เปิดใจ 3 นักดับเพลิงผู้กล้า เสี่ยงตายเข้าไปปิดวาล์วถังสารเคมี หยุดไฟไหม้โรงงานกิ่งแก้ว

Home » เปิดใจ 3 นักดับเพลิงผู้กล้า เสี่ยงตายเข้าไปปิดวาล์วถังสารเคมี หยุดไฟไหม้โรงงานกิ่งแก้ว
เปิดใจ 3 นักดับเพลิงผู้กล้า เสี่ยงตายเข้าไปปิดวาล์วถังสารเคมี หยุดไฟไหม้โรงงานกิ่งแก้ว

เปิดใจ 3 นักดับเพลิงผู้กล้า เสี่ยงตายเข้าไปปิดวาล์วถังสารเคมี เล่านาทีระทึก คนนึงปิดวาล์ว อีกคนต้องฉีดผลักไฟ ทำงานแข่งกับเวลาและความร้อน 

“ผมก็รู้สึกกลัวนะ เราก็เห็นข่าวการระเบิดก่อนจะเข้าพื้นที่ บอกทุกคนว่าไหว ไม่ต้องเป็นห่วง แต่พอบุกเข้าไปแล้วต้องแข่งกับเวลา ทั้งควันทั้งไฟ ถาโถมเข้ามา มองเห็นข้างหน้าไม่เกิน 50 เมตร” คุณเติ้ล หรื อนายฉัตรชัย อภิวงค์ พนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยปฏิบัติงาน กองปฏิบัติการดับเพลิงและกู้ภัย 5 ปภ.กทม. สังกัดสถานีดับเพลิงและกู้ภัยบางอ้อ 1 ใน 3 ผู้กล้า บุกเข้าไปปิดวาล์วถังสารเคมีกลางโรงงานหมิงตี้ เคมีคอล ซ.กิ่งแก้ว 21

โดยอีก 2 คนได้แก่ นายวิทวัส ประสงค์ทรัพย์ หรือ พี่แอม สังกัดสถานีดับเพลิงและกู้ภัยตลิ่งชัน และ นายนฐพล ดานะ หรือ พี่ต๋ง สังกัดสถานีดับเพลิงและกู้ภัยดาวคะนอง

เราได้รับคำสั่งจาก กทม. ให้เป็นทีมสนับสนุน ซึ่งก็ได้เตรียมตัวและอุปกรณ์ทันทีที่เกิดไฟไหม้ขึ้น สถานีดับเพลิงใดใกล้ก็ทยอยไปกันก่อน ชุดของผม 4 คน ไปถึงตอนบ่าย 2 และรายงานตัวกับผู้บังคับบัญชาเพื่อปฏิบัติหน้าที่ร่วมกับทีมอื่นๆ ช่วงแรกก็เน้นไปที่การฉีดโฟมโดยยืนเหนือลม ใส่อุปกรณ์เครื่องช่วยหายใจ ถังอัดอากาศ หน้ากากกรองสารเคมี เพราะต้องทำงานกลางกลุ่มควันและก๊าซพิษ โดยทั่วไปก็จะเป็นถังขนาด 6 ลิตร อยู่ได้ประมาณ 45 นาที มีเซ็ทเวลาเข้าออก สลับกับทีมอื่นไปเรื่อยๆ

แต่สถานการณ์ไม่ดีขึ้น จนค่ำจึงมีแผนจากผู้บังคับบัญชาหน้างานให้ส่งทีมสำรวจไปรอบโรงงาน พอประมาณ 3-4 ทุ่ม ไฟเริ่มโหมหนักขึ้น ต้องย้ายทีมออกไปตั้งหลักด้านนอก ก่อนตัดสินใจเข้าไปด้านในโรงงานซอยข้างหลัง ซึ่งทีมสำรวจไปดูจุดแล้วว่าควันมันขึ้นสูง เราอยู่ได้ข้างลมด้านทิศตะวันตก ซึ่งลมพัดควันไปทางทิศใต้ 

รอบแรกที่เข้าไปสำรวจ ต้องปีนข้ามรั้ว เดินเลาะไปเรื่อยๆ เพื่อประเมินระยะทาง คำนวณระยะเวลา ระยะการวิ่งสาย ประเมินความเสี่ยงทั้งหมด มีระยะการมองเห็นประมาณ 50 เมตร เดินเข้าไปเห็นแท้งค์ขนาดใหญ่ มีรั้วกั้นอยู่อีกชั้น แต่ยังมีบันไดทางขึ้น จากนั้นได้เดินสำรวจไลน์ท่อ และพบรอยรั่วตรงข้อต่อ มีสารเคมีพุ่งออกมาตรงนั้นหลายจุด เสร็จแล้วก็ออกมาประเมินสถานการณ์ การเข้าฉีด วางแผนกัน วินาทีนั้นเราก็ต้องเร่งทำงาน และคำนึงความปลอดภัยของตัวเราด้วย ชุดดับเพลิงที่ใช้ ไม่ได้กันไฟโดยตรง เป็นแบบใช้ภายในอาคารที่สามารถป้องกันความร้อนในระดับ 300-400 องศาเซลเซียส แต่เวลาใช้งานก็จะรู้สึกอบร้อน และอยู่ได้ไม่นาน ขึ้นอยู่กับแต่ละตัวบุคคลด้วย

AFP

เมื่อวางแผนครบทุกอย่างแล้ว เรา 3 คน ก็เข้าไปด้วยกันเพื่อปิดวาล์ว มีแอม ต๋ง เติ้ล และก็มีอีกทีมฉีดน้ำเซฟให้ด้านนอก ฉีดผลักเปลวไฟให้ออกไปจากเราและให้เราเข้าไปปิดวาล์วให้ได้ ซึ่งวาล์วจะต้องปิดวนขวาไปหาจากตัวที่ 1 ไปตัวที่ 2 และตัวที่ 3 ซึ่งอยู่ใกล้รอยรั่วมากๆ ไฟมันก็จะพุ่งเข้ามา คนนึงปิดวาล์ว อีกคนต้องฉีดผลักไฟ ทำงานแข่งกับเวลาและความร้อน อยู่ตรงนั้นประมาณ 15 นาที จากนั้นทีมได้กลับออกมาแสตนบายข้างนอก และเห็นว่าไฟมันลดลงจนมันดับไป คิดว่าคงไม่มีจุดรั่วอีกแล้ว ตอนนี้อีกทีมก็เข้ามาเก็บงาน ฉีดโฟมคลุมกันต่อ 

“ถ้าถามความเสี่ยงตอนนั้น คงคิดว่า 50-50 แต่ประเมินแล้วว่าทำได้ กลัวแค่มันจะระเบิดเหมือนที่เห็นในคลิป ขอบคุณทีมเซฟข้างหลัง ผู้บัญชาการทุกท่าน และทีมงาน ทุกคนมีส่วนช่วยกันทั้งหมด ผมทำงานตรงนี้มา 3 ปีแล้ว ก่อนออกจากสถานี ก็โทรบอกแฟนว่าจะไปที่เกิดเหตุ แฟนก็บอกให้ระวังตัว เป็นห่วง ครอบครัวก็เป็นห่วงทางบ้านก็โทรมา โซเชียลติดตามกันเยอะ เพื่อนก็ถามกันใหญ่ เตือนให้ระวัง ก็บอกว่าปลอดภัยไม่เป็นไร มีทีมดี อุปกรณ์ครบ ปลอดภัยแน่นอน ไม่ต้องห่วง”

อย่างไรก็ตาม แม้ภารกิจการเข้าไปปิดวาล์วที่ต้นเพลิง จะช่วยหยุดการรั่วไหลของสารเคมีเพิ่มเติมเอาไว้ได้ แต่เจ้าหน้าที่ยังคงต้องฉีดโฟมเพื่อควบคุมไม่ให้สารเคมีที่รั่วไหลอยู่เดิมกลับมาติดไฟ ซึ่งจนถึงขณะนี้ 18:30 น. ยังคงมีไฟกลับมาปะทุอีกครั้ง

แท็กที่เกี่ยวข้อง

เรื่องอื่นที่น่าสนใจ