จากกรณีที่องค์คณะตุลาการ ศาลรัฐธรรมนูญ นัดประชุม ปรึกษาหารือ ลงมติ และออกนั่งบัลลังก์อ่านคำวินิจฉัยกรณีที่คณะกรรมการการเลือกตั้ง (ผู้ร้อง) ส่งคำร้องขอให้พิจารณาวินิจฉัยกรณีที่ นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ผู้ถูกร้อง) เป็นผู้ถือหุ้นใน บริษัท ไอทีวี จำกัด (มหาชน) ซึ่งประกอบกิจการหนังสือพิมพ์หรือสื่อสารมวลชนใดๆ อยู่ในวันที่สมัครรับเลือกตั้ง สส.แบบบัญชีรายชื่อ เป็นเหตุให้สมาชิกภาพ สส.ของผู้ถูกร้องสิ้นสุดลง ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 101 (6) ประกอบมาตรา 98 (3) หรือไม่ โดยศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งรับคำร้องนี้ไว้พิจารณาวินิจฉัย และสั่งให้ผู้ถูกร้องหยุดปฏิบัติหน้าที่ สส. นับแต่วันที่ 19 กรกฎาคม 2566 จนกว่าศาลรัฐธรรมนูญจะมีคำวินิจฉัย
โดยศาลแถลงคำวินิจฉัย สรุปใจความได้ว่า
ศาลรัฐธรรมนูญ ไล่เรียงข้อโต้แย้งของนายพิธา ที่โต้แย้งเรื่องจำนวนหุ้นที่น้อยมาก ไม่มีอำนาจครอบงำการประกอบกิจการสื่อของไอทีวี แต่ศาลมองว่า ฟังไม่ขึ้น เนื่องจากการถือหุ้นเพียง 1 หุ้น ก็ถือว่าเป็นการถือหุ้น ตามรัฐธรรมนูญระบุแล้ว และการไม่ได้โอนหุ้นออกไปให้ผู้อื่น ก่อนจะมีการเสนอชื่อลงรับสมัครเลือกตั้ง ก็เป็นความบกพร่องของนายพิธาเอง
แต่สาเหตุที่ทำให้ ศาลรัฐธรรมนูญยกคำร้อง และ พิธา รอดจากการถูกตัดสิทธิ์ สส. นั่นก็คือประเด็นสถานภาพของบริษัทไอทีวี
บริษัทไอทีวี ยังคงดำเนินกิจการ ไม่ได้เลิกกิจการ ประกอบกับเอกสารที่ไอทีวีนำส่งงบการเงิน ระบุประเภทธุรกิจว่า สื่อโทรทัศน์ แม้มีข้อโต้แย้งว่า สถาทีโทรทัศน์ไอทีวี ถูกยกเลิกการออกอากาศไปแล้ว
การพิจารณาว่าบริษัทใดเป็นสื่อหรือไม่นั้น ไม่สามารถพิจารณาเพียงเฉพาะข้อมูลในการจดทะเบียนได้เท่านั้น เมื่อพิจารณาจากเอกสารของสำนักงานประกันสังคม ระบุประเภทธุรกิจว่า สื่อโทรทัศน์ ระบุสินค้าและบริการว่า ไม่ได้ดำเนินกิจการ เนื่องจากรอผลคดี มีรายได้จากผลประกอบการลงทุน และดอกเบี้ยรับ และเมื่อพิจารณา ภงด.50 ระบุว่า รายรับจากการประกอบกิจการเป็น 0 แต่มีรายได้อื่น จากการลงทุน และดอกเบี้ยรับ
นอกจากนี้ยังพิจารณาการที่ สปน.บอกเลิกสัญญาบริษัทไอทีวี ทำให้สิทธิ์คลื่นความถี่ในการออกอากาศ ตกเป็นสิทธิ์ของ สปน. และบริษัท ไอทีวี ไม่ได้ยื่นคำร้องขอคืนสิทธิ์คลื่นความถี่ ถึงแม้จะชนะคดีที่ค้างอยู่ในขณะนี้ ก็ไม่สามารถกลับมาออกอากาศได้อีก จึงสรุปได้ว่า บริษัทไอทีวี ไม่มีสิทธิ์เป็นสถานีโทรทัศน์นับตั้งแต่วันที่ สปน.บอกเลิกสัญญา รวมทั้งไม่มีรายรับจากการประกอบกิจการสื่อโทรทัศน์นับแต่นั้นเป็นต้นมา แต่ยังต้องคงสถานะเป็นนิติบุคคล เนื่องจากยังมีคดีความฟ้องร้องกันอยู่ พิจารณาแล้วเห็นว่า นับตั้งแต่ สปน. บอกเลิกสัญญา จึงถือว่า บริษัทไอทีวี ไม่ได้ทำกิจการสื่อวิทยุโทรทัศน์หรือสื่อสิ่งพิมพ์นับตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา และไม่ได้เป็นผู้ได้รับอนุญาต ให้เป็นผู้กระจายเสียงวิทยุโทรทัศน์ตามกฎหมาย
ณ วันที่ นายพิธา ถือหุ้นไอทีวี บริษัทไม่ได้มีสถานะเป็นสื่อ จึงถือว่า สมาชิกภาพ สส. ของนายพิธา ไม่ได้สิ้นสุดลงตามคำร้อง