เผยไทยป่วย 'โรคซึมเศร้า' 1.5 ล้านคน ดับปีละ 4,000 ผุดแอปพลิเคชันช่วยผู้ป่วย

Home » เผยไทยป่วย 'โรคซึมเศร้า' 1.5 ล้านคน ดับปีละ 4,000 ผุดแอปพลิเคชันช่วยผู้ป่วย


เผยไทยป่วย 'โรคซึมเศร้า' 1.5 ล้านคน ดับปีละ 4,000 ผุดแอปพลิเคชันช่วยผู้ป่วย

เผยไทยป่วย ‘โรคซึมเศร้า’ 1.5 ล้านคน ดับปีละ 4,000 ผุดแอปพลิเคชันช่วยผู้ป่วย สามารถเข้าใช้ได้ตั้งแต่วันที่ 20 มิ.ย. 2565 เป็นต้นไป

20 มิ.ย. 2565 – คณะแพทยศาสตร์ และ คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ร่วมกับ กรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) จัดงานแถลงข่าวเปิดตัวนวัตกรรม DMIND Application สำหรับคัดกรองผู้ที่มีภาวะซึมเศร้า

รศ.นพ.ฉันชาย สิทธิพันธุ์ คณบดีคณะแพทยศาสตร์ จุฬาฯ กล่าวว่า โรคซึมเศร้า เป็นโรคหนึ่งทางจิตเวชที่เกิดจากความเครียดของปัญหารอบด้าน เช่น ภาวะเศรษฐกิจ โรคระบาด การแข่งขันในสังคม รวมถึงปัจจัยทางชีวภาพและกรรมพันธุ์ ทำให้มีผู้ป่วยโรคซึมเศร้าในประเทศไทยกว่า 1.5 ล้านคน เป็นสาเหตุของการเสียชีวิต 4,000 รายต่อปี และพยายามคิดสั้นถึง 53,000 คนต่อปี ซึ่งการป้องกันความรุนแรงของโรคและยับยั้งการฆ่าตัวตายเพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตประชาชนถือเป็นสิ่งสำคัญ

คณะแพทยศาสตร์และคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาฯ ได้ร่วมกับ สธ. และ สสส. พัฒนานวัตกรรม DMIND Application สำหรับคัดกรองผู้ที่มีภาวะซึมเศร้า แอปฯ ที่ช่วยประเมินความเสี่ยงจากลักษณะการแสดงออกทางหน้าตา น้ำเสียง และข้อความ เพื่อประเมินภาวะซึมเศร้าเบื้องต้นอย่างง่าย มีความถูกต้อง แม่นยำ ช่วยลดขั้นตอนในการวินิจฉัยของแพทย์

พญ.อัมพร เบญจพลพิทักษ์ อธิบดีกรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า แอปฯ DMIND สามารถเข้าถึงได้ผ่านช่องทางการสื่อสารของหมอพร้อม ทั้ง LINE Official https://bit.ly/2Pl42qo เฟซบุ๊กหมอพร้อม เลือกเมนู “ตรวจสุขภาพใจ” และเว็บไซต์ https://bit.ly/DMIND_3

การประเมินผลแสดงอาการ 3 ระดับ คือ 1.ปกติ (สีเขียว) พร้อมแนะนำข้อมูลการดูแลสุขภาพจิตทั่วไป 2.กลาง (สีเหลือง) ศูนย์สุขภาพจิตเขต 1-13 ภายใต้กรมสุขภาพจิตทั่วประเทศ จะติดตามในพื้นที่ 3.รุนแรง (สีแดง) สายด่วนสุขภาพจิต 1323 จะติดตามอาการ เพื่อประเมินสุขภาพจิต และร่วมหาแนวทางแก้ปัญหา เพื่อให้ผู้ที่มีข้อจำกัดในการเข้าถึงบริการสามารถเข้าถึงบริการและการประเมินด้านสุขภาพจิตได้

ทั้งนี้สามารถเข้าใช้แอปพลิเคชัน DMIND ได้ตั้งแต่วันที่ 20 มิ.ย. เป็นต้นไป หากมีปัญหาสุขภาพจิตใจติดต่อได้ที่ สายด่วนสุขภาพจิต โทร. 1323

แท็กที่เกี่ยวข้อง

เรื่องอื่นที่น่าสนใจ