เผด็จการทหารพม่า ตอกกลับข้าหลวงใหญ่ยูเอ็น-พูดจาไร้ความหมาย

Home » เผด็จการทหารพม่า ตอกกลับข้าหลวงใหญ่ยูเอ็น-พูดจาไร้ความหมาย


เผด็จการทหารพม่า ตอกกลับข้าหลวงใหญ่ยูเอ็น-พูดจาไร้ความหมาย

เผด็จการทหารพม่า ตอกกลับข้าหลวงใหญ่ยูเอ็น-พูดจาไร้ความเชื่อมโยง

เผด็จการทหารพม่า – วันที่ 8 มี.ค. เอเอฟพีรายงานว่า เผด็จการทหารเมียนมา (พม่า) กล่าวตอบโต้ถึงข้อครหาจากนายโฟลเกอร์ เติร์ก ข้าหลวงใหญ่เพื่อสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ ว่าเป็นสิ่งที่ไม่เกี่ยวข้องสัมพันธ์กัน กรณีนายเติร์ก ระบุว่ากองทัพพม่าอาจก่ออาชญากรรมสงครามระหว่างการปราบปรามผู้ต่อต้านการรัฐประหารตั้งแต่ 1 ก.พ. 2564

ความเคลื่อนไหวดังกล่าวเกิดขึ้นหลังรายงานปัญหาสิทธิมนุษยชนของสำนักงานข้าหลวงใหญ่เพื่อสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ หรือโอเอชซีเอชอาร์ เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ระบุถึงสถานการณ์สิทธิมนุษยชนในพม่าที่กำลังเผชิญกับมิคสัญญีทางการเมืองหลังการยึดอำนาจ ว่าเป็นหายนะที่กำลังเน่าหนอน

เผด็จการพม่ายังเผชิญกับการต่อต้านจากกองกำลังชาติพันธุ์และประชาชนชาวพม่าที่มีแนวโน้มติดอาวุธเข้าต่อสู้กับกองทัพพม่าหลายพื้นที่ทั่วประเทศ ส่งผลให้กองทัพพม่ามีทหารไม่เพียงพอ และต้องอาศัยอาวุธสงครามเข้าสนับสนุน อาทิ การโจมตีทางอากาศด้วยเครื่องบินทิ้งระเบิด และการยิงสนับสนุนด้วยปืนใหญ่กว่า 300 ครั้งในปี 2565 โดยมีสถานศึกษาและโรงพยาบาลตกเป็นเป้าหมาย

กระทรวงการต่างประเทศของเผด็จการพม่า แถลงตอบโต้รายงานดังกล่าวว่า อาศัยข้อมูลจากคำครหาที่มีต่อรัฐบาลพม่าและกองทัพ ดังนั้นทางการพม่าจึงขอแสดงจุดยืนไม่เห็นด้วยกับคำแนะนำที่ไร้ความเชื่อมโยงใดๆ ของข้าหลวงใหญ่เพื่อสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ แต่รัฐบาลพม่าขอรับทราบว่า สหประชาชาติ หรือยูเอ็น ตระหนักดีถึงความรุนแรงที่กองทัพพม่าถูกกระทำจากกลุ่มติดอาวุธ

รายงานระบุว่า การสู้รบยังรวมถึงการลอบสังหารเจ้าหน้าที่รัฐระดับล่างที่ทำงานให้กับเผด็จการทหารพม่า ขณะที่กองกำลังติดอาวุธต่อต้านรัฐประหารนั้นยิงต่อสู้กับทหารพม่าเกือบทุกวัน แต่รายละเอียดการสู้รบนั้นมีน้อยและมักถูกตอบโต้อย่างรวดเร็วรุนแรงจากกองทัพ ส่วนเผด็จการพม่านั้นอ้างว่ามีพลเรือนเสียชีวิตจากการถูกกลุ่มก่อการร้ายสังหารแล้วกว่า 5 พันราย

ทั้งนี้ การแก้ไขปัญหาทางการทูตนั้นมีเพียงฉันทามติ 5 ข้อ จากสมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ หรืออาเซียน แต่เผด็จการพม่ายังคงล้มเหลวในการดำเนินตามฉันทามติดังกล่าว

ขณะที่คณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ หรือยูเอ็นเอสซี เผยแพร่ข้อมติเรียกร้องให้ปล่อยตัวนางออง ซาน ซูจี และนักโทษการเมืองทั้งหมด เมื่อเดือนธ.ค. 2565 แต่ทางการรัสเซีย จีน และอินเดีย แม้ไม่ได้ใช้อำนาจวีโต้แต่ของดออกเสียงต่อข้อมติดังกล่าว

แท็กที่เกี่ยวข้อง

เรื่องอื่นที่น่าสนใจ