ไขข้อสงสัย ทำไมการอยู่กับปัจจุบันถึงเป็นเรื่องยากนัก… เฝ้ารอให้ถึงปีหน้า แต่ยังคิดถึงธันวาคมเมื่อปีก่อน สุดท้ายปัจจุบันอันล้ำค่าก็กลายเป็นอดีตที่ว่างเปล่า
“เมื่อไหร่จะขึ้นปีใหม่ เหนื่อยมาทั้งปี อยากให้ปีนี้ผ่านไปแล้ว”
“ตอนเด็กๆ ฤดูหนาวอากาศเย็นกว่านี้เยอะเลย อยากย้อนเวลาได้”
“ปีหน้าปีชงเต็มขั้น ไปทำบุญที่ไหนดีนะ”
ขณะที่นั่งทำงานด้วยความรู้สึกเบื่อหน่าย อาจมีความคิดมากมายเกิดขึ้นมาในใจ บ้างก็เกี่ยวกับอดีต บ้างก็นึกไปถึงอนาคต ทว่าทั้งหมดล้วนแล้วแต่ไม่เกี่ยวข้องกับงานตรงหน้าซึ่งเป็นเรื่องในปัจจุบันแต่อย่างใด
แม้การทำวันนี้ให้ดีที่สุด หรืออยู่กับปัจจุบันให้ได้ จะดูเป็นเรื่องที่ควรทำกันเป็นปกติ และไม่รู้สึกยากเย็นเท่าไรนัก แต่ทว่าบ่อยครั้งมันกลับไม่ได้ง่ายเช่นนั้น
ยิ่งเฉพาะในช่วงสองสัปดาห์สุดท้ายของปี 2023 ที่นอกจากจะเป็นวาระแห่งการสะสางงานก่อนจะถึงวันหยุดยาวแล้ว ก็ยังเป็นช่วงเวลาที่หลายคนได้ทบทวนเหตุการณ์ในปีที่ผ่านมาว่าเกิดอะไรขึ้น หรือย้อนนึกไปถึงช่วงชีวิตเมื่อหลายสิบปีก่อน และบางคนก็ได้เริ่มต้นวางแผนสำหรับปีหน้าด้วยความหวังว่าชีวิตของตนจะดำเนินอย่างราบรื่นต่อไป โดยมักที่จะละเลยช่วงเวลาปัจจุบันตรงหน้าอยู่เสมอ
น่าสนใจว่า ทำไมการอยู่กับปัจจุบันเช่นนี้ จึงเป็นเรื่องที่ยากและท้าทายยิ่งนัก
ปกติแล้วแล้ว การเรียนรู้เรื่องราวที่ผ่านมา และการวางแผนสำหรับอนาคต ถือเป็นวิธีสำคัญในการที่มนุษย์จะอยู่รอด ซึ่งการเรียนรู้จะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อคุณได้ใช้ชีวิตในอดีต รวมไปถึงการวางแผน ก็เพื่อนำไปสู่สิ่งที่จะเกิดต่อไปในอนาคต ดังนั้นมนุษย์จึงเลือกที่จะอยู่กับปัจจุบันเพียงอย่างเดียวไม่ได้
แต่การคิดถึงสิ่งที่ผ่านไปหรืออนาคตที่กำลังเข้ามามากจนเกินไปอาจเกิดผลเสียเช่นกัน ดังนั้นการมีสติรู้คิดและอยู่กับช่วงเวลาปัจจุบันจึงได้กลายเป็นคำแนะนำอมตะ ที่ผู้คนใช้บ่อยทั้งในทางศาสนาและทางจิตวิทยาจนดูเหมือนว่ามันจะช่วยแก้ไขได้ทุกปัญหาบนโลก
“ความคิดที่ไหลผ่านใจเราทุกวัน เหมือนน้ำตกที่ไหลเรื่อยๆ แต่อาจดังพอจะทำให้หูหนวก” จอน คาบัทท์-ซินน์ (Jon Kabat-Zinn) ผู้ริเริ่มการเจริญสติในแพทย์กระแสหลักอธิบาย เขามองว่าการเจริญสติจนรู้สึกผ่อนคลายจะช่วยให้เราสามารถควบคุมจิตใจและความเป็นไปในชีวิตได้มากขึ้น
มีคำแนะนำมากมายที่จะช่วยให้เราได้อยู่กับปัจจุบัน ทั้งการฝึกสมาธิ การปล่อยวางกับผลลัพธ์ และเลือกรับเฉพาะสิ่งที่อยู่ตรงหน้า การเผชิญกับปัญหาเพื่อไม่ให้กลับไปครุ่นคิดถึงมันอีก ฯลฯ แต่คำแนะนำทั้งหมดล้วนแล้วแต่เป็นสิ่งที่ทำสำเร็จได้จากการใช้ความคิด สุดท้ายแล้ว การฝึกฝนความคิดและพัฒนาวิธีการมองเหตุการณ์ต่างๆ ในชีวิตอาจเป็นสิ่งสำคัญที่จะทำให้เราได้มีสติอย่างแท้จริง
การมีสติไม่ใช่เป้าหมายเพื่ออนาคต เพราะเราสามารถมีสติอยู่กับปัจจุบันได้ตลอดเวลาด้วยการมุ่งความสนใจไปกับสิ่งที่อยู่ตรงหน้า ณ ขณะนี้ และมันสามารถทำได้ทันที
ดังนั้นในตอนนี้คุณกำลังอ่านข้อความนี้ อาจจะลองพิจารณาตัวเองดูว่า การอ่านนี้ไม่ได้สำคัญว่าจะทำให้เรานึกถึงเรื่องราวอะไรในอดีต หรือเก็บมันไว้เพื่อวางแผนอะไรเพื่ออนาคตแต่อย่างใด เพราะหากมัวแต่ครุ่นคิดเช่นนั้น เราก็อาจลืมตัวชั่วขณะว่ากำลังทำอะไรอยู่ และเวลาปัจจุบันอันล้ำค่าก็จะกลายเป็นอดีตที่ว่างเปล่าได้เช่นกัน