ภายหลังจากศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยว่า ความเป็นรัฐมนตรีของนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี สิ้นสุดลงเฉพาะตัวตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 170 วรรรคหนึ่ง (4) ประกอบมาตรา 160 (4) และ (5) ซึ่งส่งผลให้นายเศรษฐา พ้นจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีโดยทันที และส่งผลให้คณะรัฐมนตรีต้องพ้นจากตำแหน่งทั้งคณะ
- ‘อนุทิน’ ยืนยัน ยินดีสนับสนุน แคนดิเดตนายกคนใหม่ จาก พรรคเพื่อไทย
- พรรคประชาชน แถลงจุดยืน! ไม่ขอมีส่วนร่วมในการโหวตนายกคนใหม่จาก เพื่อไทย
- เพื่อไทย เคาะแล้ว! ชู ‘ชัยเกษม นิติสิริ’ เป็นแคนดิเดตนายกคนใหม่
โดยขั้นตอนการเลือกนายกรัฐมนตรีที่จะเกิดขึ้นในครั้งนี้ จะต้องใช้เสียง สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (สส.) เกินครึ่งหนึ่ง โหวตเลือก โดยจะไม่มีสมาชิกวุฒิสภา (สว.) ชุดพิเศษมาร่วมโหวตเลือกนายกรัฐมนตรี ตามรัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 272 แล้ว ขั้นตอนการเลือกนายกรัฐมนตรี ตามรัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 159 มีดังนี้
1) พรรคการเมืองที่มี สส. ในสภา ไม่น้อยกว่า 5% (25 คน) สามารถเสนอชื่อแคนดิเดตนายกรัฐมนตรี จากบัญชีรายชื่อที่พรรคการเมืองเคยแจ้งไว้ในการเลือกตั้งทั่วไป ซึ่งตามรัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 88 กำหนดให้พรรคการเมืองส่งบัญชีรายชื่อแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีได้ไม่เกินสามชื่อ
โดยการเสนอชื่อผู้สมควรได้รับเลือกเป็นนายกรัฐมนตรี จะต้องเสนอชื่อผู้ที่มีคุณสมบัติและไม่มีลักษณะต้องห้ามตามมาตรา 160 ดังนั้น พรรคเพื่อไทยซึ่งมีเศรษฐา ทวีสินอยู่ในบัญชีรายชื่อแคนดิเดตนายกรัฐมนตรี จะเสนอชื่อเศรษฐาอีกรอบไม่ได้ เพราะศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยแล้วว่าเศรษฐาเป็นผู้ที่ขาดคุณสมบัติและมีลักษณะต้องห้ามตามมาตรา 160 (4) และ (5)
การเสนอชื่อแคนดิดเดตนายกรัฐมนตรีเพื่อให้สภาผู้แทนราษฎรลงมติเลือก จะต้องมีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (สส.) รับรองด้วยจำนวนไม่น้อยกว่าหนึ่งใน 10 ของ สส. ทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ในสภาผู้แทนราษฎร จากข้อมูล ณ วันที่ 14 สิงหาคม 2567 มี สส. ทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ 493 คน โดยสส. หกคนที่สมาชิกภาพสิ้นสุดลงเนื่องจากกรณีการยุบพรรคก้าวไกลและถูกตัดสิทธิลงสมัครรับเลือกตั้ง และอีกหนึ่งคนมุกดาวรรณ เลื่องศรีนิล สส. พรรคภูมิใจไทย ที่ถูกศาลฎีกาสั่งหยุดปฏิบัติหน้าที่ ดังนั้นจำนวนผู้รับรองในการเสนอชื่อแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีไม่น้อยกว่าหนึ่งใน 10 จะอยู่ที่ 50 คน
สำหรับพรรคการเมืองที่มี สส. ไม่น้อยกว่า 5% ที่มีสิทธิเสนอชื่อบุคคลให้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีและมีแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีให้สภาผู้แทนราษฎรโหวตเลือกได้ ประกอบไปด้วย
- พรรคเพื่อไทย มี สส. 141 คน บัญชีรายชื่อแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีมีสองคน คือ 1) แพทองธาร ชินวัตร และ 2) ชัยเกษม นิติสิริ
- พรรคภูมิใจไทย มี สส. 70 คน (ไม่นับรวมผู้ที่ศาลสั่งหยุดปฏิบัติหน้าที่) บัญชีรายชื่อแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีมีหนึ่งคน คือ อนุทิน ชาญวีรกูล
- พรรคพลังประชารัฐ มี สส. 40 คน บัญชีรายชื่อแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีมีหนึ่งคน คือ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ
- พรรครวมไทยสร้างชาติ มี สส. 36 คน บัญชีรายชื่อแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีมีสองคน คือ 1) พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา อดีตนายกรัฐมนตรี โดยปัจจุบันประยุทธ์ดำรงตำแหน่งเป็นองคมนตรี และ 2) พีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค
- พรรคประชาธิปัตย์ มี สส. 25 คน เป็นขั้นต่ำของพรรคที่จะเสนอแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีได้พอดี บัญชีรายชื่อแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีมีหนึ่งคน คือ จุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์
2) สภาผู้แทนราษฎรลงมติเลือกนายกรัฐมนตรี จากผู้ได้รับการเสนอชื่อ โดยขั้นตอนการเลือกนายกรัฐมนตรีจะทำโดยเปิดเผย กล่าวคือ ใช้วิธีการเรียกชื่อ สส. แต่ละคนและให้ สส. ลงคะแนนเลือกนายกรัฐมนตรี ผู้ที่ได้รับเลือก จะต้องมีคะแนนเสียงมากกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวน สส. ทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของสภาผู้แทนราษฎร เมื่อมี สส. ทั้งหมด 493 คน เท่ากับว่าต้องได้คะแนนเสียงตั้งแต่ 248 เสียงขึ้นไปจึงจะได้รับเลือกเป็นนายกรัฐมนตรี