สำนักงานคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ (สำนักงาน กปร.) ได้จัดโครงการค่ายเยาวชนรู้งานสืบสานพระราชดำริ (RDPB Camp) เพื่อสร้างพื้นที่การเรียนรู้ให้แก่เยาวชนผ่านกิจกรรมค่ายสู่ผลสัมฤทธิ์เป็นโครงการซึ่งนำองค์ความรู้กลับไปแก้ไขปัญหาและพัฒนาชุมชนของตนเอง โดยในปี 2567 ได้ดำเนินการเป็นรุ่นที่ 14 ภายใต้แนวคิด “เยาวชนสานรักษ์ พิทักษ์สิ่งแวดล้อม โอบอ้อมสังคมยั่งยืน” มีทีมเยาวชนจากสถาบันการศึกษาทั่วประเทศที่ผ่านการคัดเลือกเข้าร่วม 20 ทีม และในเดือนตุลาคม 2567 ได้มีพิธีประกาศผลและมอบรางวัลให้กับทีมเยาวชนที่ชนะการประกวดโครงการ
นางสุพร ตรีนรินทร์ เลขาธิการ กปร. เปิดเผยในระหว่างเป็นประธานในพิธีประกาศผลและมอบรางวัลการประกวดโครงการประจำปี 2567 ว่า ค่ายเยาวชนรู้งานสืบสานพระราชดำริ เป็นโครงการที่นำเยาวชนในรั้วมหาวิทยาลัยเข้าไปเรียนรู้ทั้งทฤษฎีและการปฏิบัติในศูนย์ศึกษาการพัฒนาอันเนื่องมาจากพระราชดำริ และโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริต่าง ๆ ที่กระจายอยู่ทุกภูมิภาคทั่วประเทศเพื่อเป็นการเพิ่มเติมความรู้และประสบการณ์ชีวิตให้กับเยาวชน
“หลังจากการเรียนรู้และฝึกปฏิบัติแล้ว ก็จะให้เยาวชนนำองค์ความรู้ที่ได้รับกลับไปจัดทำโครงการเพื่อพัฒนาชุมชนของตัวเขาเอง มีนักศึกษาหลายคนที่มาอบรมในค่ายเรียนจบมหาวิทยาลัยแล้ว ที่บ้านมีที่ดินทำกินเป็นของตนเองก็ได้นำความรู้และประสบการณ์ที่ได้รับไปต่อยอดเป็นอาชีพ บางรายขายผลผลิตด้วยตนเอง ไม่ไปเป็นลูกจ้างใครแต่เลือกเป็นเจ้านายของตัวเอง เพราะทำงานได้อย่างอิสระ เกิดประโยชน์แก่ตัวเขาเองและสังคมเพิ่มมากขึ้น” นางสุพร ตรีนรินทร์ กล่าว
นายปทุมณัฐราช นิยมเดชา หัวหน้างานกิจการนักศึกษา วิทยาลัยชุมชนปัตตานี จังหวัดปัตตานี อาจารย์ที่ปรึกษาทีม ลายัง ลายัง เบอร์อามัส ซึ่งได้รับรางวัลชนะเลิศการประกวดโครงการในปีนี้ เผยว่า ทางวิทยาลัยได้ส่งนักศึกษาเข้าร่วมกิจกรรมค่าย RDPB Camp มาอย่างต่อเนื่องจนถึงปี 2567 รวม 5 ปี ที่ผ่านมาได้ส่งผลงานโครงการเข้าประกวดจะได้รับรางวัลที่ 2 ที่ 3 และรางวัลชมเชย ปีนี้ได้รางวัลชนะเลิศ จากการจัดทำโครงการเบอร์อามัส ว่าวทองรักษ์โลก สู่ Thailand Soft Power
“ที่ผ่านมาทำโครงการเกี่ยวกับป่าชายเลนผลิตผ้ามัดย้อมที่สกัดสีจากต้นโกงกาง มาปีนี้จัดทำโครงการว่าวทองรักษ์โลก โดยหยิบลวดลายของว่าวที่นิยมเล่นในมลายู มาเป็นผลิตภัณฑ์กางเกงและภาชนะรองแก้วน้ำ โดยนักศึกษาร่วมกับชุมชนผลิตขึ้นมา พร้อมวางจำหน่ายสร้างรายได้ให้แก่ชุมชนได้เป็นอย่างดี เป็นการสืบสานรักษาต่อยอดวัฒนธรรมท้องถิ่น ซึ่งในอดีตท้องถิ่นมลายูจะมีการเล่นว่าวทุกปี นักศึกษาที่ร่วมกิจกรรมได้ปรึกษากับผู้สูงอายุในพื้นที่ที่ครั้งหนึ่งเคยเป็นผู้ผลิตว่าวให้แก่ราชวังในมลายู ได้รับความรู้ความเป็นมาและเข้าใจในวิธีการผลิตลวดลายบนว่าวนำมาต่อยอดเป็นลวดลายบนผ้า เป็นการนำอัตลักษณ์ที่เป็นวัฒนธรรมแบบอามัส มาผลิตเป็นผลิตภัณฑ์ ที่สำคัญคือได้สร้างอาชีพ สร้างรายได้ให้ชุมชน” นายปทุมณัฐราช นิยมเดชา กล่าว
ส่วนนางสาวนูรฮาซิกิง นิคง นักศึกษาวิทยาลัยชุมชนปัตตานี หนึ่งในสมาชิกทีม ลายัง ลายัง เบอร์อามัส เผยว่า ดีใจและภาคภูมิใจที่ได้ร่วมโครงการนี้ และขอขอบคุณสำนักงาน กปร. รวมทั้งอาจารย์ที่ปรึกษาที่ได้ชักชวนให้มาร่วมโครงการ ทำให้มีโอกาสในการทำกิจกรรมเพื่อต่อยอดวัฒนธรรมท้องถิ่นที่เป็นเอกลักษณ์ของลายผ้า ต่อจากนี้ก็จะนำไปต่อยอดขยายผลร่วมกับชุมชนผลิตออกมาจำหน่ายเพื่อสร้างรายได้ให้กับชุมชนต่อไป
ด้านนางกันทนา ใจสุวรรณ อาจารย์ที่ปรึกษาทีมกล้วยไม้หอมเอื้องแซะ วิทยาลัยชุมชนแม่ฮ่องสอน ซึ่งได้รับรางวัลรองชนะเลิศอันดับที่ 1 จากการเสนอโครงการเยาวชนแม่สะเรียงสานรักษ์ พิทักษ์สิ่งแวดล้อม โอบอ้อมสังคมยั่งยืน โดยใช้หลักการใช้ธรรมชาติช่วยธรรมชาติ เปิดเผยว่า วิทยาลัยชุมชนแม่ฮ่องสอนตั้งอยู่ห่างไกลจากชุมชนเมือง ประชากรส่วนใหญ่มีอาชีพเกษตรกรรม ทำการเกษตรเชิงเดี่ยว ส่วนใหญ่ปลูกข้าวโพดและกะหล่ำปลี ทุกปีหลังการเก็บเกี่ยวจะมีเศษวัสดุเหลือใช้จากภาคการเกษตรจำนวนมาก หากปีใดฝนตกน้อย ผลผลิตตกเกรดมีจำนวนมากไม่สามารถขายได้ จะเหลือทิ้งในพื้นที่จำนวนมาก ทำให้เกิดปัญหาสิ่งแวดล้อม จึงเป็นที่มาของโครงการนี้
นายกิตติภพ ปัญญาโปร่ง นักศึกษาวิทยาลัยชุมชนแม่ฮ่องสอน หนึ่งในสมาชิกทีมกล้วยไม้หอมเอื้องแซะ บอกว่า ได้น้อมนำแนวพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 ในการใช้ธรรมชาติมาแก้ปัญหาธรรมชาติ มาประยุกต์ใช้ในการดำเนินงานโครงการ
“เราใช้หนอนเป็นตัวช่วยย่อยสลายเศษพืชผัก ใบ ลำต้น และฝักข้าวโพดที่ตกเกรดไม่สามารถขายได้ ในระหว่างการย่อยสลาย ก็เอาตัวหนอนมาเป็นอาหารสัตว์ เช่น เป็ด ไก่ และปลา ส่วนที่เหลือก็เป็นปุ๋ยนำไปบำรุงต้นไม้ ไม่ต้องซื้อปุ๋ยจากในเมืองที่มีราคาแพงเพราะการขนส่งมีระยะทางไกล ทำให้ชาวบ้านเกษตรกรสามารถลดต้นทุนการผลิต แก้ปัญหาเศษพืชผักเหลือใช้ ไม่เป็นมลภาวะแถมยังได้หนอนอาหารโปรตีนสำหรับสัตว์ที่เลี้ยง ได้ปุ๋ยใส่ต้นไม้ นับเป็นการเพิ่มรายได้ให้แก่เกษตรกรได้เป็นอย่างดี” นายกิตติภพ ปัญญาโปร่ง กล่าว