เพจกฎหมายแรงงาน วิเคราะห์ปม ไม่รับปริญญา-ไม่รับเข้าทำงาน ทำได้หรือไม่? ชี้รัฐธรรมนูญ มีหลักการห้ามเลือกปฎิบัติ แนะเลือกจากความสามารถและคุณค่า
วันที่ 16 ม.ค.65 เพจ กฎหมายแรงงาน โพสต์ข้อความ กรณีแพทย์หญิงท่านหนึ่งออกมาโพสต์ ระบุว่า “ไม่เข้ารับปริญญา ระวังเขาจะไม่รับเข้าทำงาน” และยังได้กล่าวไปถึงการดูโทรศัพท์ ซึ่งก็ถือเป็นการล่วงล้ำเข้าไปทำลายความเป็นส่วนตัวโดยเอาเงื่อนไขการรับสมัครงาน ส่งผลให้เกิด #ไม่รับปริญญา
โดยเพจ ระบุว่า “เขา” ในที่นี้น่าจะรวมทั้งงานภาคเอกชน งานราชการ และรัฐวิสาหกิจ ซึ่งการไม่เข้ารับปริญญาอาจเกิดจากหลายสาเหตุ เช่น ไม่มีเงิน เพราะการรับปริญญามีค่าใช้จ่ายมากพอสมควร หรือหลายอาจเรียนเพื่อต้องการความรู้แต่ก็ไม่ได้สนใจเข้ารับปริญญา
โดยปกติมหาวิทยาลัยหรือสถาบันการศึกษาจะเปิดให้ลงทะเบียนว่าใครจะเข้ารับปริญญาบ้าง และใครจะไม่เข้ารับปริญญา ซึ่งก็เป็นการให้สิทธิหรือเสรีภาพที่จะเข้ารับหรือไม่
ส่วนจะรับปริญญากับใครก็สุดแล้วแต่ อย่างต่างประเทศก็อาจรับกับอธิการบดี ในไทยหากเป็นมหาวิทยาลัยของรัฐก็อาจรับกับราชวงศ์ มหาวิทยาลัยเอกชนส่วนใหญ่ก็รับกับอธิการบดี หรือผู้ทรงคุณวุฒิ
การวางกติกาว่า หากใครไม่เข้ารับปริญญาจะไม่รับเข้าทำงานนั้นถือว่าผิดธรรมชาติการรับคนเข้าทำงานที่จะต้องพิจารณาจากความรู้ความสามารถ หรือทัศนคติ และการไม่เข้ารับปริญญาก็ไม่ได้หมายความว่าบุคคลเหล่านั้นจะมีทัศนคติที่ไม่ดีเสมอไป
อย่างไรก็ตาม แม้มีการกำหนดกติกาการรับสมัครงานเอาไว้ แต่เมื่อตราบใดที่ยังไม่มีสถานะเป็นลูกจ้าง ก็ไม่อาจนำกฎหมายคุ้มครองแรงงานเข้าไปใช้บังคับได้
แต่เมื่อเปิดรัฐธรรมนูญมาดู เราจะพบกับหลักการห้ามเลือกปฎิบัติถิ่นกำเนิด เชื้อชาติ ภาษา เพศ อายุ ความพิการ สภาพทางกายหรือสุขภาพ สถานะของบุคคล ฐานะทางเศรษฐกิจหรือสังคม ความเชื่อทางศาสนา การศึกษาอบรม หรือความคิดเห็นในทางการเมือง อันไม่ขัดต่อบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ ซึ่งหลักการเหล่านี้ถูกกำหนดขึ้นมาเพื่อไม่ให้เกิดการใช้อำนาจตามอำเภอใจ
การเลือกปฎิบัติและทัศนคติที่มองคนเห็นต่างเป็นศัตรูย่อมเป็นอันตรายต่อความก้าวหน้าของสังคม
จริง ๆ แล้วตราบาปที่ถูกบันทึกไว้จากการเลือกปฎิบัติในสังคมไทย มีหลายกรณี ดังนี้
1) การเลือกปฎิบัติเพราะความแตกต่างในเรื่องเพศ
เกิดกรณีบริษัทได้กำหนดให้ลูกจ้างหญิงเกษียณอายุ 55 ลูกจ้างชายเกษียณ 60 ปี ซึ่งเป็นการเลือกปฎิบัติกรณีเกษียณเพราะเหตุความแต่งต่างในเรื่องเพศ ส่งผลให้การกำหนดอายุการเกษียณของเพศหญิงเป็นโมฆะ (คำพิพากษาที่ 2127/2555)
2) การเลือกปฎิบัติเพราะความพิการทางร่างกาย
เคสนี้ น่าตกใจมากเพราะเกิดขึ้นจากการกระทำของผู้บังคับใช้กฎหมายเอง เรียกว่า “ความพิการของกฎหมายและผู้บังคับใช้กฎหมาย” โดยเป็นกรณีการเลือกปฎิบัติต่อผู้พิการในการสอบเป็นผู้ช่วยอัยการ (คำพิพากษาศาลปกครองสูงสุดที่ อ. 142/2547) และการตัดสิทธิทนายโปลิโอในการเข้าสอบผู้ช่วยผู้พิพากษา (คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญที่ 16/2545)
3) การเลือกปฎิบัติเพราะผลการเรียน
เป็นกรณีที่เกิดกับการเลือกรับราชการ โดยรับเฉพาะเกียรตินิยม (คำพิพากษาศาลปกครองสูงสุดที่ อ.158/2550)
และน่าตกใจที่แนวคิดการเลือกปฎิบัติอันเกิดจากการไม่เข้ารับปริญญา ขอเถอะจงเลือกจากความสามารถและคุณค่าในตัวเขา
ข้อมูลจาก เพจ กฎหมายแรงงาน