เหมือนตายแล้วเกิดใหม่ คือคำบอกเล่าของ ผู้ป่วยโควิด ระดับวิกฤต ที่เคยต้องพึ่งพาเครื่องช่วยหายใจมานานหลายวัน จนในวันที่ได้ถอดพันธนาการจากเครื่องพยุงชีวิตต่างๆเหล่านั้น และแข็งแรงพอที่จะบอกเล่าความรู้สึกกับเราได้ ผู้ป่วยคนแรก เป็นหญิงวัย 58 ปี ส่งตัวจาก รพ.ชุมชนมารักษาที่ รพ.นครพิงค์ตั้งแต่วันที่ 22 เมษายน บอกกับเราด้วยเสียงที่ยังแหบ เนื่องจากใส่ท่อช่วยหายใจอยู่นาน 6 วัน” ขอบคุณนักๆเจ้า ตี้จ้วยฮื้อป้ารอดชีวิต ขอบคุณหมอพยาบาล อยากบอกกู้คนว่า กินร้อนช้อนกลาง ใส่หน้ากากนะเจ้า” คุณป้าไม่ลืมที่จะเป็นห่วงคนอื่นๆ ผู้ป่วยคนที่ 2 เป็นชายวัย 44 ปี
ส่งตัวจากรพ.สนามมารักษาที่รพ.นครพิงค์ ตั้งแต่วันที่ 14 เมษายน ได้ใส่ท่อช่วยหายใจอยู่ 6 วัน อาการค่อยๆทุเลาลง จนถอดท่อช่วยหายใจได้แล้ว ได้บอกกับเราว่า “อาการผมดีขึ้นมาก เหนื่อยนิดเดียวแล้ว ขอบคุณหมอ พยาบาลครับที่ช่วยผมผ่านวิกฤตมาได้ ” ผู้ป่วยทั้ง 2 รายนี้ ได้รักษาตัวในรพ.นครพิงค์ 8 และ 16 วันตามลำดับ จากที่เคยมีอาการระดับวิกฤต (สีแดง) จนในวันนี้อาการลดระดับลงมาเหลือเพียงปานกลาง (สีเหลือง) จึงได้ส่งตัวไปพักฟื้นต่อที่รพ.ชุมชน เพื่อให้รพ.นครพิงค์มีพื้นที่สำหรับดูแลผู้ป่วยที่มีอาการหนักกว่าต่อไป
จากแผนยุทธศาสตร์ของจ.เชียงใหม่ ที่ให้รพ.นครพิงค์เป็นหน่วยงานหลักในการดูแลผู้ป่วยหนักร่วมกับรพ.มหาราชนครเชียงใหม่ ทำให้หน้าที่หลักของเราคือการพาคนไข้ให้พ้นวิกฤต ซึ่งที่ผ่านมาจนถึงวันนี้(30เมษายน) รพ.นครพิงค์ได้ให้การดูแลผู้ป่วยโควิดระลอกเดือนเม.ย.ไปทั้งสิ้น 168 ราย รักษาจนอาการทุเลาสามารถย้ายไปรพ.สนาม หรือ รพ.ชุมชนได้แล้ว 125 ราย ยังอยู่ในรพ.41 ราย และเสียชีวิต 2 ราย (ข้อมูลในภาพเป็นข้อมูลรวมผู้ป่วยของการระบาดทั้ง 3 รอบ)
ด้วยการที่รพ.นครพิงค์ต้องดูแลกลุ่มผู้ป่วยหนักเป็นหลัก เราจึงไม่มีโอกาสได้ดูแลผู้ป่วยจนถึงวันที่ได้กลับบ้าน เพราะหน้าที่ของเราคือการพาผู้ป่วยให้พ้นวิกฤต เพื่อส่งต่อให้เพื่อนนักรบชุดขาวจากรพ.อื่นๆได้ดูแลผู้ป่วยต่อจนได้กลับบ้านต่อไป แม้ว่าเราอาจจะไม่สามารถพาทุกคนให้ผ่านวิกฤตไปได้ แต่เราจะทำหน้าที่ของเราให้ดีที่สุดที่มา โรงพยาบาลนครพิงค์
ขอบคุณเรื่องราวจาก รพ.นครพิงค์