เปิดไทม์ไลน์ ดูแลลูกช้างป่า ‘พังฟ้าใส’ เหยื่อบ่วงแร้ว ภัยคุกคามชีวิตสัตว์ป่า เจ้าหน้าที่ช่วยเหลือสุดกำลัง สุดท้ายยื้อไม่ไหว จากไปอย่างสงบ
วันที่ 31 ธ.ค.64 นายพิทักษ์ อินทศร ผู้อำนวยการส่วนอนุรักษ์สัตว์ป่า สำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 2 (ศรีราชา) เปิดช่วงเวลาช่วยเหลือ หลังรับแจ้งพบลูกช้างป่าบาดเจ็บ (ติดบ่วงแร้ว) บริเวณพื้นที่บริเวณบ้านคลองยายไท ต.ขุนซ่อง อ.แก่งหางแมว จ.จันทบุรี จึงส่งทีมสัตวแพทย์เข้าช่วยเหลือและรักษาลูกช้างป่า
#เจอครั้งแรก : วันที่ 28 พ.ย.64
นายรวมศิลป์ มานะจงประเสริฐ ผู้อำนวยการสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 2 (ศรีราชา) นายพิทักษ์ อินทศร ผู้อำนวยการส่วนอนุรักษ์สัตว์ป่า นายพิทักษ์ ยิ่งยง หัวหน้าเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเขาเขียว-เขาชมภู่ พร้อมทีมสัตวแพทย์และเจ้าหน้าที่ ประจำสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 2 (ศรีราชา) เดินทางเข้าไปประเมินสถานการณ์และอาการของลูกช้างดังกล่าวก่อนทำการเคลื่อนย้ายลูกช้างมาที่หน่วยพิทักษ์อุทยานแห่งชาติเขาสิบห้าชั้นที่ 1 (เขาหินขวาก)
พบว่าเป็นลูกช้างป่าเพศเมีย น้ำหนักประมาณ 80 กิโลกรัม อายุประมาณ 3 เดือน อยู่ในคูกันช้าง มีอาการบาดเจ็บถูกบ่วงแร้วรัดที่ข้อเท้าขาหน้าข้างขวา หลังจากนั้นได้เคลื่อนย้ายลูกช้างดังกล่าวไปไว้ที่คอกอนุบาลชั่วคราว ณ หน่วยพิทักษ์อุทยานแห่งชาติเขาสิบห้าชั้นที่ 1 (เขาหินขวาก)
จากการประเมินสภาพภายนอกพบว่า ที่ข้อเท้าขาหน้าข้างขวาถูกบ่วงแร้วรัดเป็นบาดแผลลึกถึงกระดูกจนเกือบขาด ลักษณะเป็นแผลติดเชื้อรุนแรง พบหนองและเนื้อตาย คาดว่าน่าจะถูกบ่วงแร้วรัดมานานระยะเวลา 2-3 อาทิตย์ ส่วนขาหน้าข้างซ้ายบริเวณต้นขาพบว่ามีแผลเป็นรู 8 รู ยังไม่สามารถบ่งบอกได้ว่าเกิดจากสาเหตุอะไร พบว่ามีเลือดซึมออกมาจากบาดแผล
นอกจากนี้ยังพบว่าลูกช้างตัวดังกล่าวมีภาวะการขาดน้ำอยู่ที่ 8% เยื่อตาขาวแดงเล็กน้อย มีสภาพอิดโรยเล็กน้อย สัตวแพทย์จึงตัดเชือกบ่วงแร้วที่รัดข้อเท้าลูกช้างออก และฉีดยาปฏิชีวนะเพื่อลดการติดเชื้อจากบาดแผล ยาลดไข้ ยาลดอักเสบลดปวด ยาบำรุง และยาป้องกันภาวะเครียด
#ช่วยเหลือดูแล : วันที่ 29-30 พ.ย.64
สัตวแพทย์ พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่ประจำสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 2 (ศรีราชา) และทีมสัตวแพทย์ประจำศูนย์ช่วยเหลือสัตว์ป่าที่ 2 (กระบกคู่) ทำการล้างทำความสะอาดบาดแผลที่ถูกบ่วงรัด พบว่าข้อเท้าเกือบขาดแต่ยังคงมีส่วนที่เป็นเนื้อเยื่อกล้ามเนื้อยึดติดเล็กน้อย และจากการเอ๊กซเรย์พบว่า รอยบาดแผลลึกถึงกระดูกโดยอยู่บริเวณที่ข้อเท้าพอดี
#ส่งต่อเคลื่อนย้าย :วันที่ 1-2 ธ.ค.64
ทีมสัตวแพทย์ประจำส่วนอนุรักษ์สัตว์ป่า เจ้าหน้าที่ศูนย์ช่วยเหลือสัตว์ป่าที่ 2 (กระบกคู่) เจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติเขาสิบห้าชั้น เจ้าหน้าที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเขาเขียว-เขาชมภู่ และอาสากู้ภัยบูรพารวมใจอำเภอวังจันทร์ จ.ระยอง เคลื่อนย้ายลูกช้างจากหน่วยพิทักษ์อุทยานเขาหินขวาก อุทยานแห่งชาติเขาสิบห้าชั้น บ้านโป่งเกตุ ตำบลขุนซ่อง อำเภอแก่งหางแมว จังหวัดจันทบุรี มายังสวนนงนุช พัทยา จังหวัดชลบุรี เวลา 16.44 น. และทำแผล รักษา และเฝ้าสังเกตอาการอย่างต่อเนื่อง
#รักษาตัดปลายข้อเท้า : วันที่ 3 ธ.ค.64
ทีมสัตวแพทย์ และเจ้าหน้าที่ส่วนอนุรักษ์สัตว์ป่า เจ้าหน้าที่เขตห้ามล่าสัตว์ป่าเขาชีโอน และทีมสัตวแพทย์ประจำโรงพยาบาลสัตว์เนินพลับหวาน พัทยา ได้ทำการตัดปลายข้อเท้าข้างขวา ในส่วนที่เน่า และเป็นเนื้อตายออก
#ผ่ากระสุน : วันที่ 4-10 ธ.ค.64
ทีมสัตวแพทย์ และเจ้าหน้าที่ส่วนอนุรักษ์สัตว์ป่า เจ้าหน้าที่เขตห้ามล่าสัตว์ป่าเขาชีโอน และทีมสัตวแพทย์ประจำโรงพยาบาลสัตว์เนินพลับหวาน พัทยา ร่วมกันทำการล้างแผลบริเวณขาหน้าซ้ายที่พบรู (ร่องรอยการถูกยิง) และขาหน้าขวา
โดยในวันที่ 10 ธ.ค.64 ได้เคลื่อนย้ายลูกช้างไปโรงพยาบาลสัตว์เนินพลับหวาน พัทยา เพื่อวางยาสลบและทำผ่าตัดคีบกระสุนออกมาได้จำนวน 13 ชิ้น (ชิ้นใหญ่ 9 และชิ้นเล็ก 4 ชิ้น) และทำการรักษาด้วยเลเซอร์เพื่อลดปวดที่แผลและเร่งการสร้างของเนื้อเยื่อใหม่ พร้อมฉีดยาปฏิชีวนะ ยาลดปวดลดอักเสบพร้อมทั้งเก็บตัวอย่างเลือดเพื่อนำไปตรวจโรคที่สำคัญในช้าง และตรวจค่าเม็ดเลือดรวมประเมินสุขภาพเบื้องต้น
ผลการวิเคราะห์เลือดพบว่า ลูกช้างดังกล่าวมีภาวะการขาดน้ำ (Dehydrate) ภาวะระดับน้ำตาลในกระแสเลือดต่ำ (Hypoglycemia) ภาวะโลหิตจาง(Anemia) มีการติดเชื้อในกระแสเลือดสูง(Septicemia) และมีภาวะไตวายเฉียบพลัน(Acute renal failure) หลังจากให้ยาแก้ฤทธิ์ยาซึมแล้ว ลูกช้างได้ฟื้นจากยาซึมเป็นปกติดี
#ดูแลรักษาต่อเนื่อง : วันที่ 11-29 ธ.ค.64
ทีมเจ้าหน้าที่สัตวแพทย์ เจ้าหน้าที่ส่วนอนุรักษ์สัตว์ป่า เจ้าหน้าที่เขตห้ามล่าสัตว์ป่าเขาชีโอน เจ้าหน้าที่สถานีเพาะเลี้ยงสัตว์ป่าบางละมุง และทีมสัตวแพทย์ประจำโรงพยาบาลสัตว์เนินพลับหวาน พัทยา ร่วมกันทำการรักษาลูกช้าง โดยการล้างแผล และเฝ้าสังเกตอาการอย่างต่อเนื่อง
#ก่อนจากไป : วันที่ 30 ธ.ค.64
– เวลาประมาณ 03.00 น. พบว่า ลูกช้างมีอาการลุกไม่ขึ้น ไม่มีแรงยันตัวขึ้น ท้องเสีย และไม่กินนม
– เวลา 08.00 น. ทีมสัตวแพทย์ เจ้าหน้าที่ส่วนอนุรักษ์สัตว์ป่า เจ้าหน้าที่เขตห้ามล่าสัตว์ป่าเขาชีโอน เจ้าหน้าที่สถานีเพาะเลี้ยงสัตว์ป่าบางละมุง และทีมสัตวแพทย์ประจำโรงพยาบาลสัตว์เนินพลับหวาน พัทยา ทำการรักษาโดยให้สารน้ำเกลือเข้าหลอดเลือดดำ ยาปฏิชีวนะ ยาลดไข้ และยาบำรุง พร้อมทั้งให้ออกซิเจนอย่างต่อเนื่อง ซึ่งลูกช้างมีการตอบสนองต่อการรักษา มีอาการดีขึ้น จนสามารถลุกขึ้นยืนเองได้
– เวลา 18.00 น. ลูกช้างมีอาการทรุดลง ไม่ยอมกินนม และนอนนิ่ง
– เวลา 21.00 น. ลูกช้างมีอาการท้องอืด หัวใจหยุดเต้น และหยุดหายใจกะทันหัน ทีมสัตวแพทย์ฯ จึงทำการกู้ชีพ โดยการปั๊มหัวใจให้ยากระตุ้นการเต้นของหัวใจ ยากระตุ้นการหายใจ และเจาะท้องเพื่อระบายก๊าซออกจากกระเพาะ
ทั้งนี้ ในระหว่างการดูแลรักษาลูกช้างฟ้าใส ทีมเจ้าหน้าที่สัตวแพทย์ เจ้าหน้าที่ส่วนอนุรักษ์สัตว์ป่า เจ้าหน้าที่เขตห้ามล่าสัตว์ป่าเขาชีโอน เจ้าหน้าที่สถานีเพาะเลี้ยงสัตว์ป่าบางละมุง ทีมสัตวแพทย์ประจำโรงพยาบาลสัตว์เนินพลับหวาน พัทยา และเจ้าหน้าที่ประจำสวนนงนุชพัทยา ได้ดูแล รักษา และเฝ้าสังเกตอาการอย่างใกล้ชิด และต่อเนื่อง
#ครั้งสุดท้าย : วันที่ 31 ธ.ค.64
ทีมเจ้าหน้าที่สัตวแพทย์ เจ้าหน้าที่ส่วนอนุรักษ์สัตว์ป่า เจ้าหน้าที่เขตห้ามล่าสัตว์ป่าเขาชีโอน เจ้าหน้าที่สถานีเพาะเลี้ยงสัตว์ป่าบางละมุง และทีมสัตวแพทย์ประจำโรงพยาบาลสัตว์เนินพลับหวาน พัทยา ได้เคลื่อนย้ายลูกช้าง ไปยังเขตห้ามล่าสัตว์ป่าเขาชีโอน เพื่อทำการผ่าชันสูตรซาก
พร้อมทั้งเก็บตัวอย่างชิ้นเนื้อ เพื่อนำไปตรวจชันสูตร ณ ห้องปฏิบัติการ และได้ดำเนินการประกอบพิธิสงฆ์ ฝังกลบ และทำลายซากตามหลักวิชาการ สำหรับสาเหตุการตายของลูกช้าง ทางทีมเจ้าหน้าที่สัตวแพทย์ จะแจ้งให้ทราบในลำดับต่อไป