เพื่อไทย เปิดศึก ‘ไล่รัฐบาล’ ผ่านสภาฯ ชี้ ‘สภาล่ม’ ต้องรับผิดชอบด้วยการ ‘ออกไป’

Home » เพื่อไทย เปิดศึก ‘ไล่รัฐบาล’ ผ่านสภาฯ ชี้ ‘สภาล่ม’ ต้องรับผิดชอบด้วยการ ‘ออกไป’


เพื่อไทย เปิดศึก ‘ไล่รัฐบาล’ ผ่านสภาฯ ชี้ ‘สภาล่ม’ ต้องรับผิดชอบด้วยการ ‘ออกไป’

เพื่อไทย ประกาศ “ไล่รัฐบาล” ผ่านกลไกสภาฯ ชี้ รักษาองค์ประชุมไม่ได้ ก็ลาออกไป ยัน การไม่เป็นองค์ประชุมให้ฝ่ายรัฐบาล จน “สภาล่ม” ถือเป็นการตรวจสอบรัฐบาล

จากกรณี เมื่อวันที่ 4 ก.พ. ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ที่มีนายชวน หลีกภัย ประธานสภาฯ เป็นประธานการประชุม ระหว่างพิจารณารายงานคณะกรรมาธิการศึกษาเรื่องผลกระทบและแนวทางแก้ไขปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งทะเลไทยอย่างยั่งยืน หลังสมาชิกอภิปรายอย่างกว้างขวาง จนถึงเวลา 14.05 น. นายชวน กดออดเรียกสมาชิกเพื่อตรวจสอบองค์ประชุม ก่อนลงมติรับทราบรายงานดังกล่าว

แต่มีสมาชิกอยู่ในห้องประชุมบางตา นายชวน จึงพยายามรอ ใช้เวลากว่า 20 นาที แต่สมาชิกดูแล้วยังไม่ครบองค์ประชุม ทำให้นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ ส.ส.เชียงใหม่ พรรคเพื่อไทย เสนอให้พักการประชุม 30 นาที แต่นายชวน อนุญาตให้พักเพียง 15 นาที แต่สุดท้ายไม่ได้พัก

จากนั้น ส.ส.พรรคภูมิใจไทย มีการเสนอให้นับองค์ประชุมแบบขานชื่อ แต่ฝ่ายค้านขอให้นับองค์ประชุมแบบเสียบบัตรแสดงตน นายชวนวินิจฉัยให้แสดงตน แต่นายจุลพันธ์ คัดค้าน ระบุว่า กำหนดจะประชุมถึงเวลาประมาณ 17.00 น. หากนับองค์ประชุมแบบขานชื่อ กว่าจะเสร็จก็เวลา 17.30 น. ไม่ต้องประชุมต่ออยู่ดี ถ้าเดิมเกมเช่นนี้ ฝ่ายค้านไม่ยุ่งด้วย และขออยู่นอกห้องประชุม

ต่อมา นายศุภชัย ใจสมุทร ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคภูมิใจไทย กล่าวว่า ญัตติที่เสนอน่าจะไม่ถูกต้อง เพราะไม่มี ส.ส.รับรอง ดังนั้นญัตติจึงไม่ชอบ นายชวน กล่าวว่า เมื่อ นายศุภชัย ยืนยันว่า ญัตติไม่ถูกต้อง ดังนั้นที่ให้นับองค์ประชุมแบบขานชื่อ ก็เปลี่ยนแปลงได้ จากนั้นนายจิรายุ ห่วงทรัพย์ ส.ส.กทม. พรรคเพื่อไทย กล่าวว่า ญัตติที่ตนเสนอให้ขอนับองค์ประชุมแบบเสียบบัตร ยังอยู่ เพราะมีสมาชิกรับรองกว่า 20 คน

ต่อเวลา 14.45 น. นายชวน กดออดเชิญให้สมาชิกเข้าห้องประชุมเพื่อเสียบบัตรแสดงตน ปรากฏว่า มีสมาชิกเพียง 197 คน ไม่ถึง 237 คน ถือว่าไม่ครบองค์ประชุม นายชวนจึงสั่งปิดการประชุมในเวลา 14.50 น.ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สภาฯล่มครั้งถือเป็นครั้งที่สองของเดือนกุมภาพันธ์ และ เป็นครั้งที่ 16 ของสภาผู้แทนฯชุดนี้

จากกรณีดังกล่าว นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ ส.ส.เชียงใหม่ พรรคเพื่อไทย โพสต์ข้อความทางทวิตเตอร์ ชี้แจง หลังถูกตั้งคำถามเรื่องพรรคเพื่อไทยไม่แสดงองค์ประชุม ในการพิจารณารายงานกฎหมายสำคัญ เช่นการพิจารณากฎหมายสุราก้าวหน้า หรือกรณี ร่าง พ.ร.บ.บำนาญแห่งชาติ โดย ระบุดังนี้

(1) เรื่อง สภาล่ม สองครั้งในวีคนี้ หลายคนสับสนว่าเหตุใด เพื่อไทย จึงไม่ร่วมเป็นองค์ประชุม แตกต่างจากก้าวไกลที่อยู่เป็นองค์ประชุม ขอชี้แจงดังนี้ครับ

1. เหตุผลง่ายๆ คือเป้าหมายหลักของพรรคเพื่อไทย คือการยุติการสืบทอดอำนาจของ พล.อ.ประยุทธ์ และการที่สภาล่ม เป็นสัญญานชี้ว่ารัฐบาลไม่อาจคุมเสียงข้างมากในสภาได้ จะเป็นตัวเร่งให้ยุบสภาเร็วขึ้น เหมือนที่ พล.อ.ประยุทธ์ให้สัมภาษณ์วันนี้ว่า ถ้าไม่อยากเลือกตั้ง สภาต้องไม่ล่มยืนยันครับ พรรคเพื่อไทยอยากเลือกตั้ง คืนอำนาจให้ประชาชน

2. เรื่อง พรบ.สุรา จริงๆ คือพรบ.สรรพสามิต เสนอโดย สส.เท่า มติพรรคเพื่อไทยคือแสดงตนและเห็นชอบกับ พรบ. แต่มติที่ไม่ร่วมแสดงตน คือญัตติของรัฐบาลที่ว่าจะขอส่ง พรบ.ให้รัฐบาลไปพิจารณาสองเดือน เพราะเป็นแค่เกมเตะถ่วงของรัฐบาลเท่านั้น และจะเสียเวลาประมาณ4เดือนเป็นอย่างต่ำ (2เดือน ครม. อีก 1 เดือนปิดสมัยประชุม อีก 1 เดือนกลับมารอคิว ตามวาระสภา) และเมื่อกลับมายังสภา ทุกฝ่ายก็ทราบอยู่แล้วว่ารัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ ไม่มีทางผ่าน กม.จาก สส.ฝ่ายค้าน เด็ดขาด สุดท้ายก็ตก แต่เข้าใจทุกฝ่าย ว่าทางผู้เสนอย่อมประสงค์จำนำเสนอและฝากความคิดไว้ในสังคม แต่เมื่อไม่อาจเล็งผลเลิศ เพื่อไทยเลือกให้สภาล่ม เอา พล.อ.ประยุทธ์ ไปไวๆดีกว่า

3.วันนี้ สดๆร้อนๆ สภาล่มก่อนรายงานเรื่องบำนาญ ข้อเท็จจริงคือมีอีกหนึ่งรายงานก่อนจะถึงบำนาญ และรายงานเหล่านี้เป็นรายงานจาก กมธ.ศึกษามาเสนอสภา พรรคเพื่อไทยมีมติรับรายงานเรื่องบำนาญถ้วนหน้านี้ครับ แต่รายงานนี้ไม่ใช่การแก้กม. ไม่มีผลบังคับใช้ การไปบิดเบือนว่ารายงานนี้จะทำให้เกิดระบบบำนาญจริงเป็นเรื่องเท็จ เมื่อสภามีมติรับรายงาน จะต้องลงมติต่อว่าจะให้ส่งข้อสังเกตให้รัฐบาลหรือไม่ แต่การส่งข้อสังเกตไม่มีผลทางบังคับต่อรัฐบาล จะทำหรือไม่ทำก็ได้ ดีไม่ดีไม่ได้อ่าน สภาส่งเรื่องแบบนี้ไปรัฐบาลหลายครั้ง ไม่เห็น พล.อ.ประยุทธ์ เอาไปทำซักเรื่อง สุดท้าย ขอบพระคุณสำหรับคำติชม แต่เมื่อเป็นมติจากพรรคร่วมฝ่ายค้าน เพื่อไทยยืนยันเดินตามมติ และไม่ขอเป็นองค์ประชุมให้ พล.อ.ประยุทธ์ ยืดอายุต่อไปอีก ส.ส.อย่างผมยอมตกงาน ให้ยุบสภา เลือกตั้งใหม่ เอาพล.อ.ประยุทธ์ ออกไปครับ

ด้าน น.ส. จิราพร สินธุไพร ส.ส.ร้อยเอ็ด พรรคเพื่อไทย เขียนข้อความผ่านเฟซบุ๊ก ระบุ ตอนอยากเป็นรัฐบาลยอมทำทุกวิถีทางจนได้เป็นรัฐบาลลากตั้ง แต่พอบริหารล้มเหลว ไม่สามารถทำให้ ส.ส.รัฐบาลมาประชุมได้จนสภาล่มซ้ำซาก กลับโทษฝ่ายค้านว่าไม่เป็นองค์ประชุม สรุปรัฐบาลนี้ขับเคลื่อนได้ด้วยเสียงข้างน้อยหรือ?

การที่พรรคร่วมฝ่ายค้านเสนอนับองค์ประชุม และไม่แสดงตน ถือเป็นการตรวจสอบการทำงานของรัฐบาลตามกลไกรัฐสภา และยังยืนยันถึงเจตนารมณ์ที่จะไม่ช่วยต่อลมหายใจให้กับรัฐบาลเผด็จการสืบทอดอำนาจที่หมดสภาพในการบริหารประเทศ ไม่สามารถแก้ไขปัญหาให้ประชาชนได้ อย่าลืมว่ารัฐบาลพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา เข้าสู่อำนาจด้วยการทำรัฐประหาร และใช้รัฐธรรมนูญฉบับปี 2560 เป็นบันไดเพื่อให้ตนเองสามารถสืบทอดอำนาจต่อ ใช้ ส.ว. 250 คน มาค้ำบัลลังก์ เกิด ส.ส. ปัดเศษมากมายจนสุดท้ายได้ตั้งรัฐบาลแบบเสียงปริ่มน้ำ

มีการใช้พลังดึง ส.ส. จากฝ่ายค้าน ไปร่วมรัฐบาลจนเสียงรัฐบาลและฝ่ายค้านแตกต่างกันมากไม่ปริ่มน้ำเหมือนตอนเริ่มต้น แต่ต่อมาเกิดปัญหาภายในพรรคพลังประชารัฐทำให้ ส.ส.บางส่วนย้ายออก ส่งผลต่อเสถียรภาพของรัฐบาล ทั้งหมดนี้เป็นปัญหาของ พล.อ.ประยุทธ์ และ พรรคร่วมรัฐบาลที่สร้างผลกระทบต่อการบริหารราชการแผ่นดินโดยตรง

ถ้ารัฐบาลพลเอกประยุทธ์ใส่ใจปัญหาและผลประโยชน์ของประชาชนจริง จะไม่มีวันที่สภาล่มซ้ำซาก เพราะรัฐบาลคือเสียงข้างมากในสภาฯ ตอนอยากเป็นรัฐบาลทำทุกอย่างเพื่อให้สามารถเป็นรัฐบาลลากตั้ง แต่พอบริหารล้มเหลวไม่สามารถทำให้ ส.ส.ฝั่งรัฐบาลมาทำงานได้จนสภาฯ ล่ม กลับมาโทษฝ่ายค้านว่าไม่เป็นองค์ประชุมให้ ถ้าหวังบริหารประเทศด้วยเสียงข้างน้อยก็ไม่ควรดันทุรังเป็นรัฐบาลต่อ พประยุทธ์ต้องรับผิดชอบด้วยการยุบสภาหรือลาออก เพื่อเปิดทางให้คนที่พร้อมบริหารประเทศมาทำหน้าที่แทน

นายภูมิธรรม เวชยชัย แกนนำพรรคเพื่อไทย โพสต์ข้อความทางทวิตเตอร์ ระบุว่า แสดงให้เห็นว่า “รัฐบาล พอได้แล้ว ..หมดความชอบธรรมที่จะบริหารต่อไป” แต่บางคนไม่เข้าใจ บางคนแกล้งไม่เข้าใจ ที่..พรรคเพื่อไทย กำลังเดินแนวทางการเมืองปัจจุบัน คือการทำหน้าที่ตรวจสอบ ถ่วงดุลย์เสียงข้างมาก…ในฐานะและบทบาทของเสียงข้างน้อยในระบอบประชาธิปไตย…หลักการง่ายๆ ในระบบตรวจสอบ ถ่วงดุลตามสิทธิของเสียงข้างน้อย ตามหลักการ องค์ประชุมเป็นภาระหน้าที่ของรัฐบาล ที่ต้องทำให้ครบองค์ สภาล่มจึงเป็นภาระและความรับผิดชอบของรัฐบาล ถ้าทำไม่ได้ก็บริหารไม่ได้ ควร แสดงความรับผิดชอบ..”ลาออกไป” เข้าใจมั้ย “ลุงตู่”

ด้าน นายชลน่าน ศรีแก้ว หัวหน้าพรรคเพื่อไทย ส.ส.น่าน เขียนข้อความ ระบุว่า “การตรวจสอบองค์ประชุม”คือการทำหน้าที่ของฝ่ายค้าน ที่ไม่ยอมให้รัฐบาล ‘ประยุทธ์’ สืบทอดอำนาจอยู่ต่อไปด้วย การมีส.ส.รัฐบาลเป็นเสียงข้างน้อยในสภาผู้แทน ขัดหลักการ “ปกครองด้วยเสียงข้างมาก เคารพสิทธิเสียงข้างน้อย” การไม่เป็นองค์ประชุมให้ฝ่ายรัฐบาล ถือเป็นการตรวจสอบรัฐบาล

แท็กที่เกี่ยวข้อง

เรื่องอื่นที่น่าสนใจ