีสปอร์ต.. หาจุดเด่นที่สุดให้เจอและเลิกตามหลังใคร เมื่อนั้นโลกอาจจะต้องตื่นเต้นกับวงการอีสปอร์ต มากกว่าที่เป็นอยู่ก็ได้