เผยโฉม “หน้ากากศพทองคำ” เก่ากว่า 3,000 ปี-พบในซากเมืองยุคราชวงศ์ซาง
เผยโฉม “หน้ากากศพทองคำ” – ซินหัว รายงานว่า สถาบันมรดกวัฒนธรรมและโบราณคดีนครเจิ้งโจว มณฑลเหอหนาน ทางตอนกลางของ ประเทศจีน เปิดเผยว่าคณะนักโบราณคดีได้ขุดพบ “หน้ากากศพ” ทำจากทองคำ อายุมากกว่า 3,000 ปี ในหลุมศพชนชั้นสูงยุคโบราณที่นครเจิ้งโจว เมืองเอกของเหอหนาน
รายงานระบุว่าหน้ากากดังกล่าวกว้าง 14.5 เซนติเมตร ยาว 18.3 เซนติเมตร และหนักราว 40 กรัม ถูกค้นพบในหลุมศพที่ขุดพบเมื่อไม่นานนี้ บริเวณซากเมืองยุคราชวงศ์ซาง (1600-1046 ปีก่อนคริสต์ศักราช)
“ขนาดของหน้ากากบ่งชี้ว่ามันใช้ปิดคลุมใบหน้าของผู้ใหญ่” นายหวง ฟู่เฉิง เจ้าหน้าที่สถาบันมรดกวัฒนธรรมและโบราณคดีนครเจิ้งโจวกล่าว นอกจากนี้คณะนักโบราณคดียังขุดพบโบราณวัตถุจากหลุมศพข้างต้นมากกว่า 200 รายการ ซึ่งมีทั้งเครื่องทอง เครื่องสัมฤทธิ์ และเครื่องหยก
ทั้งนี้ จีนขุดพบวัตถุทองคำจำนวนมากจากซากโบราณซานซิงตุยในมณฑลเสฉวน ทางตะวันตกเฉียงใต้ของประเทศ แต่นับเป็นเรื่องหายากที่จะพบวัตถุทองคำจากซากวัฒนธรรมราชวงศ์ซางในที่ราบตอนกลาง คณะผู้เชี่ยวชาญเชื่อว่าการค้นพบใหม่นี้อาจมอบข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับพิธีการฝังศพและวัฒนธรรมทองคำของราชวงศ์ซาง
ข่าวที่เกี่ยวข้อง:
- เผยโฉม “หน้ากากสัมฤทธิ์” โบราณวัตถุมหึมาแปลกตา-หนักกว่า 65 กิโลกรัม
- จีนพบหลุมบูชายัญ 3,000 ปี ตะลึงโบราณวัตถุอื้อ หน้ากากทองคำก็มี