เพื่อไทย ชี้ค่าแรงขึ้นควบคู่รายได้ วอนผู้ประกอบการมองภาพรวมเศรษฐกิจประเทศ ประเด็นค่าแรงขั้นต่ำ 600 บาท และเงินเดือนปริญญาตรี 25,000 บาท
เมื่อวันที่ 9 ธ.ค.65 นายกฤษฎา ตันเทอดทิตย์ ส.ส. หนองคาย พรรคเพื่อไทย (พท.) กล่าวกรณีที่ผู้ประกอบการมีข้อกังวลเรื่องนโยบายค่าแรงขั้นต่ำ 600 บาท และเงินเดือนปริญญาตรี 25,000 บาท ในขณะที่เศรษฐกิจประเทศไทยมีแนวโน้มยังไม่ฟื้นตัวจากสถานการณ์โควิดว่า
หากพิจารณาเพียงมุมต้นทุนค่าแรงที่สูงขึ้นเพียงด้านเดียว โดยรายได้ไม่ได้สูงขึ้นตามไปด้วย ในหมวกของผู้ประกอบการเองก็คงต้องกังวลและสามารถเข้าใจได้ว่า พรรคพท.กำลังจะหาเสียงแบบผลักภาระให้กับภาคเอกชน ในข้อเท็จจริงแล้วหากพรรคพท.เป็นรัฐบาล สิ่งที่จะดำเนินการควบคู่กันไปคือการหารายได้ให้กับประเทศ ดังนี้
1.การปรับค่าจ้างแรงงานขั้นต่ำเป็นการปรับตามค่าครองชีพ และการขยายตัวของเศรษฐกิจ หากพท.เป็นรัฐบาลจะส่งเสริมให้ผู้กอบการ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง SME มีรายได้มากขึ้น เมื่อมีรายได้มากขึ้น ผู้ประกอบการก็สามารถจ่ายค่าแรงที่เพิ่มขึ้นได้ ประกอบกับการปรับค่าแรงไม่ได้ขึ้นทีเดียว จะปรับขึ้นตามเพดานสูงสุดในปี 2570 คืออีก 5 ปีข้างหน้า ตามการขยายตัวของเศรษฐกิจ ผู้ประกอบการจึงจะมีเวลาปรับตัว
2.หากพรรคพท.เป็นรัฐบาล ประเทศกลับคืนสู่ประชาธิปไตย จะสามารถดึงดูดนักลงทุนต่างชาติได้มากขึ้น ผ่านการยกระดับอุตสาหกรรมเปลี่ยนจากประเทศที่ดึงดูดนักลงทุนจากค่าแรงที่ถูกเป็นแรงงานศักยภาพสูง ซึ่งพท.จะผลักดันนโยบายเขตธุรกิจใหม่ 4 ภาค เพื่อมาต่อยอดกลุ่มธุรกิจ SME ในไทยที่เน้นนวัตกรรม และเทคโนโลยี ให้เกิดการสร้างรายได้ใหม่ เกิดการสร้างงานใหม่จำนวนมากที่ใช้และถ่ายทอดทักษะแรงงานขั้นสูงให้กับแรงงานไทย
3.ภายใต้การนำของรัฐบาลพท. ภาคการเกษตร ภาคบริการและการท่องเที่ยวจะมีรายได้เพิ่มขึ้นเป็นเท่าตัว เมื่อคนไทยมีรายได้เพิ่มขึ้น ก็จะสามารถจ่ายต้นทุนค่าแรง และค่าครองชีพอื่นๆที่เพิ่มขึ้นได้ตามไปด้วย
4.ที่ผ่านมาสมัยรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์มีการผ่อนปรนภาษีนิติบุคคลจาก 30% เป็น 23% ในปีแรก และในปีต่อมาเป็น 20% เพื่อชดเชยกับค่าแรงที่เพิ่มขึ้น พรรคพท.ในวันนี้ก็มีแนวคิดที่ออกมาตรการส่งเสริมสนับสนุนภาคเอกชนและผู้ประกอบการ SME ด้วยเช่นกัน 5.พรรคพท.ยังมีแนวคิดที่จะมุ่งเน้นการพัฒนาทักษะให้กับแรงงาน ที่ยังคงมีทักษะไม่สูงมากนัก และเพิ่มผลิตภาพแรงงานให้สอดรับกับความต้องการของตลาดแรงงานในปัจจุบันและอนาคต
“หากเรามองประเทศในวันนี้ภายใต้การนำของรัฐบาลประยุทธ์ที่กักขังศักยภาพของประเทศไทยเอาไว้ การขึ้นค่าแรงก็ทำให้ผู้ประกอบการไปไม่รอด แต่การเพิ่มค่าแรงขั้นต่ำภายใต้การนำของรัฐบาลพท.ไม่ได้เป็นการผลักภาระให้เอกชน แต่เป็นการร่วมมือกันกับภาครัฐที่มีเคยประสบความสำเร็จในการพลิกฟื้นเศรษฐกิจมาแล้วในอดีต เพื่อกลับมาสร้างรายได้ให้ประเทศ ให้ภาคเอกชน และประชาชนทุกคนอีกครั้ง จึงอยากขอร้องให้ผู้ประกอบการมองภาพใหญ่ของประเทศด้วยแพคเกจนโยบายที่นำเสนอโดยรวมซึ่งทำหน้าที่เสมือนฟันเฟืองต่างๆของรถยนต์ร่วมกัน การจะขับเคลื่อนประเทศได้นั้น คงใช้เพียงเฟืองตัวใดตัวหนึ่งไม่ได้” นายกฤษฎา กล่าว