เพื่อไทยย้ำ รัฐบาลประยุทธ์ ล้มเหลวแก้เศรษฐกิจทุกด้าน ทำหนี้พุ่ง เลิกดันทุรังอยู่ต่อ เหน็บไม่ต้องให้ใครมานับปม 8 ปี แซะอย่าคิดนั่งนายกฯ ตามโครงการคนละครึ่ง
เมื่อเวลา 10.00 น. วันที่ 16 ส.ค. ที่พรรคเพื่อไทย (พท.) คณะทำงานเศรษฐกิจพรรค พท. ประกอบด้วย นายพิชัย นริพทะพันธุ์ รองประธานยุทธศาสตร์ด้านเศรษฐกิจ นายจักรพล ตั้งสุทธิธรรม ส.ส.เชียงใหม่ และรองเลขาธิการพรรคพท. นายกฤษฎา ตันเทอดทิตย์ ส.ส.หนองคาย นายอนุสรณ์ เอี่ยมสะอาด รองเลขาธิการและกรรมการคณะยุทธศาสตร์และการเมือง ร่วมแถลงข่าวด้านเศรษฐกิจประจำสัปดาห์
นายพิชัย กล่าวว่า ความไม่รู้เรื่องของพล.อ.ประยุทธ์ จะยิ่งกว่าทำให้ปัญหามากขึ้น ล่าสุดผลการประชุมของคณะกรรมการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจ ก็แทบจะไม่มีอะไรเลย หากพล.อ.ประยุทธ์ดื้อรั้นจะอยู่ต่อ ประเทศไทยจะประสบปัญหา 8 เรื่องดังนี้
1.เศรษฐกิจจะขยายตัวต่ำต่อไปอีก ประชาชนจะยิ่งขาดความเขื่อมั่นและขาดความมั่นใจ อีกทั้งจะได้ยินแต่เรื่องโกหก การเล่านิทานหลอกประชาชน ที่อ้างว่าเศรษฐกิจไปได้ดีทั้งที่คนอดอยากกันมาก 2.หนี้สินจะเพิ่มขึ้น หนี้สาธารณะจะยิ่งพุ่งสูงเพราะพล.อ.ประยุทธ์หารายได้ไม่เป็น เป็นแต่กู้มาแจก หนี้ครัวเรือนไม่มีแนวโน้มจะลดลงได้เลย เพราะไม่มีแนวทางในการเพิ่มรายได้ ยิ่งภาวะดอกเบี้ยขาขึ้นจะยิ่งทำให้สถานการณ์แย่ลงไปอีก
3.ข้าวของแพงและเงินเฟ้อจะแก้ไขไม่ได้ 4.ราคาน้ำมัน ไฟฟ้าและก๊าซ จะยิ่งแพงขึ้น เพราะพล.อ.ประยุทธ์ไม่เข้าใจโครงสร้างราคา และไม่ปรับเปลี่ยนแก้ไข เพราะเกรงใจนายทุนพลังงานและธุรกิจพลังงานใหญ่
นายพิชัย กล่าวว่า 5.การลงทุนจะยิ่งหดหาย เพราะ นักลงทุนทั้งในประเทศและต่างประเทศจะไม่มั่นใจ นักลงทุนต่างประเทศจะยิ่งหายไปและไม่กลับมาอีก 6.ความสามารถแข่งขันของไทยจะยิ่งลดลง เพราะผู้นำขาดหลักคิด และไม่ได้พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของไทย ขาดการพัฒนาทางด้านดิจิทัล ตามกระแสโลกไม่ทัน 7.การใช้งบประมาณไม่มีประสิทธิภาพ รัฐบาลใช้เงินเยอะ กู้เงินมาก แต่เศรษฐกิจไทยไม่ขยายตัว มีการใข้เงินไปซื้ออาวุธยุทโธปกรณ์กันมาก ทั้งที่ประชาชนกำลังอดอยาก 8.จะเกิดทุจริตคอร์รัปชั่นกันมาก 5 ปีที่ผ่านมาดัชนีความโปร่งใสลดลงมาตลอด ดังนั้น พล.อ.ประยุทธ์จะต้องคิดให้ดีว่าจะดันทุรังต่อไปแล้วจะมีจุดจบอย่างไร จะจบแบบจอมพลถนอม กิตติขจร หรือ แบบพล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ประธานองคมนตรีและรัฐบุรุษ หากยังดันทุรัง ไม่น่าจะจบสวยเลย จะเกิดความวุ่นวาย และจะมีการประท้วงในวงกว้าง ยิ่งทำให้ประเทศมีปัญหามากขึ้น
ด้านนายกฤษฎา กล่าวว่า วันนี้ประเทศไทยมีมูลค่าการค้าชายแดนกว่า 1 ล้านๆ บาท เป็นตัวเลขที่รัฐบาลไม่สามารถมองข้ามได้เลย หากต้องการฟื้นฟูเศรษฐกิจ ในช่วงครึ่งปีที่ผ่านมา เป็นช่วงผ่อนคลายทางเศรษฐกิจ ไม่ว่าจะเป็นในเรื่องของการท่องเที่ยว ภาคอุตสาหกรรม การนำเข้าและการส่งออก รวมไปถึงการค้าชายแดน วันนี้เรามีมูลค่าการค้าชายแดนและผ่านแดนในช่วง 6 เดือนที่ผ่านมามีมูลค่ากว่า 850,000 ล้านบาท ส่งออกกว่า 500,000 ล้านบาท นำเข้า 300,000 กว่าล้านบาท ซึ่งยังไม่รวมถึงการส่งสินค้าทางเรือไปยังกลุ่มประเทศที่ไกลๆ เช่น ยุโรป ตะวันออกกลาง หรืออเมริกา สำหรับการค้าชายแดน ตัวเลขการเติบโตอยู่ในเกณฑ์ค่อนข้างดี เติบโตเฉลี่ยอยู่ที่ 15% แต่ตัวเลขที่น่าตกใจและควรจะต้องใส่ใจเป็นพิเศษ คือการค้าผ่านแดน การส่งออกสินค้าผ่านแดนของเราในช่วง 6 เดือนที่ผ่านมา ลดลง 20% การนำเข้าตกลง 12%
นายกฤษฎา กล่าวว่า จ.หนองคายเป็นจุดยุทธศาสตร์ที่สำคัญ ที่จะเชื่อมต่อกับลาวไปที่จีนและอีกหลายๆ ประเทศ ตนติดตามการพัฒนาด้านเศรษฐกิจในพื้นที่มาโดยตลอด วันนี้ หลายอย่างที่ควรจะเกิดก็ยังไม่เกิด เขตเศรษฐกิจพิเศษ ก็ยังไม่ได้มีโครงสร้างพื้นฐานอะไรเข้ามารองรับ สะพานแห่งที่สองที่ควรจะเกิดนานแล้วก็ยังไม่มี กฎระเบียบการให้สิทธิพิเศษแก่นักลงทุนก็ด้อยกว่าลาวหรือเวียดนามอยู่พอสมควร มิหนำซ้ำตนได้รับการร้องเรียนจากภาคเอกชน โดยเฉพาะธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการค้าชายแดน ว่าภาครัฐได้เร่งรัดและรัดกุมในเรื่องของการจัดเก็บภาษีเริ่มตั้งแต่รายเล็กไปจนถึงรายใหญ่ ทั้งๆที่ภาคธุรกิจเองก็เพิ่งจะกลับมาฟื้น หลังจากปลดล็อค ตนไม่แปลกใจในเมื่อรัฐบาลหารายได้ให้ประเทศไม่ได้ ก็ต้องไปลงที่ผู้ประกอบการในประเทศ ซึ่งหัวเพิ่งจะพ้นน้ำ แต่ก็กลับถูกกดลงไปในน้ำอีกครั้ง
วันนี้หนองคายเป็นประตูบานแรกที่นักท่องเที่ยว นักลงทุน จะเปิดเข้ามาเจอ หากท่านยังบริหารงานแบบไม่พร้อมอย่างนี้ต่อไป โดยเฉพาะโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคม ด้านสาธารณสุข หรือแม้แต่ด้านเทคโนโลยี เกรงว่าเราก็อาจจะตกรถไฟขบวนนี้จริงๆ
นายจักรพล กล่าวว่า แผลเน่าทั้ง 5 จุดที่รัฐบาลได้ทำไว้มีดังนี้ 1.ผลกระทบจากการเปิดประเทศช้า การพูดไว้และทำไม่ได้ตามแผนการเปิดประเทศ 120 วัน ทำให้ประเทศไทยเสียค่าโง่จากการตัดสินใจดังกล่าวไปมากกว่า 4.9 แสนล้านบาท 2.ค่าเหยียบแผ่นดินหรือค่าอุปสรรคสำหรับการท่องเที่ยว ค่าเหยียบแผ่นดินที่ทำให้รัฐบาลถูกวิจารณ์มาโดยตลอด รัฐบาลจำเป็นต้องคิดให้รอบคอบและฟังเสียงประชาชนให้มากกว่านี้ 3.ตัวเลขนักท่องเที่ยวและรายได้ที่อาจจะหดหายไป จากแผนการทำงานที่ไร้วิสัยทัศน์ เมื่อการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย(ททท.)ได้นำเสนอโครงการเราฟื้นด้วยกัน เพื่อเป็นวัคซีนเข็มกระตุ้นในการฟื้นฟูอุตสาหกรรมท่องเที่ยวทั้งระบบให้ได้ตามเป้าหมายปี 2565 โดยคาดการณ์ว่าจะสร้างรายได้รวม 1.5 ล้านล้านบาท แต่ในความเป็นจริงแล้ว ควรที่จะตั้งเป้าหมายให้มากกว่านี้หรือไม่ การตั้งเป้าหมายต่ำทำให้การทำงานในโครงการดังกล่าวด้อยประสิทธิภาพหรือไม่ รัฐบาลจะทำได้ตามแผนไหม เพราะที่ผ่านมารัฐบาลล้มเหลวมาตลอด
นายจักรพล กล่าวว่า 4.แผนการทำงานที่ไร้ความชัดเจนจากโครงการเราฟื้นด้วยกัน โดยมีการขอให้รัฐบาลจัดสรรงบประมาณให้ ภายใต้วงเงิน 1,035.75 ล้าน หากไม่มีโครงการดังกล่าว คาดการณ์ว่าจะทำให้รายได้การท่องเที่ยวหายไป 2.65 แสนล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 18 ของคาดการณ์รายได้รวมจากการท่องเที่ยว 1.5 ล้านล้านบาท ซึ่งเป็นสัดส่วนที่น้อยมาก หากคิดจากจำนวนงบประมาณจำนวนกว่าพันล้านบาท แต่ได้ส่วนแบ่งรายได้เพียง 18% เท่านั้น และ 5.โครงการที่ปล่อยออกมา ล้วนเป็นช่วยเหลือแบบเฉพาะหน้า ไม่ได้เจาะทั้งระบบ ทำให้ผู้ประกอบการตกหล่นระหว่างทางเป็นจำนวนมาก ยังไม่รวมถึงพิษเงินเฟ้อ และสงครามรัสเซีย-ยูเครนที่ยังปะทุอยู่และพร้อมที่จะขยายความรุนแรงมากขึ้น หากรัฐบาลยังไม่มีแผนป้องกันที่เหมาะสม ภาคการท่องเที่ยวคงต้องล้มอีกครั้ง ทั้งหมดนี้ทำให้สรุปได้ว่าประเทศไทยไม่ต้องการนายกฯ คนนี้อีกต่อไป เวลานี้ประชาชนคงทำได้แต่ภาวนาให้หมดวาระของพล.อ.ประยุทธ์ให้เร็วที่สุด พรรคพท.ขอเป็นอีก 1 ขุมพลังที่จะช่วยขับไล่นายกฯ และสร้างแสงสว่างให้กับประเทศไทยอีกครแง
นายอนุสรณ์ กล่าวกรณีฝ่ายต่างๆ ออกมายื่นศาลรัฐธรรมนูญตีความพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกฯ รวมกันเกิน 8 ปีได้หรือไม่ว่า 8 ปีที่แล้วประเทศชาติและประชาชนอยู่ในภาวะถูกบีบบังคับจากการสร้างสถานการณ์ความขัดแย้ง นำไปสู่สภาวะสุญญากาศ เพื่อปูทางไปสู่การทำปฏิวัติรัฐประหาร ฉีกรัฐธรรมนูญ หลักนิติรัฐ นิติธรรม ถูกทำลาย ภาพลักษณ์ของประเทศเสียหาย ประเทศลงทุนมากขนาดนี้ เพียงเพื่อให้พล.อ.ประยุทธ์ได้ขึ้นมาเป็นนายกฯ พล.อ.ประยุทธ์เป็นนายกฯ หลังจากรัฐประหารในวันที่ 24 ส.ค.57 นับจากวันนั้นจนถึงวันที่ 24 ส.ค.65 เอาใครมานับก็จะรู้ว่าพล.อ.ประยุทธ์เป็นนายกรัฐมนตรีครบ 8 ปี รัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 158 วรรค 4 บัญญัติว่านายกฯ จะดํารงตําแหน่งรวมกันแล้วเกินแปดปีมิได้ ไม่ว่าจะเป็นการดํารงตําแหน่งติดต่อกันหรือไม่ แต่มิให้นับรวมระยะเวลาในระหว่างที่อยู่ปฏิบัติหน้าที่ต่อไปหลังพ้นจากตําแหน่ง รัฐธรรมนูญ มาตรา 264 บัญญัติว่า ให้คณะรัฐมนตรีที่บริหารราชการแผ่นดินอยู่ในวันก่อนวันประกาศใช้รัฐธรรมนูญนี้ เป็นคณะรัฐมนตรีตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญนี้ นั่นคือการเป็นนายกฯ ของ พล.อ.ประยุทธ์ตั้งแต่ปี 2557 ก็ถือว่าเป็นนายกฯ ตามรัฐธรรมนูญฉบับนี้ จึงต้องนับ 1 ตั้งแต่ปี 2557 ไม่ต้องให้ใครมานับให้เป็นภาระ ไม่ต้องหาใครมาตีความ
“พล.อ.ประยุทธ์นับเองได้ว่าเป็นนายกฯมา 8 ปีหรือยัง พล.อ.ประยุทธ์จะยืนมึนงง ถ่วงเวลารอให้ประเทศต้องลงทุนไปเรื่อยๆ เพื่อให้พล.อ.ประยุทธ์ได้ไปต่อไม่ได้ ประชาชนจะไม่ยอมเห็นประเทศล้มเหลวคามือ พล.อ.ประยุทธ์ เพียงเพื่อให้กระบวนการสืบทอดอำนาจดำรงอยู่ต่อไป ที่เลวร้ายไปกว่านั้นถ้าคิดจะนำโครงการคนละครึ่ง มาแบ่งกันเป็นนายกฯ อีกคนละ 2 ปี ในหมู่พี่น้อง 3 ป.จะได้สมประโยชน์ในเก้าอี้นายกฯ ตามโครงการคนละครึ่ง ประชาชนไม่ยอมแน่นอน” นายอนุสรณ์ กล่าว