เยอรมันฟ้องรัฐบาลปมมลพิษพุ่ง ละเมิดสิทธิเข้าถึงอากาศสะอาด
เยอรมันฟ้องรัฐบาลปมมลพิษพุ่ง – วันที่ 26 ก.ย. บีบีซีรายงานว่า ชาวเยอรมันรวมกลุ่มกันยื่นฟ้องรัฐบาลหลังพบมลพิษในอากาศมีแนวโน้มสูงขึ้นถึงระดับอันตราย ถือว่ารัฐละเมิดสิทธิในการเข้าถึงอากาศสะอาดและล้มเหลวในการพิทักษ์รักษาไว้ซึ่งสุขภาพที่ดีของประชาชน
ประเทศเยอรมนีเป็นหนึ่งในชาติที่มีมลภาวะทางอากาศสูงเกินเกณฑ์ปลอดภัยขององค์การอนามัยโลก (WHO) ซึ่งเป็นหนึ่งในสาเหตุการเสียชีวิตก่อนวัยอันควรของผู้คนกว่า 7 ล้านรายทั่วโลกต่อปี นับเป็นครั้งแรกที่ชาวเยอรมันรวมกลุ่มกันฟ้องร้องรัฐต่อปัญหาที่เกิดขึ้น
ความเคลื่อนไหวนี้เกิดขึ้นหลังอัยการสูงสุดของศาลยุติธรรมแห่งสหภาพยุโรป ระบุว่า ประชาชนทั่วไปสามารถฟ้องร้องเอาผิดกับรัฐบาลได้ในเรื่องข้างต้นเมื่อเดือนพ.ค. ที่ผ่านมา โดยรัฐจะต้องจ่ายเงินเยียวยาให้กับผู้เสียหายหากพบว่ามีความผิดจริง
กลุ่มชาวเยอรมันที่รวมตัวกันยื่นฟ้องมีทั้งสิ้น 7 คน ในจำนวนนี้ มีทั้งผู้ปกครองที่เป็นตัวแทนฟ้องร้องแทนบุตรหลาน รวมถึงผู้ที่ป่วยเป็นโรคภูมิแพ้ ระบุว่า สุขภาพของพวกตนกำลังถูกคุกคามและนักการเมืองกำลังล้มเหลวที่จะปกป้องคุณภาพชีวิตของประชาชน
กลุ่มผู้ยื่นฟ้องนั้นมีภูมิลำเนาอยู่ในมหานครขนาดใหญ่ อาทิ กรุงเบอร์ลิน นครมิวนิก แฟรงเฟิร์ต และดึสเซิลดอร์ฟ ซึ่งถือเป็น 4 ใน 7 ของเมืองใหญ่ที่สุดของเยอรมนี ระบุว่า กำลังต้องทนสูดหายใจด้วยอากาศที่มีมลภาวะสูงกว่ามาตรการฐานของ WHO ราว 4-5 เท่า
นายวอลเคอร์ เบ็กเคอร์-บัททาเกลีย หนึ่งในผู้ฟ้องร้องที่มีภูมิลำเนาอยู่ในนครมิวนิก อาศัยอยู่บริเวณถนนที่มีค่ามลภาวะทางอากาศสูงที่สุดในประเทศ กล่าวว่า มลภาวะทางอากาศเป็นปัญหาที่มองด้วยตาเนื้อไม่เห็นจึงไม่ค่อยมีผู้คนให้ความสนใจแต่จริงๆแล้วเป็นนักฆ่าเงียบ
“หน้าบ้านผมมีรถแล่นผ่านวันละประมาณ 150,000 คันต่อวัน เวลาที่หนีได้ผมก็จะพาครอบครัวออกจากเมืองครับ” นายบัททาเกลียระบุ
อีกคนหนึ่งเป็นหญิงสาว ทราบเพียงชื่อจริงว่านางคอนสแตนซี อยู่อาศัยในนครดึสเซิลดอร์ฟ ระบุว่า ฟ้องร้องแทนลูกๆ โดยตนมองว่าการอาศัยอยู่ในเมืองไม่ควรต้องเจ็บป่วยจากมลภาวะทางอากาศและสามารถที่จะเติบโตในสิ่งแวดล้อมที่สะอาดมีคุณภาพได้
รายงานระบุว่า ค่ามลภาวะทางอากาศในเยอรมนีนั้นยังอยู่ภายใต้ค่ามาตรฐานความปลอดภัยตามกฎหมาย ทว่า กลุ่มผู้ฟ้องร้องมองว่าจำเป็นต้องมีการแก้ไขกฎหมายเพื่อให้ค่ามาตรฐานเป็นไปตามองค์ความรู้ใหม่จากวงการวิทยาศาสตร์
องค์ความรู้ใหม่ดังกล่าวส่งผลให้ WHO ปรับปรุงค่ามาตรฐานแนะนำมลภาวะฝุ่น PM2.5 ในอากาศใหม่เมื่อปี 2564 ต้องไม่เกิน 5 ไมโครกรัมต่ออากาศ 1 ลูกบาศก์เมตร (เฉลี่ย 10 ปี) และก๊าซพิษไนโตรเจนไดออกไซด์ไม่เกิน 10 ไมโครกรัมต่ออากาศ 1 ลูกบาศก์เมตร (เฉลี่ย 5 ปี)
การปรับปรุงค่าแนะนำใหม่จาก WHO ยังสอดคล้องกับผลการศึกษาล่าสุด ที่พบว่าการสูดเอาไอเสียจากรถยนต์นั้นสามารถนำไปสู่การเกิดมะเร็งในปอดได้ โดยพบว่าทุก 1 ใน 10 คน ที่ป่วยมะเร็งปอดนั้นมีสาเหตุมาจากมลภาวะทางอากาศ