เปิดไทม์ไลน์ “การร้อง” กรณีถือหุ้นสื่อ ITV ของ “พิธา”

Home » เปิดไทม์ไลน์ “การร้อง” กรณีถือหุ้นสื่อ ITV ของ “พิธา”

ประเด็นร้อนของการเมืองไทยตอนนี้ คงหนีไม่พ้นประเด็นการถือหุ้นสื่อ ITV ของ “พิธา ลิ้มเจริญรัตน์” หัวหน้าพรรคก้าวไกล ที่อาจจะกลายเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้บทบาททางการเมืองของพิธาต้องสิ้นสุดลง ด้วยหลักฐานที่หลายฝ่ายได้เข้ายื่นเป็นหลักฐานข้อมูลต่อ กกต. แม้พิธาจะออกมายืนยันอย่างหนักแน่นว่าไม่หนักใจ แต่ประชาชนที่ลงคะแนนเลือกก้าวไกลก็แอบหนักใจ กินไม่ได้ นอนไม่หลับกันมาหลายวัน กระทั่งรายการ “ข่าว 3 มิติ” ได้งัดหลักฐานเด็ดชิ้นสำคัญออกมาแสดง กลายเป็นประเด็นร้อนของสังคมอีกครั้ง 

Sanook เปิดไทม์ไลน์กรณีการถือหุ้นสื่อของพิธา และการทำงานของเหล่า “นักร้อง” ตั้งแต่ก่อนการเลือกตั้งจนถึงวันนี้ 

24  เม.ย. 2566

นิกม์ แสงศิรินาวิน อดีตผู้สมัคร ส.ส. พรรคอนาคตใหม่ ปี 2562 และอดีตผู้สมัคร ส.ส. พรรคภูมิใจไทย ปี 2566 โพสต์ข้อความบนเฟสบุ๊ก พร้อมแนบเอกสารเชิญประชุมสามัญผู้ถือหุ้นประจำปี 2566 ของบริษัท ไอทีวี จำกัด (มหาชน) โดยข้อความระบุว่า 

นักการเมืองที่กำลังถือหุ้น ITV เตรียมตัวประชุมสามัญผู้ถือหุ้นประจำปี และมอบตัว กกต. ด้วยนะครับ

หัวหน้าพรรคหนึ่งถือ 42,000 หุ้น” 

26 เม.ย. 2566

บริษัทไอทีวีจัดประชุมสามัญประจำปี 2566 ผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งในบันทึกการประชุมดังกล่าวที่ถูกเปิดเผยในเวลาต่อมา ระบุว่าภาณุวัฒน์ ขวัญยืน ผู้ถือหุ้น ได้ทำการสอบถามว่าบริษัทไอทีวียังดำเนินการเกี่ยวกับสื่อหรือไม่ ซึ่งผู้บริหารไอทีวี ตอบว่า 

“ปัจจุบันบริษัทยังดำเนินกิจการตามวัตถุประสงค์ของบริษัท และมีการส่งงบการเงินและยื่นแบบภาษีเงินได้นิติบุคคลตามปกติ”

9 พ.ค. 2566

เรืองไกร ลีกิจวัฒนะ สมาชิกพรรคพลังประชารัฐ​ เข้ายื่นหนังสือต่อประธาน ปปช. ขอให้ตรวจสอบพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ในฐานะ ส.ส. ว่าได้แจ้งเงินลงทุนในบริษัทไอทีวี จำนวน 42,000 หุ้น ต่อ ปปช. กรณีเข้ารับตำแหน่ง ส.ส. หรือไม่

10 พ.ค. 2566

เรืองไกรเดินทางไปยื่นคำร้องต่อประธาน กกต. ให้ตรวจสอบกรณีการถือหุ้นไอทีวีของพิธา ว่ามีลักษณะต้องห้ามในการลงรับสมัครเลือกตั้ง ส.ส. ตามรัฐธรมนูญหรือไม่ 

11 พ.ค. 2566

เรืองไกรยื่นเพิ่มเติมต่อ กกต. ว่ากรณีของพิธา เข้าข่ายต้องพ้นจากสมาชิกพรรคก้าวไกล และหัวหน้าพรรคก้าวไกลหรือไม่ ขณะที่ศรีสุวรรณ จรรยา เลขาธิการสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย ให้สัมภาษณ์กับสื่อมวลชนว่าเตรียมจะยื่นหลักฐานเพื่อตรวจสอบพิธา ในกรณีการถือหุ้นสื่อเช่นกัน พร้อมยืนยันว่าตัวเองมีหลักฐานที่แตกต่างจากเรืองไกร 

12 พ.ค. 2566

สนธิญา สวัสดี อดีตที่ปรึกษากรรมาธิการ การกฎหมาย การยุติธรรม และสิทธิมนุษยชน ยื่นเรื่องต่อ กกต. ขอให้ตรวจสอบพิธา กรณีถือหุ้นสื่อไอทีวี ที่อาจเข้าข่ายขัดต่อ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญ ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. 

16 พ.ค. 2566

เรืองไกรยื่น กกต. ขอให้ตรวจสอบเพิ่มเติมว่า พิธาอาจมีความผิดเนื่องจากถือครองหุ้นสื่อ 

19 พ.ค. 2566 

สนธิญา ยื่นเรื่องเร่ง กกต. ให้ตรวจสอบคุณสมบัติของพิธา กรณีการถือหุ้นสื่อ 

24 พ.ค. 2566

เรืองไกร ยื่นเรื่องต่อ กกต. ให้ตรวจสอบเพิ่มเติมว่าการเป็นผู้ถือหุ้นไอทีวี ขณะลงรับสมัคร ส.ส. และยินยอมให้เสนอชื่อนายกรัฐมนตรี เข้าข่ายลักษณะต้องห้ามหรือไม่ เช่นเดียวกับยื่น กกต. ให้ตรวจสอบ 8 พรรคการเมืองที่ร่วมกันลงนาม MOU เพื่อจัดตั้งรัฐบาล เมื่อวันที่ 22 พ.ค. 2566 ว่าอาจเข้าข่ายผิดมาตรา 28 พ.ร.ป. ว่าด้วยพรรคการเมืองหรือไม่ 

29 พ.ค. 2566

เรืองไกร เข้าให้ถ้อยคำเพิ่มเติมต่อ กกต. กรณีร้องเรียนให้ตรวจสอบการถือหุ้นสื่อของพิธา พร้อมให้สัมภาษณ์กับสื่อมวลชน ระบุว่า กกต. จำเป็นต้องเร่งรัดตรวจสอบ เช่นเดียวกับสนธิญา ที่เดินทางไปยื่นขอให้ กกต. ระบุระยะเวลาในการตรวจสอบพิธา 

1 มิ.ย. 2566

ศรีสุวรรณ เข้ายื่นหลักฐานต่อ กกต. กรณีพิธาถือครองหุ้นบริษัทไอทีวี จำนวน 42,000 หุ้น  

6 มิ.ย. 2566

เรืองไกร เข้าให้ข้อมูลเพิ่มเติมกับ กกต. กรณีการถือหุ้นไอทีวีของพิธา ซึ่งในระหว่างที่เรืองไกรให้สัมภาษณ์กับสื่อมวลชนอยู่นั้น ภัทรพงศ์ ศุภักษร หรือ “ทนายอั๋น” ที่เข้ามายื่นหนังสือต่อ กกต. คัดค้านคำร้องของเรืองไกร ได้ยืนฟังอยู่ด้วย ทำให้เรืองไกรรีบจบการสัมภาษณ์ โดยไม่เปิดให้สื่อมวชนซักถาม 

7 มิ.ย. 2566

สนธิญา เดินทางไปยื่นตรวจสอบเพิ่มต่อ กกต. กรณีพิธาถือหุ้นสื่อ พร้อมเสนอยุบพรรคก้าวไกล 

8 มิ.ย. 2566

กลุ่ม 24 มิถุนาประชาธิปไตย นำโดยสมยศ พฤกษาเกษมสุข พร้อมแนวร่วม เข้ายื่นหนังสือให้ กกต. เร่งประกาศรับรองผลการเลือกตั้ง และไม่รับคำร้องให้ตรวจสอบคุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามของพิธา กรณีถือหุ้นสื่อ 

9 มิ.ย. 2566

กกต. มีมติเอกฉันท์ 6 เสียง ไม่รับคำร้องกรณีพิธา มีคุณสมบัติต้องห้ามตามรัฐธรรมนูญ ในการรับสมัครเลือกตั้ง ส.ส.​ จากการถือหุ้นไอทีวี โดยเห็นว่าคำร้องที่ได้ยื่นมาของทั้ง 3 คน เป็นคำร้องที่ยื่นเกินระยะเวลาที่จะสั่งรับคำร้องไว้พิจารณา อย่างไรก็ตาม คำร้องดังกล่าวมีรายละเอียด หลักฐาน และข้อมูลเพียงพอที่จะสืบสวนไต่สวนว่า พิธาเป็นบุคคลที่มีลักษณะต้องห้ามไม่ให้ใช้สิทธิรับสมัครเลือกตั้ง แต่ได้สมัครรับเลือกตั้ง ซึ่งอาจเข้าข่ายกระทำผิดฝ่าฝืนมาตรา 151 ของ พ.ร.ป. ว่าด้วยการเลือกตั้ง 

11 มิ.ย. 2566

รายการข่าว 3 มิติ เผยแพร่คลิปบันทุกการประชุมสามัญผู้ถือหุ้น ประจำปี 2566 ของบริษัทไอทีวี วันที่ 26 เม.ย. 2566 ซึ่งเป็นการประชุมแบบออนไลน์ แต่เนื้อหาสำคัญของคลิปดังกล่าวกับบันทึกการประชุมที่เป็นลายลักษณ์อักษร กลับมีเนื้อหาแตกต่างกัน ซึ่งหลักฐานล่าสุดที่ถูกเปิดเผยกลายเป็นเชื้อไฟให้ประเด็นถกเถียงเรื่องพิธาถือหุ้นสื่อยิ่งร้อนแรงในสังคม 

ในคลิปวิดีโอดังกล่าวแสดงให้เห็นว่าภาณุวัฒน์ ผู้ถือหุ้น ได้ทำการสอบถามว่าบริษัทไอทีวียังดำเนินการเกี่ยวกับสื่อหรือไม่ ซึ่งผู้บริหารไอทีวี ตอบว่า 

“ตอนนี้บริษัทยังไม่มีการดำเนินการใด ๆ นะครับ ก็รอผลคดีความให้สิ้นสุดก่อนนะครับ”

12 มิ.ย. 2566

นิกม์ ให้สัมภาษณ์สดผ่านรายการกรรมกรข่าวคุยนอกจอ ยืนยันว่าเรื่องการประชุมผู้ถือหุ้นไอทีวี สิ่งที่ตัวเองได้ยิน ไม่ตรงกับคลิปที่ถูกเปิดเผยในรายการข่าว 3 มิติ โดยยืนยันว่าสิ่งที่บันทึกในรายงานถูกต้อง และเชื่อว่าไอทีวีมีหลักฐานฉบับเต็มเก็บไว้ 

ด้านบริษัท อินทัช โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) ได้ส่งหนังสือแจ้งกรรมการและผู้จัดการตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ว่ากำลังตรวจสอบข้อเท็จจริงเกี่ยวกับรายงานการประชุมผู้ถือหุ้นบริษัทไอทีวี ซึ่งเป็นบริษัทในเครือ

แท็กที่เกี่ยวข้อง

เรื่องอื่นที่น่าสนใจ