โฆษกเพื่อไทย เผย ครอบครัวเพื่อไทยลุยเชียงใหม่ ผลตอบรับดีเกินคาด สวน ปชป. ทำความเข้าใจ Soft power ให้ดีก่อน ลั่นไม่เคยลอกนโยบายใคร
วันที่ 12 ก.ย.2565 ที่พรรคเพื่อไทย น.ส.ธีรรัตน์ สำเร็จวาณิชย์ ส.ส.กทม.และโฆษกพรรคเพื่อไทย (พท.) กล่าวว่า กิจกรรมครอบครัวเพื่อไทย สะบัดชัย เพื่อไทยมาเหนือ จ.เชียงใหม่ ได้รับความสนใจจากชาวเชียงใหม่ จังหวัดใกล้เคียงและทั่วประเทศเป็นอย่างมาก ทั้งการเปิดตัวว่าที่ผู้สมัคร ส.ส.ภาคเหนือตอนบน ครบทั้ง 40 เขต และยังมีผู้สนใจเข้าร่วมครอบครัวเพื่อไทยอีกจำนวนมาก
รวมทั้งการลงพื้นที่รับฟังปัญหา หารือ และแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับประชาชนในพื้นที่ทุกสาขาอาชีพ ตั้งแต่วันที่ 9-10 ก.ย. นำโดย น.ส.แพทองธาร ชินวัตร หัวหน้าครอบครัวเพื่อไทย โดย ส.ส. สมาชิกพรรค คณะทำงานด้านนโยบาย จะนำข้อร้องเรียน ข้อเสนอแนะของประชาชน พัฒนามาเป็นนโยบายพรรค เพื่อตอบสนองต่อความต้องการของประชาชนต่อไป
จากการเปิดตัวนโยบายแรก 2 นโยบาย ได้แก่ 1.นโยบายด้านการเกษตร ภายใต้แนวคิด ตลาดนำ นวัตกรรมเสริม เพิ่มรายได้ 2.นโยบาย 1 ครอบครัว 1 Soft Power นโยบายที่จะสร้างเงินจากฝีมือของ 1 คนในครอบครัว
ทั้ง 2 นโยบาย ประชาชนตอบรับเป็นอย่างดี และรอคอยการประกาศนโยบายใหม่ๆ ที่ทีมนโยบายของพรรคดำเนินการพัฒนาอย่างรอบคอบ เพื่อเกิดประโยชน์กับประชาชนมากที่สุด หากชนะเลือกตั้งแบบแลนด์สไลด์ สิ่งที่เราคิดไว้ พร้อมทำทันที
ส่วนที่คนในพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) ออกมาตอบโต้น.ส.แพทองธาร ว่าลอกนโยบาย ทั้งในเรื่องคำว่าเซลล์แมนขายสินค้าเกษตรในต่างประเทศ หรือ Soft power โดยระบุว่านายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกฯ และรมว.พาณิชย์ ทำมาตลอดนั้น บุคคลนั้นอาจไม่ทราบความหมายที่แท้จริงของคำว่า Soft power เพราะคือการนำวัฒนธรรม เอกลักษณ์ หรือจุดเด่นมาเป็นจุดขาย ร่วมกับการใช้ความสมัยใหม่และเป็นสากล สร้างรายได้ ขยายไปในตลาดโลกนำรายได้เข้าสู่ประเทศ
Soft power ของเพื่อไทยคือ ต้นทุนทางวัฒนธรรมที่ดำรงอยู่ในวิถีชีวิต วัฒนธรรม และสังคมไทย มีความสร้างสรรค์ ความละเมียดที่ดำรงอยู่ที่แสดงออกผ่านการปรุงอาหาร การประดิษฐ์สร้างสรรค์ หัตถกรรม ไปจนถึงงานศิลปะทุกแขนง ความสามารถด้านกีฬา การเขียน software และความสามารถทาง e-sport ฯลฯ แต่หากมาดูผลงานที่เป็นชิ้นเป็นอันเกี่ยวกับ Soft Power ของกระทรวงพาณิชย์โดยนายจุรินทร์นั้น ยังถูกตั้งคำถาม เพราะที่ผ่านมาคนไทยที่มีฝีมือ หรือองค์กรภาคเอกชน ล้วนดิ้นรนหาทางเติบโตเองทั้งสิ้น
นอกจากนี้คำว่า เซลล์แมน หรือ ทูตการค้า บุคคลที่ริเริ่มใช้คำนี้คือ นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯ ในยุครัฐบาลพรรคไทยรักไทย ที่กระตุ้นให้ผู้แทนทางการทูตในต่างประเทศในขณะนั้น ร่วมมือกันขายภาพพจน์และภาพลักษณ์ที่ดีของไทย ไปเจาะตลาด สร้างรายได้ในต่างประเทศ นำสินค้าไทยไปขายในเวทีโลก ทั้งหมดเป็นการสานต่อแนวคิดเปลี่ยนสนามรบเป็นสนามการค้าของ พล.อ.ชาติชาย ชุณหะวัณ อดีตนายกฯ ซึ่งมีแนวคิดสร้างเศรษฐกิจเพื่อความอยู่ดีกินดีของประชาชนเช่นเดียวกัน หากใครจะเอาคำนี้ไปใช้ ก็ไม่ว่ากันหากทำแล้วเป็นประโยชน์กับประชาชน
น.ส.ธีรรัตน์ กล่าวอีกว่า รัฐบาลพรรคไทยรักไทย พลังประชาชน จนมาถึงพรรคเพื่อไทย ได้คิดค้นและพัฒนาแนวคิดจากหลายภาคส่วนทั้งและต่างประเทศ จนต่อยอดมาเป็นนโยบายใหม่ที่เกิดขึ้นครั้งแรกในไทย ล้วนเปลี่ยนชีวิตให้กับคนไทย ไม่ว่าโครงการ 30 บาทรักษาทุกโรคที่คิดค้นขึ้นใหม่ครั้งแรก นโยบาย 1 ตำบล 1 ผลิตภัณฑ์ โครงการ 1 อำเภอ 1 ทุน (ODOS) บ้านเอื้ออาทร นโยบายพักหนี้ กองทุนพัฒนาชุมชน กองทุน SML จัดตั้ง TCDC และ TK Park ที่ช่วยสนับสนุนเศรษฐกิจสร้างสรรค์ ซึ่งเป็นแขนงหนึ่งของ Soft power และอีกมากมายที่พัฒนาต่อยอด คิดใหม่ ทำใหม่ให้กับคนไทย
จนกลายมาเป็นนโยบายหลักที่สร้างความเท่าเทียม สร้างโอกาส สร้างบรรทัดฐาน สร้างชีวิตใหม่ ให้กับคนไทยมาจนถึงปัจจุบัน ซึ่งไม่มีรัฐบาลไหนยกเลิกโครงการดังกล่าวได้ แม้แต่รัฐบาลนี้ก็ยังต้องดำเนินการต่อ พล.อ.ประยุทธ์ เองยังเคยนำเอาโครงการ 30 บาทรักษาทุกโรค ไปพูดบนเวทีโลก แต่พรรคเพื่อไทยไม่ได้แสดงท่าทีอื่นใดต่อการกระทำดังกล่าว