เพจดังห่วง “สรยุทธ” กินข้าว 10 ปี ไปหลายคำ เสี่ยงรับสารก่อมะเร็งร้ายแรง ที่มีชื่อว่า อะฟลาท็อกซิน
จากกรณี ภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ นำตัวอย่างข้าวจาก 2 โกดังสุดท้าย ในโครงการรับจำนำข้าวยุคนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เป็นนายกรัฐมนตรี ซึ่งเก็บไว้นานกว่า 10 ปี มาซาวถึง 15 น้ำ ก่อนจะหุงและนำมารับประทานร่วมกันกับตัวแทนทั้งภาครัฐ เอกชน และสื่อมวลชน เพื่อให้ร่วมเป็นสักขีพยานว่าข้าวในโครงการนี้แม้ 10 ปีแล้ว ยังสามารถรับประทานได้
สรยุทธ สุทัศนะจินดา และ น้องไบรท์ พิชญทัฬห์ จันทร์พุฒ ได้โชว์ข้าวสาร 10 ปี ที่นายภูมิธรรมส่งมาให้ในรายการเรื่องเล่าเช้านี้ ซึ่งเมื่อเทียบกับเสื้อยืดสีขาวที่สรยุทธใส่ เห็นได้ชัดว่าข้าวสีออกเหลือง ซึ่งหลังจากนำไปให้ทีมงานหุงจนสุก พบว่าข้าวหุงขึ้นหม้อ แต่ไม่ได้หอมเหมือนข้าวหอมมะลิใหม่ และรวน ๆ ไม่มียางข้าว
ก่อนที่น้องไบรท์จะทดลองตักกิน บอกว่า ปกติกินได้ แต่ไม่หอมเหมือนข้าวหอมมะลิ ความนุ่มและกลิ่นหายไป แต่เม็ดข้าวยังเรียงตัวสวย ขณะที่ สรยุทธ บอกว่า ความเหลืองของข้าวยังคงอยู่ ก่อนจะตักชิมและบอกว่าไม่รู้สึกว่ากินข้าวหอมมะลิ แต่เหมือนกินข้าวขาว อารมณ์แบบกินข้าวเสาไห้ แต่ก็เข้าใจได้เพราะเป็นข้าว 10 ปี
ล่าสุด เพจเฟซบุ๊ก Drama-addict แชร์ภาพ สรยุทธ ขณะกำลังกินข้าว พร้อมภาพวงจรของสารพิษ อะฟลาท็อกซิน (aflatoxin) ที่คนได้รับจากอาหารที่มีเชื้อรา พร้อมระบุว่า
เฮียสอ ฟาดไปแล้วหลายคำ
จริงๆควรรอผลแลปออกก่อน เพราะข้าวเก่าเก็บนานๆ ที่ต้องห่วงคือ สารพิษ aflatoxin ซึ่งเป็นสารพิษที่เกิดจากเชื้อราที่ขึ้นในข้าวสารที่เก็บนานๆในสภาพความชื้นที่ไม่ดี ซึ่งสารพิษนี้ ทนความร้อน ได้ถึง 260 องศาเซลเซียส ต่อให้เอาไปหุง ก็ไม่สามารถทำลายได้ และไม่มีสีไม่มีกลิ่น บอกไม่ได้ว่ามีสารพิษมั้ยจากการกินหรือดม ต้องส่งแลปเท่านั้น
ผลของการรับสารพิษนี้บ่อยๆนานๆ จะทำให้เป็นมะเร็งตับ และมะเร็งในอวัยวะอื่นๆ ดังนั้นควรส่งแลปก่อนให้ชัดเจนว่ามีสารพิษมั้ย ปลอดภัยมั้ยก่อนจะกิน แต่นอกจากเฮียสอ ก็เห็นคนกินไปเยอะแล้วนี่หว่า
ดีที่สายเปิบอย่างเฮียหนุ่มไม่ได้ไปกินกับเขาด้วย
สารอะฟลาท็อกซิน คืออะไร
สาร “อะฟลาท็อกซิน” คือสารก่อมะเร็งที่มีอันตรายมาก องค์การอนามัยโลกกำหนดให้สารอะฟลาท็อกซินเป็นสารก่อมะเร็งที่ร้ายแรงมากชนิดหนึ่ง โดยปริมาณเพียง 1 ไมโครกรัมสามารถทำให้เกิดการกลายพันธุ์ในแบคทีเรียและทำให้เกิดมะเร็งในสัตว์ทดลองได้ หากได้รับอย่างต่อเนื่อง
สารอะฟลาท็อกซินมักพบได้ในวัตถุดิบทางการเกษตรที่นำมาแปรรูปและเก็บอย่างไม่เหมาะสม ได้แก่
- ผลิตภัณฑ์ประเภทแป้ง
- ผลิตภัณฑ์จากถั่วลิสง
- เม็ดมะม่วงหิมพานต์
- มันสำปะหลัง
- ผักและผลไม้อบแห้ง
- ปลาแห้ง กุ้งแห้ง กะปิ
- มะพร้าวแห้ง
- หัวหอมแห้ง กระเทียมแห้ง พริกแห้ง พริกไทย งา
ผู้ที่ได้รับอะฟลาท็อกซิน ส่วนใหญ่จะไม่มีอาการในระยะแรกๆ จะมาแสดงอาการเมื่อเกิดการเรื้อรังแล้ว คือ กินอาหารที่มีการปนเปื้อนของเชื้อราแล้วเชื้อรานั้นสร้างสารอะฟลาท็อกซิน ทำให้เกิดการอักเสบของตับเรื้อรัง เกิดภาวะตับแข็ง ก่อเกิดมะเร็งตับ และอาจมีผลต่อระบบไต หัวใจ
การป้องกันสารอะฟลาท็อกซินทำได้โดย
- เลือกซื้ออาหารหรือวัตถุดิบแห้งที่อยู่ในสภาพใหม่ บรรจุภัณฑ์ที่ได้มาตรฐาน ไม่มีเชื้อรา สะอาด
- ต้องไม่มีกลิ่นอับ ส่งกลิ่นเหม็น หรือชื้น
- ไม่เก็บอาหารแห้งเหล่านั้นไว้เป็นเวลานาน เพราะจะทำให้เกิดการสะสมของเชื้อราได้
- นำอาหารแห้งเหล่านั้นไปตากแดดจัดๆ เพราะความร้อนจากแดดจะทำให้ความชื้นลดลง