"เม็กซิโก เกมส์" : ห่ากระสุนจากรัฐบาลที่สาดใส่ประชาชนเพื่อให้ได้จัดโอลิมปิก 1968

Home » "เม็กซิโก เกมส์" : ห่ากระสุนจากรัฐบาลที่สาดใส่ประชาชนเพื่อให้ได้จัดโอลิมปิก 1968
"เม็กซิโก เกมส์" : ห่ากระสุนจากรัฐบาลที่สาดใส่ประชาชนเพื่อให้ได้จัดโอลิมปิก 1968

“พวกเราไม่ต้องการโอลิมปิก พวกเราต้องการปฏิวัติ!” เสียงเรียกร้องจากนักเรียนและนักศึกษามากกว่า 10,000 คนกลางจัตุรัสปลาซา เด ลาส เตรส กุลตูราส (Plaza de las Tres Culturas) ใจกลางกรุงเม็กซิโก ซิตี้ ประเทศเม็กซิโก ตลอดทั้งวันที่ 2 ตุลาคม 1968

ไม่มีใครปฏิเสธว่ามหกรรมกีฬาโอลิมปิก คือเวทีที่จะทำให้ชาติเจ้าภาพได้แสดงออกถึงพลังอำนาจของประเทศตนเองสู่สายตาชาวโลก การจะได้เป็นเจ้าภาพโอลิมปิกไม่ใช่เรื่องง่าย ดังนั้น ไม่มีโอกาสไหนแล้วที่จะทำให้ประเทศชาติเกิดตัวเองชูหน้าชูตาได้ขนาดนี้

แต่เพราะเหตุใด ประชาชนชาวเม็กซิโกในปี 1968 ถึงรวมใจกันต่อต้านการเป็นเจ้าภาพมหกรรมกีฬาระดับโลกครั้งแรกบนผืนแผ่นดินมาตุภูมิ

หนึ่งในเรื่องราวสุดดำมืดของกีฬาโอลิมปิก ประวัติศาสตร์ที่แทบไม่เคยออกสู่สายตาชาวโลก โศกนาฏกรรมที่กำลังเลือนหายไปจากหน้าหนังสือ 

Main Stand จะขอนำเรื่องราวแสนโหดร้ายก่อนไฟคบเพลิงโอลิมปิก 1968 จะสว่าง มาปัดฝุ่นเล่าอีกครั้ง

1968 : ศักราชวิปโยค

ค.ศ. 1968 ตรงกับ พ.ศ. 2511 โลกได้เข้าสู่ช่วงผลัดใบของประชากร ทำให้ผู้คนในยุคหลังจากเจเนอเรชั่น “เบบี้บูมเมอร์” ได้กลายมาเป็นคนกลุ่มใหม่ที่เรียกว่า “เจน X (เอ็กซ์)” ที่เริ่มเข้ามามีบทบาททางสังคม และพร้อมจะขับเคลื่อนโลกด้วยวิถีแนวคิดแบบใหม่อย่างที่โลกไม่เคยเป็นมาก่อน

ช่วงเวลาดังกล่าว โลกกำลังฟื้นฟูภาวะเศรษฐกิจหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ทำให้กลุ่มคนหนุ่มสาวทั่วยุโรปและอเมริกาต่างใช้จังหวะนี้ในการเปลี่ยนแปลงชนชั้น ด้วยการเข้าเมืองใหญ่มาหางานทำกันอย่างล้นหลาม เพื่อสร้างอนาคตให้กับลูกหลานของตนเอง จะได้ไม่ต้องมาเจอกับสงครามอันแสนแล้วร้ายอย่างที่เคย ซึ่งพวกเขาก็ได้แต่หวังว่าความคิดแบบอนุรักษ์นิยมของพวกขวาจัดจะเลือนหายไปพร้อมกับสงครามเช่นกัน 

1เมื่อผู้คนเริ่มมีกำลังทรัพย์จากการเลี้ยงชีพกันมากขึ้น การศึกษาจึงเป็นสิ่งที่คนรุ่นใหม่ต้องการมากตามไปด้วย มหาวิทยาลัยจึงเป็นสถานที่ยอดนิยมที่คนแห่เข้าไปศึกษาจนไม่สามารถเพิ่มจำนวนมหาวิทยาลัยได้ตามความต้องการของประชาชน

แต่ในความเป็นจริง สถาบันการศึกษาทุกภาคทุกระดับกลับเต็มไปด้วยคำสอนเชิงอนุรักษ์สถาบันและความคิดแต่เพียงฝ่ายเดียวทั้งสิ้น ซึ่งขัดกับความต้องการของสังคมในเวลานั้น ที่กลุ่มคนรุ่นใหม่ต่างแห่เข้าเรียนมหาวิทยาลัยเพื่อแสวงหาความรู้และความเสมอภาค แต่กลับกลายเป็นว่าพวกเขา (เจน X) ถูกกลุ่มคนเบบี้บูมเมอร์คอยล้างสมองอยู่เรื่อย ๆ

เมื่อความหวังของคนรุ่นใหม่ที่ต้องการความเสมอภาคได้พังทลายลงจากน้ำมือของคนรุ่นก่อนที่เป็นชนชั้นปกครองในสังคม ทำให้คนหนุ่มสาวรุ่นนั้นมีปฏิกิริยาต่อต้านอย่างรุนแรงต่อสถาบันทั้งหลาย พวกเขาจึงได้แสวงหาทางเลือกในการต่อสู้กับสถาบันหลักด้วยความคิดฝ่ายซ้าย 

การระดมคนมาเดินขบวน หรือ การยึดเมือง จึงเป็นวิธีการที่เป็นรูปธรรมที่คนรุ่นใหม่ใช้แสดงออกถึงการต่อต้าน จะเห็นได้ว่าปี 1968 คือปีแห่งอุปทานหมู่ที่คนทั้งโลกออกมาชุมนุมทั่วเมืองใหญ่ ลามไปทั่วโลกไม่ว่าจะเป็น The Paris Student Revolt ในกรุงปารีส, Prague Spring ประเทศเชโกสโลวาเกีย, Japanese university protests ประเทศญี่ปุ่น รวมไปถึง Movimiento Estudiantil ที่ประเทศเม็กซิโก ซึ่งเป็นประเทศที่จะเล่าในต่อไปนี้

เผด็จการในคราบประชาธิปไตยของเม็กซิโก

ประเทศเม็กซิโกได้รับการปฏิรูปรัฐธรรมนูญครั้งใหญ่ในปี ค.ศ. 1933 โดยประธานาธิบดีจะมีวาระ 6 ปี และถูกตัดสิทธิ์ในการลงสมัครเลือกตั้งครั้งต่อไป แต่กลายเป็นว่ารัฐธรรมนูญฉบับใหม่นี้ ได้เอื้อผลประโยชน์ให้กับพรรคพวกอยู่ฝ่ายเดียวคือพรรคปฏิวัติแห่งชาติ ซึ่งเป็นพรรคการเมืองฝ่ายขวาจัดและปกครองด้วยระบอบเผด็จการ เน้นพวกพ้องเป็นหลัก

จากปี 1934 – 1968 เป็นเวลา 34 ปีที่พรรคปฏิวัติแห่งชาติ ปกครองประเทศมาโดยตลอดและชนะการเลือกตั้งทุกครั้ง แต่กลับเต็มไปด้วยความสงสัยของประชาชนที่เริ่มตั้งคำถามกับพรรคปฏิวัติแห่งชาติมากขึ้นว่าทำไมประธานาธิบดีต้องเป็นคนที่มาจากคณะรัฐมนตรีของผู้นำคนก่อนหน้าเสมอ 

2อย่างไรก็ดี ด้วยความที่ ณ เวลานั้นเม็กซิโกเป็นประเทศที่กำลังพัฒนาอย่างก้าวกระโดด จากที่เม็กซิโกเคยประเทศที่ไร้เสถียรภาพทางการเมือง ภายใต้พรรคปฏิวัติแห่งชาติ พวกเขากลายเป็นประเทศกำลังพัฒนาที่ถูกจับตามองจากโลกอย่างมากว่าจะเป็นเสือตัวที่ 2 แห่งทวีปอเมริกาเหนือต่อจากสหรัฐอเมริกา ประชาชนจึงอาจทำได้แค่สงสัย แม้ว่าจะมีการเริ่มประท้วงหยุดงานในยุคของประธานาธิบดี อดอลโฟ โลเปซ ประธานาธิบดีคนที่ 55 เป็นระยะ ๆ แต่ก็ไม่ถึงกับเป็นปัญหาระดับชาติ

อย่างไรก็ตาม เมื่อระบอบเผด็จการพรรคเดียวปกครองประเทศมานานเกินไป  จุดอ่อนทีละเล็กละน้อย ก็ถูกเปิดเผยขึ้นมาเรื่อยๆ

โอลิมปิกครั้งแรกในแผ่นดินลาตินอเมริกา

จากนโยบายพัฒนาประเทศของประธานาธิบดี มิเกล วัลเดส ประธานาธิบดีคนที่ 53 ซึ่งเข้ารับตำแหน่งตั้งแต่ปี 1946 ที่ต้องการให้ประเทศก้าวไปสู่การเป็นประเทศพัฒนาอย่างเต็มตัว นำไปสู่การเริ่มดำเนินนโยบายเสนอตัวเป็นเจ้าภาพโอลิมปิก 1968 

นับตั้งแต่ปี 1950 ด้วยความหวังที่จะยกระดับโปรไฟล์เม็กซิโกในระดับสากลโลก และเพื่อให้นักท่องเที่ยวเข้ามา พร้อมกับดึงดูดเงินลงทุนมหาศาลจากชาวต่างชาติ จึงได้เริ่มดำเนินแผนการก่อสร้างสนามกีฬามหาวิทยาลัยแห่งชาติเม็กซิโก ขึ้นในปี 1950 พร้อมทั้งสิ่งอำนวยความสะดวกต่าง ๆ เพื่อนำไปเสนอตัวเป็นเจ้าภาพโอลิมปิกปี 1968 

เมื่อ มิเกล วัลเดส ลงจากตำแหน่งประธานาธิบดีในปี 1952 เขาก็ได้เข้ารับแต่งตั้งให้เป็นประธานคณะกรรมการการท่องเที่ยวแห่งชาติในปี 1961 และได้เดินหน้าร่วมประมูลเป็นเจ้าภาพโอลิมปิก 1968 ร่วมกับการทำงานของประธานาธิบดี อดอลโฟ โลเปซ ในที่ประชุมคณะกรรมการโอลิมปิกสากลครั้งที่ 60 ในวันที่ 16-20 ตุลาคม 1963 ที่เมืองบาเดิน-บาเดิน ประเทศเยอรมนีตะวันตก

3และแล้วความปรารถนาก็บรรลุผล ในวันที่ 18 ตุลาคม 1963 เมื่อชื่อของกรุงเม็กซิโกซิตี้ ได้รับเลือกให้เป็นเจ้าภาพโอลิมปิก 1968 ด้วยคะแนนเสียง 30 คะแนน เหนือเมืองดีทรอยต์ของสหรัฐอเมริกาที่มี 14 เพียงคะแนน จากการบิดเพียงครั้งเดียวเท่านั้น ทำให้เม็กซิโกเป็นชาติที่กำลังพัฒนาชาติแรกที่ได้เป็นเจ้าภาพโอลิมปิก

เพื่อแลกกับการเป็นเจ้าภาพ รัฐบาลเม็กซิโกที่เปลี่ยนมือมาถึง กุสตาโว ดิอาซ ออร์ดาซ ในปี 1964 จึงได้กู้เงินจากต่างประเทศ และนำเงินกองคลังสาธารณะ มาก่อสร้างสนามกีฬา และสิ่งอำนวยความสะดวกต่าง ๆ ที่จะใช้ในการจัดแข่งขันโอลิมปิก รวมไปถึงสนามกีฬามหาวิทยาลัยแห่งชาติเม็กซิโก (Estadio Olímpico Universitario – ปัจจุบันใช้เป็นสนามเหย้าของสโมสรฟุตบอล U.N.A.M. หรือ ที่คุ้นหูในชื่อ ปูมาส) ที่มีความจุ 72,000 คน โดยไม่สนถึงงบประมาณอื่นที่จะนำไปพัฒนาประเทศเลยด้วยซ้ำ

4ถึงแม้ภาระงานเจ้าภาพโอลิมปิกจะต้องแลกมากับความอดอยากและเศรษฐกิจที่ฝืดเคืองภายในประเทศ มันก็อาจจะคุ้มในบางกรณี เพราะโอลิมปิก 1968 อาจทำให้เม็กซิโก มีเศรษฐกิจที่เติบโตขึ้นในภายหลัง การแข่งขันครั้งนั้นถือว่าล้ำสมัย เพราะเป็นครั้งแรก ที่ใช้การจับเวลาแบบดิจิตอลในทุกเกมกีฬา รวมทั้งยังได้ปฏิวัติวงการกรีฑาด้วยการใช้ยางสังเคราะห์มาทำลู่วิ่งแทนลู่วิ่งแบบเก่า ที่ทำมาจากถ่านบด

แต่งานยังไม่ทันเริ่มก็เกิดเรื่องขึ้นจนได้ เพราะในปี 1968 โลกกำลังสั่นคลอนกับภาวะสงครามเย็น เกิดการต่อสู้ความคิดทางการเมืองระหว่างฝ่ายซ้ายและฝ่ายขวากันทั่วทวีป กลุ่มชนชั้นนักศึกษาและผู้ใช้แรงงานเม็กซิกัน ซึ่งเต็มไปด้วยคนหนุ่มสาว ต่างใช้จังหวะดังกล่าวออกมาลุกฮือรวมกลุ่มประท้วงชนชั้นปกครองและพวกความคิดขวาจัด ที่ถูกระบอบเผด็จการในคราบประชาธิปไตยปกครองประเทศมายาวนานกว่า 34 ปี พวกเขาทนไม่ไหวจนต้องออกมาเดินขบวนต่อต้านรัฐบาลเหมือนทั้งโลก

เส้นทางความชั่วร้าย

ถ้าหากไล่เรียงไทม์ไลน์เส้นทางการได้เป็นเจ้าภาพโอลิมปิก 1968 ของเม็กซิโก จะเรียงได้ว่า เริ่มต้นจากนโยบายของประธานาธิบดี มิเกล วัลเดส ปี 1950 พัฒนางานในสมัยประธานาธิบดี อดอลโฟ โลเปซ ปี 1961 – 1963 และจัดงานในสมัยประธานาธิบดีกุสตาโว ดิอาซ ออร์ดาซ ปี 1968

แม้ว่าประเทศเม็กซิโกกำลังไปได้สวยกับเศรษฐกิจในประเทศด้วยผลงานการบริหารบ้านเมืองของประธานาธิบดี มิเกล วัลเดส (1946 – 1952) และประธานาธิบดี อดอลโฟ รุยซ์ กอร์ติเนส (1952 -1958) และเมื่อการเข้ามาของประธานาธิบดี กุสตาโว ดิอาซ ออร์ดาซ ในปี 1964 ก็ทำประเทศที่สร้างมาอย่างดีด้วย 3 ผู้นำคนก่อนหน้า (รวมประธานาธิบดี อดอลโฟ โลเปซ ในปี 1958 – 1964 ด้วย) พังทลายลงในพริบตา

5อย่างที่ได้อธิบายไปก่อนหน้า ประเทศเม็กซิโกในช่วงเวลาดังกล่าวปกครองด้วยระบอบเผด็จการขวาจัดพรรคการเมืองเดียว ทำให้ประธานาธิบดีส่วนมากมาจากหนึ่งในคณะรัฐมนตรีของผู้นำคนก่อนหน้า ซึ่งประธานาธิบดี กุสตาโว ก็เช่นกัน เขามาจากตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยของรัฐบาล ประธานาธิบดี อดอลโฟ โลเปซ 

เส้นทางการเมืองของ กุสตาโว ดิอาซ ออร์ดาซ เริ่มจากเป็น สส.รัฐปวยบลา ปี 1943 – 1946 และขยับขึ้นมาเป็น สว.รัฐปวยบลา ปี 1946 – 1952 โดยเขาเริ่มทำงานในพรรคปฏิวัติแห่งชาติกับประธานาธิบดี มิเกล วัลเดส ก่อนขยับขึ้นมารั้งตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยและเลขานุการประธานาธิบดี อดอลโฟ โลเปซ

และด้วยความที่เป็นมือขวาของประธานาธิบดี อดอลโฟ โลเปซ เขาก็ถูกพรรคปฏิวัติแห่งชาติเสนอชื่อลงสมัครชิงตำแหน่งประธานาธิบดีคนที่ 56 ของเม็กซิโกในปี 1964 

และแน่นอนว่าเขาชนะการเลือกตั้งอย่างท่วมท้นเหนือนายโฮเซ่ ตอร์เรส คู่แข่งจากพรรคการเมืองแห่งชาติ ด้วยคะแนนเสียง 8.3 ล้านเสียง ต่อ 1 ล้านเสียง คิดเป็นเปอร์เซนต์ 88.8 % ต่อ 11 % ชนะครบทุก 31 รัฐทั่วประเทศ เรียก สส. เข้าสภาได้ 175 ที่นั่งจาก 210 ที่นั่ง

6ทันทีที่เขาเข้ารับตำแหน่ง ธาตุแท้ความเป็นเผด็จการก็เผยออกมา เขาบริหารบ้านเมืองด้วยอำนาจเบ็ดเสร็จ โดยช่วงเวลาดังกล่าว ผู้ประกอบอาชีพข้าราชการที่เห็นต่างถูกเขาไล่ออกเป็นจำนวนมาก และไม่ว่าจะมีการชุมนุมเล็ก ๆ เพื่อแย้งนโยบายเขา ผู้ชุมนุมก็จะถูกกวาดล้างอย่างรุนแรงทันที

แต่อย่างไรก็ดี ในยุคของประธานาธิบดี กุสตาโว ก็มีเรื่องดี ๆ บ้าง เพราะเขาได้ก่อตั้งสถาบันปิโตรเลียมแห่งเม็กซิโกในปี 1965 ซึ่งเป็นก้าวสำคัญสำหรับอุตสาหกรรมน้ำมันซึ่งเป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมที่ให้ผลผลิตมากที่สุดของเม็กซิโก นอกจากนี้นโยบายระหว่างประเทศกับสหรัฐอเมริกาก็ได้ทำสนธิสัญญาหลายฉบับ แต่ขณะเดียวกันธุรกิจยาเสพติดในเม็กซิโกก็รุ่งเรืองอย่างมาก

พอมาถึงตรงนี้ก็พอจะเดาได้ว่าเขาเป็นคนอย่างไร..

พวกเราไม่เอาโอลิมปิก!

วันที่ 22-23 กรกฎาคม 1968 ในกรุงเม็กซิโกซิตี้ เกิดการทะเลาะวิวาทกันหลังการแข่งขันฟุตบอลระหว่างสถาบันโปลีเทคนิคแห่งชาติและโรงเรียนมัธยมไอแซกโอโชเตเรนา (Isaac Ochoterena High School) จากการปะทะกันดังกล่าว กองกำลังตำรวจพิเศษก็ได้เข้าสลายจลาจลด้วยอาวุธทันที และเมื่อตำรวจกับทหารเปิดก่อน มีหรือที่ประชาชนจะอยู่เฉย…

7จากเหตุการณ์ข้างต้น ทำให้กลุ่มนักเรียนนักศึกษา ได้เริ่มเปิดฉากการชุมนุมอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 26 กรกฎาคม 1968 โดยมี มาร์เซลิโน เปเรโล นักคณิตศาสตร์ชาวเม็กซิกันวัย 24 ปี และสมาชิกพรรคคอมมิวนิสต์เม็กซิโก เป็นแกนนำการชุมนุม ที่ปลาซา เด ลาส เตรส กุลตูลาส (Plaza de las Tres Culturas) ใจกลางกรุงเม็กซิโกซิตี้ ก่อนพิธีเปิดโอลิมปิกจะเริ่มเพียง 77 วัน โดยใช้การใช้งบประมาณแบบไม่นึกถึงปากท้องของประชาชนเพื่อจัดกีฬาโอลิมปิกมาเป็นเหตุผลสำคัญในการขับไล่ประธานาธิบดีกุสตาโว เนื่องจากการนำงบประมาณประเทศไปลงกับโอลิมปิกมากมายจนเศรษฐกิจพัง 

การชุมนุมครั้งนี้มีสถานศึกษาชั้นนำระดับประเทศมากกว่า 7 สถาบันเข้าร่วมชุมนุม โดยทางฝั่งนักศึกษาได้ยกระดับการชุมนุมขึ้นเรื่อย ๆ 

ในเดือนสิงหาคม นักศึกษาจากสถาบันต่าง ๆ ทั่วเม็กซิโกกว่า 70 แห่งได้รวมตัวกันจัดตั้งคณะประท้วงแห่งชาติ (National Strike Council หรือ CHN) ซึ่งเป็นองค์กรที่สนับสนุนในการจัดการชุมนุมขับไล่ประธานาธิบดีกุสตาโว ว่ากันว่าในเดือนสิงหาคมนี้เองมีผู้ร่วมชุมนุมขับไล่รัฐบาลทั่วประเทศจากทุกสาขาอาชีพมากกว่า 500,000 คน

ในวันที่ 9 กันยายน ก่อนพิธีเปิดโอลิมปิกจะเริ่มขึ้น 34 วัน บารอส เซียร่า อธิบดีมหาวิทยาลัย National Autonomous University of Mexico หรือ UNAM ได้ออกแถลงการณ์ถึงครูและนักเรียนให้กลับเข้าไปทำหน้าที่ของตัวเอง หลังจากข้อเรียกร้องบางส่วนจากนักศึกษาไปกระทบความรู้สึกของประธานาธิบดีกุสตาโว ในงานกล่าวสุนทรพจน์ประจำปีของชาติเมื่อวันที่ 1 กันยายน 1968 ที่กล่าวว่า 

8“เราจะไม่ยอมให้กฎหมายอันศักดิ์สิทธิ์ถูกทำลายลง (โดยประชาชน) โดยไม่สามารถเพิกเฉยได้อีกต่อไป”

ขณะเดียวกันหนังสือพิมพ์โฆษณาของคณะประท้วงแห่งชาติไม่ยอม พวกเขาต้องการรับฟังของรัฐบาล และได้ออกมาเชิญชวนให้คนออกมาชุมนุมทั่วประเทศต่อไป โดยอ้างว่าการชุมนุมทั้งหมดจะไม่กระทบกับกีฬาโอลิมปิกที่จะเริ่มในวันที่ 12 ตุลาคม 

และนั่นกลายเป็นจุดเริ่มต้นของโศกนาฏกรรม..

ฟางเส้นสุดท้าย..

เมื่อการประท้วงยังไม่มีท่าทีจะจบลง และโอลิมปิกใกล้เข้ามา ประธานาธิบดีกุสตาโว จึงตั้งใจแน่วแน่ที่จะหยุดการประท้วงทั่วประเทศ ในวันที่ 23 กันยายน เขาสั่งให้กองทัพเข้ายึดมหาวิทยาลัย UNAM โดยห้ามใช้กระสุนยิง แต่อนุญาตให้ใช้การทุบตีและทำร้ายร่างกายนักศึกษาได้อย่างไม่เลือกหน้า โดยตำรวจและทหารแต่ละคนจะได้รับค่าหัวจากนักศึกษาตามจำนวนที่สามารถจับกุมได้

และเมื่อมหาวิทยาลัย UNAM ถูกโจมตีเป็นที่แรก นักศึกษาสถาบันอื่น ๆ ก็ได้เริ่มปฏิบัติการป้องกันตัวโดยการติดอาวุธไว้ป้องกันตัวจากเจ้าหน้าที่ของรัฐบาล ในไม่ช้ากองกำลังตำรวจพิเศษและกองทัพบกก็ได้ปิดล้อมเข้ายึดสถาบันโพลีเทคนิควิทยาเขตซาคาเตนโก และ ซานโต โตมาส จนเกิดการต่อสู้ระหว่าง 2 ฝ่ายตั้งแต่เวลา 17.00 น. จนถึง 06.00 น. ซึ่งนายแพทย์ León Loyola ที่อยู่ในเหตุการณ์ได้เขียนอธิบายถึงค่ำคืนที่แสนโหดร้ายนี้ไว้ในหนังสือ La Noche de Santo Tomás ว่า 

9“วันนี้ผมเห็นการปะทะนองเลือด การสู้รบที่ไม่เท่าเทียมกัน ฝ่ายหนึ่งมีเพียงแค่ปืนพก .22 แต่อีกฝ่ายมีปืนไรเฟิล M1, รถถัง และระเบิดโมโลทอฟ อีกฝ่ายถูกฝึกฝนการใช้อาวุธมาเป็นอย่างดี แต่อีกฝ่ายแค่วิธียิงปืนยังไม่รู้เลย”

L’Express วารสารฝรั่งเศสได้รายงานว่า จากการปะทะกันในคืนที่ 23 กันยายน มีผู้เสียชีวิต 15 ราย แต่ทางรัฐบาลเม็กซิโกกลับรายงานว่า มีผู้เสียชีวิตเพียง 3 ราย และ บาดเจ็บ 45 ราย

และจากเหตุการจลาจล ทำให้สื่อมวลชนทั่วโลกได้เผยแพร่ข่าวสารว่า เม็กซิโกที่กำลังจะเป็นเจ้าภาพการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกปี 1968 เกิดปัญหาการเมืองในประเทศ แต่ประธานาธิบดีกุสตาโว ต้องการแสดงให้โลกเห็นถึงเม็กซิโกที่ทันสมัยเป็นแนวหน้าของประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่ และได้กล่าวหาว่าผู้ประท้วงเป็นตัวแทนคอมมิวนิสต์ที่คิวบากับโซเวียตส่งมาเพื่อแทรกซึมระบอบการปกครองของพวกเขา 

จากความวุ่นวายที่ลากยาวมาตลอด 2 เดือนก่อนการแข่งขันโอลิมปิก ทำให้คณะกรรมการโอลิมปิกสากล หรือ IOC เลือกที่จะไม่อยู่เฉย และได้แจ้งกับรัฐบาลเม็กซิโกว่า IOC พร้อมย้ายสถานที่ไปจัดโอลิมปิกที่นครลอสแอนเจลิส, รัฐแคลิฟอร์เนีย ประเทศสหรัฐอเมริกา  ซึ่งปลอดภัยกว่า หากรัฐบาลเม็กซิโกไม่สามารถควบคุมสถานการณ์ไว้ได้ 

และมีหรือที่ประธานาธิบดีกุสตาโว จะยอมล้มเลิกโอลิมปิก ที่ได้ลงทุนไปด้วยเม็ดเงินจำนวนมหาศาลตั้งแต่สมัยประธานาธิบดี มิเกล วัลเดส ซึ่งเป็นเวลา 18 ปีที่รัฐบาลพรรคปฏิวัติแห่งชาติได้อดทนรอคอยมาเพื่อโอลิมปิก 1968 คงไม่ยอมให้งานล่มได้อย่างแน่นอน และมันก็ถึงเวลาแล้วที่รัฐบาลจะต้องงัดไม้ตายออกมาใช้ เพื่อให้ได้จัดโอลิมปิกทันเวลา 

ไม้ตาย ที่ประชาชนมือเปล่าไม่มี..

ห่ากระสุนจากผู้ฝากตัวรับใช้นาย

นิตยสาร Dissent ได้ให้คำอธิบายประเทศเม็กซิโกในปี 1968 ไว้ว่า..

“ปี 1968 ที่เม็กซิโก ซิตี้ เป็นช่วงเวลาแห่งการขยายตัวและการพังทลายของอุปสรรค เป็นเวลาสำหรับการหลอมรวมพันธมิตรระหว่างนักศึกษา คนงาน และผู้ยากไร้ในชนบท เพื่อท้าทายระบอบการเมือง มันเป็นช่วงเวลาแห่งความหวังอันยิ่งใหญ่ ดูเหมือนว่าใกล้จะถึงการเปลี่ยนแปลงแล้ว นักเรียนออกไปตามถนน ในลานกว้าง บนรถโดยสาร จัดตั้งกลุ่มพูดคุย”

เหลือเวลาอีกเพียง 10 วันเท่านั้น ไฟคบเพลิงโอลิมปิกจะถูกจุดขึ้น หากสถานการณ์ไม่สงบ มหกรรมกีฬาแห่งมวลมนุษยชาติก็คงไม่เกิด 

10จากการเคลื่อนไหวของประชาชนที่ไม่ยอมลดละ รัฐบาลจึงได้จัดตั้งกองกำลังที่เรียกว่า Olimpia Battalion เพื่อทำปฏิบัติการพิเศษหยุดยั้งการชุมนุมครั้งใหญ่ในวันที่ 2 ตุลาคม ที่จัตุรัส ปลาซา เด ลาส เตรส กุลตูราส (Plaza de las Tres Culturas) เขต Tlatelolco ในกรุงเม็กซิโกซิตี้

เช้าวันที่ 2 ตุลาคม 1968 ประชาชนมากกว่า 5 พันคน (บางแหล่งรายงานว่ามากกว่า 10,000 คน) ได้ออกมารวมตัวกันอย่างสันติที่ ที่จัตุรัสปลาซา เด ลาส เตรส กุลตูราส (Plaza de las Tres Culturas) โดยเป็นการชุมนุมซึ่งปราศจากอาวุธ ผู้คนส่วนมากมาเพื่อฟังสุนทรพจน์อย่างสงบ แม้กระทั่งอพาร์ตเมนต์ชิวาว่า (Chihuahua) ที่ตั้งล้อมจัตุรัสก็เติมไปด้วยประชาชนที่ออกมานั่งฟังการชุมนุมตรงระเบียงห้องเกือบทุกห้อง โดยในวันนั้นมีสโลแกนที่ผู้ชุมนุมได้ตะโกนลั่นตลอดเวลาว่า

“พวกเราไม่ต้องการโอลิมปิก พวกเราต้องการปฏิวัติ!!”

ขณะเดียวกัน กองกำลังตำรวจและทหารที่เรียกว่า Olimpia Battalion ก็เริ่มประชิดเข้ามาในพื้นที่ทีละเล็กทีละน้อยตั้งแต่เช้าจนถึงเย็น แต่ก็ไม่ได้ทำอะไรผู้ชุมนุม 

11จากนั้นในช่วงเย็น เฮลิคอปเตอร์ 2 ลำ ได้บินวนเหนือจัตุรัส จนถึงเวลา 17:55 น. พลุไฟสีแดงถูกยิงจากหอคอยกระทรวงการต่างประเทศเม็กซิโกที่อยู่ใกล้กับจัตุรัส จากนั้นในเวลา 18:15 น. ประธานาธิบดีกุสตาโว ก็ได้อนุมัติการสลายการชุมนุม พลุไฟสีเขียวและสีแดงถูกยิงออกมาจาก เฮลิคอปเตอร์ 2 ลำ เหนือจัตุรัส ทหาร 5,000 นายและรถถัง 200 คันเข้าปิดล้อมทุกทางออก ก่อนที่เสียงกระสุนนัดแรกจะดัง

18:15 – 19:45 น. ณ จัตุรัสปลาซา เด ลาส เตรส กุลตูราส (Plaza de las Tres Culturas) เต็มไปด้วยเสียงห่ากระสุนทุกวินาที กองกำลัง Olimpia Battalion สาดห่ากระสุนแบบไร้ทิศทางไปทั่วอาณาเขตเพื่อกวาดล้างประชาชนทั้งหมด ไม่เว้นแม้แต่ชาวบ้านที่สัญจรไปมาโดยไม่เกี่ยวข้อง นอกจากนี้กลุ่มกองกำลังยังได้กราดยิงใส่อพาร์ตเมนต์ ชิวาว่า ที่มีผู้ชุมนุมหลายคนวิ่งหนีเข้าไปหลบกระสุนปืน 

การสังหารดำเนินต่อไปตลอดทั้งคืน โดยมีทหารและตำรวจเข้าตรวจค้นอาคารบ้านเรือนทุกหลังที่อยู่ใกล้บริเวณ เพื่อตามล่าแกนนำ คณะประท้วงแห่งชาติ หรือ CHN น้ำประปา ไฟฟ้า และสัญญาณโทรศัพท์ทั่วเขต Tlatelolco ถูกตัดทิ้งตลอดทั้งคืน นอกจากนี้พยานในเหตุการณ์ได้อ้างว่ารถพยาบาลได้เข้ามาเคลื่อนย้ายผู้บาดเจ็บ และผู้เสียชีวิต แต่ก็ไม่เพียงพอเนื่องจากศพมีจำนวนมาก ต่อมาเจ้าหน้าที่ทหารได้นำรถบรรทุกเข้ามาขนศพและคนเจ็บขึ้นรถไปทิ้ง แต่ก็ยังไม่พอต่อจำนวนเหยื่ออยู่ดีจนต้องเรียกรถขนขยะเข้ามาช่วยขนศพออกไป

นอกจากนี้พยานบางรายก็ได้อ้างว่า กลุ่มกองกำลังได้ขึ้นไปประจำการบนอพาร์ตเมนต์ เพื่อตั้งปืนกล รวมถึงพลซุ่มยิงสไนเปอร์ที่ได้ขึ้นไปประจำการอยู่บนดาดฟ้าตั้งแต่ตอนเช้าแล้ว

ด้านแกนนำ CHN ถูกต้อนไปที่ผนังลิฟต์อาคารชิวาว่าใกล้กับจัตุรัส ก่อนจะถูกจับแก้ผ้าและรุมกระทืบจนปางตาย

12เอเลน่า โพเนียทอฟสก้า นักข่าวชาวเม็กซิกันที่อยู่ในเหตุการณ์คืนนั้น ได้อธิบายถึงความน่าสยดสยองผ่านหนังสือ Massacre in Mexico ของเธอว่า “ทันใดนั้นเปลวไฟก็ปรากฏขึ้นบนท้องฟ้าและทุกคนก็เงยหน้าขึ้นมองโดยอัตโนมัติ จากนั้นก็ได้ยินเสียงปืนนัดแรก ฝูงชนตื่นตระหนกและวิ่งกระจายไปทุกทิศทาง แม้คณะประท้วงแห่งชาติ จะพยายามทำให้ผู้คนสงบลง แต่ฝูงชนในจัตุรัสก็ตกอยู่ในความโกลาหลอย่างรวดเร็ว”

ที่น่าตกใจคือจัตุรัสปลาซา เด ลาส เตรส กุลตูราส (Plaza de las Tres Culturas) สถานที่เกิดเหตุอยู่ห่างจากหมู่บ้านนักกีฬาแค่ 11 ไมล์ (17.7 กิโลเมตร) เท่านั้น

เหมือนไม่มีอะไรเกิดขึ้น

เมื่อฟ้าสว่าง เสียงห่ากระสุนก็ได้เงียบลง สื่อทุกเจ้าถูกรัฐบาลสั่งให้รายงานตรงกันว่ากลุ่มผู้ชุมนุมได้ทำการยิงยั่วยุกลุ่มกองกำลังก่อน โดยรายงานอย่างเป็นทางการจากรัฐบาลเม็กซิโกอ้างว่า มีผู้เสียชีวิต 4 คน แต่โรงพยาบาลในท้องถิ่นได้รายงานตัวเลขเป็นจำนวน 26 คน อีกกว่า 100 คนได้รับบาดเจ็บ และผู้ประท้วงกว่า 1,000 คนถูกกักขังโดยกองทัพเม็กซิกัน ผู้ที่ถูกกักขังถูกซ้อม และทำร้ายร่างกายปางตาย หลายคนหายสาบสูญ ซึ่งจากการคาดการณ์การเสียชีวิตอย่างเป็นเอกฉันท์จากสื่อทั่วโลก ว่าผู้เสียชีวิตจริงแล้วมีประมาณ 300 – 400 รายจากการประเมินโดยคร่าว ๆ 

ที่ร้ายไปกว่านั้นคือโอลิมปิกก็ถูกจัดขึ้นตามกำหนดการในวันที่ 12 ตุลาคม 1968 โดยทำเหมือนไม่มีอะไรเกิดขึ้น ไม่มีการออกมาโต้แย้งใดใดจากนานาชาติ ราวกับว่าค่ำคืนสังหารหมู่ที่จัตุรัส (Plaza de las Tres Culturas) ไม่มีอยู่จริงบนโลกใบนี้ 

13และในวันที่ 12 ตุลาคม 1968 ไฟคบเพลิงโอลิมปิกก็ถูกจุดโดย เอ็นริเกต้า บาซิลิโอ นักกรีฑาหญิงชาวเม็กซิกัน ซึ่งเธอเป็นผู้หญิงคนแรกในประวัติศาสตร์ที่ได้จุดคบเพลิงโอลิมปิกอีกด้วย นอกจากนี้ ประธานาธิบดีกุสตาโว ดิอาซ ออร์ดาซ ก็ได้เข้ามาเป็นประธานในพิธีเปิดกีฬาโอลิมปิกอย่างหน้าซื่อ ๆ

การแข่งขันดำเนินไปอย่างปกติ ถึงแม้จะมีเหตุการณ์สำคัญอีกหนึ่งหน้าประวัติศาสตร์โลก นั่นคือ Black Power Salute ที่สองนักกีฬาผิวดำชาวอเมริกัน ทอมมี่ สมิธ กับ จอห์น คาร์ลอส ชูกำปั้นขึ้นฟ้าในช่วงร้องเพลงชาติหลังรับเหรียญจนเป็นเหตุการณ์ที่ดังไปทั่วโลก 

14การแข่งขันจบลงด้วยดีในวันที่ 27 ตุลาคม 1968 พร้อมกับการปิดข่าวการสังหารหมู่อย่างแน่นหนาจากรัฐบาลของประธานาธิบดีกุสตาโว เรื่องน่าเศร้าคือ แม้ว่าโอลิมปิกที่เม็กซิโกจะจบสิ้นไป แต่เหตุการณ์สังหารหมู่ครั้งนั้นกลับไม่ถูกสอบสวนหรือตามหาผู้กระทำความผิด มิหนำซ้ำประธานาธิบดีกุสตาโว ยังดำรงตำแหน่งจนครบวาระในวันที่ 30 พฤศจิกายน 1970

จากนั้นประเทศเม็กซิโกจำต้องทนถูกพรรคการเมืองเผด็จการฝ่ายขวาปกครองประเทศต่อมาอีก 32 ปี ก่อนที่ปี 2000 จะได้นาย วิเซนเต ฟ็อกซ์ จากพรรคการเมืองแห่งชาติเข้ามาเป็นประธานาธิบดีคนที่ 62 ของประเทศ ปิดฉากการทำงานของพรรคปฏิวัติแห่งชาติไว้ที่ 72 ปี

ประธานาธิบดีวิเซนเต ฟ็อกซ์ ได้ตั้งคณะกรรมการสอบสวนเหตุการณ์สังหารหมู่ที่จัตุรัสปลาซา เด ลาส เตรส กุลตูราส (Plaza de las Tres Culturas) ขึ้นมาในปี 2001 และได้สั่งให้ทำการเผยแพร่เอกสารลับคำสั่งสังหารหมู่ในปี 1968 และได้ข้อสรุปในปี 2006 ว่าอดีตประธานาธิบดีหลุยส์ เชเวอร์เรีย ที่ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยในสมัยประธานาธิบดีกุสตาโว ดิอาซ ออร์ดาซ เป็นผู้ออกคำสั่งให้ยิง 

แม้ว่าย้อนกลับไปในปี 1998 ในยุคของประธานาธิบดี เออร์เนสโต เซดิลโล ได้ทำการรื้อฟื้นคดีสังหารหมู่ขึ้นมาก่อนหน้านี้แต่ก็ไม่สำเร็จ เพราะถูกแรงกดดันจากภายในพรรคปฏิวัติแห่งชาติที่เขาสังกัดอยู่ไม่ให้เผยแพร่

15ในปี 2002 เคท ดอยล์ จากสถาบันการวิจัยและหอจดหมายเหตุที่ไม่แสวงหาผลกำไรในกรุงวอชิงตัน ดี.ซี ประเทศสหรัฐอเมริกา ได้เผยจำนวนตัวเลขผู้เสียชีวิตที่แท้จริงผ่านรายการวิทยุ All Things Considered จากการทำงานร่วมกับ ซูซาน่า ซาวาล่า นักวิจัยชาวเม็กซิกัน พบว่า มีผู้เสียชีวิต 44 ราย โดยทราบชื่อจริง 34 ราย

นอกจากนี้ในปีเดียวกัน (2002) อดีตประธานาธิบดีเม็กซิโกคนที่ 59 นายมิเกล เดอ ลา มาดริด ได้ขอให้กองทัพและปลัดกระทรวงมหาดไทยเผยเอกสารและรูปถ่ายของการประท้วง และถูกกดดันจากประชาชนอย่างมากที่เกรงว่าจะไม่สอบสวน แต่ภายหลังทางกองทัพและกระทรวงมหาดไทยอ้างว่าไฟล์เอกสารของพวกเขาไม่เป็นระเบียบและพวกเขาไม่มีข้อมูลอะไรเกี่ยวกับเหตุการณ์สังหารหมู่เลย

อย่างไรก็ดี ในปี 2009 ศาลเม็กซิโกก็ได้ยกฟ้องเนื่องจากมองว่าไม่มีหลักฐานเพียงพอที่จะเชื่อมโยงกับประธานาธิบดีหลุยส์ เชเวอร์เรีย ได้

ปัจจุบันวันที่ 2 ตุลาคมของทุกปี ได้กำหนดให้เป็นวันไว้ทุกข์แห่งชาติเม็กซิโกมาตั้งแต่ปี 2008 และจัดงานเดินขบวนเพื่อรำลึงถึงเหตุการณ์ครั้งนั้น เป็นประจำตลอดมา รวมไปถึงประเพณีการสาดสีแดงใส่รูปปั้นนาย กุสตาโว ดิอาซ ออร์ดาซ ที่เมืองซัปโปปันในทุก ๆ ปี 

16จากการสำรวจระดับชาติโดยการตอบแบบสอบถามพิจารณาว่าการบริหารประเทศของ ของประธานาธิบดี กุสตาโว ดิอาซ ออร์ดาซ ที่ดำเนินการในปี 2012 พบว่า 27% ตอบว่า “ดี” 20% ตอบว่า “ปานกลาง” และ 45% ตอบว่า “แย่มาก” 

และในปี 2018 รัฐบาลเม็กซิโกซิตี้ก็ได้ปลดโล่ประกาศเกียรติคุณทั้งหมดของ กุสตาโว ดิอาซ ออร์ดาซ ออกจากสารบบทุกอย่างทั่วประเทศ

แม้ว่าเหตุการณ์สังหารหมู่ก่อนพิธีเปิดโอลิมปิก 1968 จะค่อย ๆ จางหายไปจากความทรงจำ และหน้าหนังสือเมื่อเทียบกับเหตุการณ์อื่น ๆ ดังเช่นเหตุการณ์จับตัวประกันในโอลิมปิก 1972 แต่มันจะเป็นเรื่องราวที่ถูกกล่าวขานจากรุ่นสู่รุ่นในสังคมเม็กซิโกไปอีกนาน และสามารถนำไปเป็นกรณีศึกษาในอนาคตให้คนรุ่นใหม่ได้ทราบถึงความโหดร้ายในอดีต 

และไม่ควรมีรัฐบาลไหน ที่โหดร้ายกับประชาชนแบบนี้

แท็กที่เกี่ยวข้อง

เรื่องอื่นที่น่าสนใจ