เปิดข้อมูล 25 พรรคถูกร้องยุบ เพื่อไทยมากสุด พปชร.อันดับสอง ยุติเรื่องแล้ว 61 เรื่อง เหตุไม่มีมูล เหลือ 19 เรื่อง ก้าวไกล-ภูมิใจไทย โล่ง ไร้คำร้องยุบแล้ว
เมื่อวันที่ 16 มี.ค.2566 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากกรณีที่คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ได้รับคำร้องขอให้พิจารณาสั่งยุบพรรคการเมืองต่างๆ เนื่องจากกระทำการฝ่าฝืนมาตรา 92 พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง 2560 นั้น จากข้อมูลพบว่าตั้งแต่ปลายปี 63 จนถึงต้นปี 66 มีพรรคการเมืองถูกร้องทั้งสิ้น 25 พรรค รวม 83 เรื่องร้องเรียน ในจำนวนนี้มี 61 เรื่องที่นายทะเบียนพรรคการเมืองเห็นว่าไม่มีมูลจึงให้ยุติเรื่อง และอีก19 เรื่องอยู่ระหว่างการพิจารณา
ทั้งนี้ใน 25 พรรค ที่ถูกยื่นเรื่องร้องยุบพรรคมากที่สุดคือ พรรคเพื่อไทย 33 เรื่อง ยุติเรื่องแล้ว 27 เรื่อง อยู่ระหว่างพิจารณา 6 เรื่อง พรรคพลังประชารัฐถูกร้อง 15 เรื่อง ยุติเรื่องแล้ว 11เรื่อง อยู่ระหว่างพิจารณา 3 เรื่อง อีก 1 เรื่องมีการถอนคำร้อง พรรคประชาธิปัตย์ถูกร้อง 3 เรื่องยุติเรื่องแล้ว 2 เรื่อง พรรคพลังธรรมใหม่ถูกร้อง 3 เรื่อง ยุติเรื่องแล้ว 2 เรื่อง
ส่วนพรรคก้าวไกลถูกร้อง 5 เรื่อง พรรคภูมิใจไทยถูกร้อง 2 เรื่อง พรรคคลองไทยถูกร้อง 2 เรื่อง พรรคไทยสร้างไทย พรรคประชาชาติ พรรคชาติพัฒนา พรรคชาติพัฒนาเพื่อแผ่นดิน พรรครักษ์ประเทศไทย พรรคพลังชล พรรครักษ์สันติ พรรคชาติไทยพัฒนา พรรคมาตุภูมิ และพรรค มหาชน ซึ่งถูกร้องพรรคละ1เรื่องนั้น นายทะเบียนพรรคการเมืองมีความเห็นยุติเรื่องแล้วทั้งหมด
ขณะที่ พรรคไทรักธรรม ซึ่งถูกร้อง 3 เรื่อง ศาลรัฐธรรมนูญได้มีคำวินิจฉัยยุบพรรคจากเหตุที่ถูกร้องไปแล้ว 2 เรื่อง เหลืออยู่ในระหว่างการพิจารณา 1 เรื่อง
อย่างไรก็ตาม พรรคเสรีรวมไทย พรรครวมไทยสร้างชาติ พรรคพลังไทยรักไทย พรรคประชาธรรมไทย พรรคพลังชาติไทย พรรคครูไทยเพื่อประชาชน และพรรคพลเมืองไทย ถูกร้องพรรคละ 1 เรื่อง และเรื่องยังอยู่ระหว่างการพิจารณา
สำหรับตัวอย่างคำร้องที่เคยอยู่ในความสนใจและยุติเรื่องแล้ว อาทิ การร้องให้ยุบพรรคพลังประชารัฐเนื่องจากไม่สามารถทำตามนโยบายที่หาเสียงไว้ในการเลือกตั้งเมื่อปี 62 การมอบสิทธิ์ให้พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ เลือกบุคคลเป็นรัฐมนตรี หรือการเลือกร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า เป็นเลขาธิการพรรค การที่พรรคยอมให้พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ซึ่งไม่ได้เป็นสมาชิกพรรคชี้นำ ครอบงำ
การร้องให้ยุบพรรคเพื่อไทย เนื่องจากการยอมให้นายทักษิณ ชินวัตร ซึ่งไม่ได้เป็นสมาชิกพรรคชี้นำครอบงำ การดำเนินกิจการพรรค ทั้งจากเหตุมีจดหมายน้อยมาช่วยหาเสียงเลือกตั้งนายก อบจ. เชียงราย คลิปลับพูดคุยชี้นำสมาชิกพรรคในงานเลี้ยงวันเกิดของนายเกรียง กัลป์ตินันท์ การเสนอแก้ ป. อาญามาตรา 112 กรณีพล.อ.พัลลภ ปิ่นมณี อ้างถูกนายทักษิณ ปลดออกจากสมาชิกพรรค คลิปงานเลี้ยงพรรคเพื่อไทยที่ชูคุณหญิงพจมาน ณ ป้อมเพชร เป็นหัวหน้าพรรคและแนวทางการทำให้พรรคชนะแบบแลนสไลด์ การปรากฏข้อความบนเว็บไซต์ของพรรคเพื่อไทย ชวนประชาชนรวมพลไล่ประยุทธ์
หรือ การร้องให้ยุบพรรคก้าวไกล จากกรณีสมาชิกพรรคใช้ตำแหน่งส.ส.ประกันตัวผู้ชุมนุมกลุ่มเยาวชนปลดแอก การอภิปรายงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2565 ในส่วนงบประมาณของส่วนราชการในพระองค์ การร่วมมือกับชมรมแพทย์ชนบทตรวจเชิงรุกหาเชื้อโควิด -19 การที่ยอมให้คณะก้าวหน้าที่มีนายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ เป็นประธาน ชี้นำครอบงำ การดำเนินกิจการพรรค เป็นต้น
การที่นายทะเบียนพรรคการเมือง มีความเห็นให้ยุติเรื่องเป็นการใช้อำนาจตามข้อ 7 วรรคสอง ของระเบียบกกต.ว่าด้วยการรวบรวมข้อเท็จจริงและพยานหลักฐานของนายทะเบียนพรรคการเมือง 2564 ที่กำหนดว่า ในกรณีนายทะเบียนพรรคการเมือง เสนอข้อเท็จจริงและพยานหลักฐานพร้อมความเห็นว่า ไม่มีหลักฐานอันควรเชื่อได้ว่า พรรคใดกระทำการตามมาตรา 92 แห่งพ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง 2560 หากกกต.เห็นชอบตามความเห็นของนายทะเบียนฯ และแจ้งให้ผู้ร้องทราบ ในกรณีข้อเท็จจริงปรากฏต่อนายทะเบียนฯ ให้สั่งยุติเรื่อง ซึ่งคำร้องที่ยุติเรื่องแล้วทางสำนักงานฯได้มีหนังสือแจ้งให้ผู้ร้องทราบแล้ว
ส่วนการร้องพรรคภูมิใจไทย ที่เลือกเข้าร่วมรัฐบาลกับพรรคพลังประชารัฐ ทั้งที่พรรคพลังประชารัฐมีคะแนนมาเป็นอันดับ 2 การที่นายอนุทิน ชาญวีรกูล หัวหน้าพรรค ให้เงินค่าตอบแทนอสม.เพื่อจูงใจ ให้เลือกนางแว่นฟ้า ทองศรีภรรยานายทรงศักดิ์ ทองศรี รองหัวหน้าพรรคภูมิใจไทยเป็นนายกอบจ.บึงกาฬ นายทะเบียนพรรคได้สั่งยุติเรื่อง
ส่วน 19 เรื่องยุบพรรค ที่ยังอยู่ระหว่างการพิจารณา เช่น กรณีปรากฏหลักฐาน ไลน์การโอนเงินเข้าบัญชี 6ส.ส.พรรคเล็ก การที่พรรคเพื่อไทย แต่งตั้งนายณัฐวุฒิ ไสยเกื้อ ซึ่งเป็นผู้ถูกตัดสิทธิ์ทางการเมืองเป็นผู้อำนวยการครอบครัวเพื่อไทย การที่ น.ส.แพทองธาร ชินวัตร บินพบนายทักษิณที่ฮ่องกง การจัดประชุมใหญ่ของพรรครวมไทยสร้างชาติซึ่งมีการปราศรัยพาดพิงสถาบัน เป็นต้น