เพื่อไทย ลั่น ค่าแรงขั้นต่ำ 600 เงินเดือน ป.ตรี 25,000 ทำได้จริง หากยกระดับเศรษฐกิจทั้งระบบ ภาคการผลิต การเกษตร เงินหมุนในระบบเร็วขึ้น
7 ธ.ค. 2565 – น.ส.แพทองธาร ชินวัตร ปธ.คณะที่ปรึกษาด้านการมีส่วนร่วมและนวัตกรรม หัวหน้าครอบครัวเพื่อไทย พร้อมด้วย นพ.พรหมินทร์ เลิศสุริย์เดช ประธานคณะทำงานนโยบาย ดร.เผ่าภูมิ โรจนสกุล รองเลขาธิการพรรค ร่วมแถลงข่าวกรณีการแสดงวิสัยทัศน์รัฐบาลเพื่อไทยในปี 2570 ประเด็นนโยบายการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 600 บาทต่อวัน และเงินเดือนผู้จบการศึกษาปริญญาตรี 25,000 บาท
น.ส.แพทองธาร กล่าวว่า ตนมีความเข้าใจดี ว่าเหตุใดจึงมีการถกเถียงในเรื่องนี้ เพราะภาพรวมเศรษฐกิจของประเทศขณะนี้ไม่ดี พรรคเพื่อไทย จึงมองภาพในอนาคตว่า หากค่าแรงขั้นต่ำอยู่ที่ 600 บาทในตอนนี้ ต้นทุนการทำธุรกิจของผู้ประกอบการจะปรับขึ้นแน่นอน เพราะสภาพเศรษฐกิจในตอนนี้ตกต่ำ และยังไม่เติบโต
สมัยรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ได้ปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำอยู่ที่ 300 บาทต่อวัน จนขณะนี้ผ่านมาเกือบ 10 ปี ค่าแรงขั้นต่ำปรับขึ้นมาหลัก 10 บาท จึงเป็นเหตุผลให้เกิดปัญหา รวยกระจุก จนกระจาย คนที่ได้ประโยชน์จากค่าแรงในระดับต่ำ คือคนกลุ่มเล็กบนยอดสามเหลี่ยมเท่านั้น แต่ฐานรากซึ่งเป็นคนส่วนใหญ่ของประเทศยังคงเดือดร้อน พรรคเพื่อไทยจึงต้องคิดใหญ่ เพื่อให้เศรษฐกิจทั้งประเทศปรับตัวดีขึ้นไปด้วยกัน การปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ ไม่ใช่เรื่องของการใช้จ่ายงบประมาณ แต่เป็นเรื่องของการปรับตัวทางเศรษฐกิจที่ดีขึ้นทั้งประเทศ และช่วยลดความเหลื่อมล้ำ
“เราต้องเป็นทุนนิยมที่มีหัวใจ ค่าแรงต้องปรับขึ้นเมื่อเศรษฐกิจทั้งประเทศพร้อม วันนี้ค่าแรงยังปรับเป็น 600 บาทไม่ได้ เพราะเศรษฐกิจยังไม่ดี แต่เมื่อเศรษฐกิจดีแล้ว จีดีพีจะเติบโตที่ 5% ปีแรกอาจสูงกว่า ปีต่อมาอาจลดน้อยลงตามเลขเฉลี่ยแต่ละปี ทั้งหมดคือหัวใจหลัก” หัวหน้าครอบครัวเพื่อไทย กล่าว
ดร.เผ่าภูมิ กล่าวว่า ค่าแรง 600 บาท กับปี 2570 เหมาะไหม ทำได้หรือไม่ ? คำตอบคำถามนี้ พุ่งตรงไปที่วิสัยทัศน์ของผู้พูดว่ามองประเทศไทยในปี 2570 มีหน้าตาเป็นแบบไหน หากมองยังไทยเป็นผู้รับจ้างผลิต เป็นเกษตรกรรมขั้นพื้นฐาน เป็นการท่องเที่ยวราคาถูก เป็นการผลิตที่ใช้แต่แรงงานไร้ฝีมือ ไม่แปลกใจว่าค่าแรง 600 บาท คงเป็นสิ่งที่เพ้อฝัน เป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ แต่นั่นไม่ใช่วิธีคิดของพรรคเพื่อไทย ไม่ใช่วิสัยทัศน์ของหัวหน้าครอบครัวเพื่อไทย
ค่าแรง 600 บาท กับนายจ้าง ? นายจ้างกับลูกจ้างคือขาซ้ายและขาขวาของเศรษฐกิจ ต้องเดินไปคู่กัน การปรับค่าแรงขั้นต่ำ ต้องทำคู่ขนานกับต้นทุนนายจ้าง ซึ่งเราจะมีการออกมาตรการสำหรับผู้ประกอบการต่อไป ทั้งในเรื่องของภาษีและสิทธิประโยชน์ รวมทั้งการผลักในเศรษฐกิจขยายตัว จากนโยบายทั้งหมดของพรรคเพื่อไทย และในสมัยรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ปรับค่าแรง ผนวกกับการลดภาระผู้ประกอบการผ่านการลดภาษีนิติบุคคล