เมื่อวันที่ 18 มิถุนายน 2567 ที่ผ่านมา ถือเป็นวินาทีประวัติศาสตร์ของชุมชน LGBTQIA+ หลังมีประกาศว่าสมรสเท่าเทียมผ่านแล้ว คู่รักทุกคู่สามารถจดทะเบียนสมรสกันได้โดยไม่มีเรื่องเพศเข้ามาเป็นเงื่อนไข ทำให้ LGBTQIA+ หลายคนต่างรู้สึกยินดีและดีใจกับการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น
ในส่วนของบางคนในสังคมก็มีความคิดว่าการมีสมรสเท่าเทียมแปลว่าประเทศไทยมีความเท่าเทียมทางเพศอย่างแท้จริง ซึ่งสวนทางกับความคิดของ LGBTQIA+ ที่คิดว่านี่เป็นเพียงจุดเริ่มต้นเท่านั้นยังมีอีกหลากหลายประเด็นที่ต้องแก้ไข
นอกจากนี้มีบางส่วนที่ไม่ได้ยอมรับในการเปลี่ยนแปลงครั้งนี้ด้วย โดยส่วนหนึ่งของความคิดเห็นเช่น “LGBTQIA+ เรียกร้องมากเกินไปไหม จะเอาทุกอย่างเลยหรือไง แค่นี้ประเทศก็เปิดกว้างมากพอแล้ว” หรือ “เอาเวลาไปผลักดันกฎหมายอื่นดีกว่าไหม อันนี้อะไรไร้สาระ”
จึงเป็นคำถามต่อมาว่าการที่คน ๆ หนึ่งจะเรียกร้องสิทธิเพื่อตัวเองนั้น “เกินไป” หรือเป็นเรื่อง “ไร้สาระ” จริงไหม และการมีสมรสเท่าเทียมแปลว่าประเทศไทยมีความเท่าเทียมทางเพศอย่างแท้จริงหรือเปล่า
วันนี้ Sanook จึงชวนดร.พอลลี่ (ณฑญา เป้ามีพันธ์) และเดน่า (เดน่า ฮารัม) มาพูดคุยถึงความรู้สึกหลังสมรสเท่าเทียมผ่าน พร้อมทั้งเผยมุมมองเกี่ยวกับความเท่าเทียมทางเพศในประเทศไทยและต่างประเทศว่ามีความแตกต่างกันอย่างไร รวมไปถึงประเด็นอื่น ๆ ที่อยากผลักดันเพิ่มเติม
การเป็น LGBTQIA+ ในสังคมไทย
Sanook ได้ถามดร.พอลลี่ เกี่ยวกับประสบการณ์การเป็น LGBTQIA+ ในสังคมไทยว่ามีคำพูดไหนหรือเหตุการณ์ใดที่ทำให้ดร.พอลลี่ จำได้ขึ้นใจบ้าง
“อยากจะบอกว่าอย่างน้อยคนที่เป็นเกย์ เป็นทราน หรือคนที่เป็นผู้ชายที่มีกริยาคล้ายผู้หญิง มักได้ยินคำว่าอีตุ๊ด อีกระเทย โดยเฉพาะยุค 90 ที่ไม่ได้มีการยอมรับเท่าสมัยนี้ แต่ถ้าสมัยนี้ใครลองมาชี้หน้าเรียกอีตุ๊ดก็จะโดนสังคมต่อต้าน ซึ่งถามว่าตัวเองก็เติบโตมากับการโดนเรียกว่าอีตุ๊ดนี่แหละ และก็โดนล้ออยู่ตลอด เคยเจอผู้ใหญ่ที่มีอายุมาก ๆ และเขาไม่ได้เชื่อว่าการที่เราเป็น Transwomen เราจะสามรถเป็น อาจารย์ หรือนักวิชาการได้ เขาก็จะมีคำถามที่คล้าย ๆ เป็นการลองภูมิเรา ซึ่งสิ่งที่เราทำได้ดีที่สุดก็คือทำหน้าที่ของเราให้ดี ใช้ความรู้ความสามารถโชว์ให้เห็นว่าการที่เราเป็น Transwomen ไม่ได้มีผลต่อความสามารถ อันนี้ก็ไม่ได้อยากเบลมคนที่เขามีความคิดแบบนั้นนะ เพราะแต่ละคนก็เติบโตมาสภาพแวดล้อม สังคมที่ต่างกัน ถูกการปลูกฝังจากครอบครัวที่ต่างกัน เรียกได้ว่าบางครั้งก็จะรู้สึกสงสารด้วยซ้ำที่เขาไม่ได้เติบโตในสังคมที่ให้มองความเป็นมนุษย์เป็นหลัก มันเลยกลายเป็นว่าเราก็จัดการกับตัวเองมากกว่า เราจะไม่ไปโทษเขา เราก็แค่ต้องทำหน้าที่ของเราให้ดีที่สุดเท่านั้นเอง”
นอกจากนี้ดร.พอลลี่ยังอยากฝากให้ครอบครัวที่ยังไม่เปิดรับให้ลูกเป็น LGBTQIA+ ว่า “ถ้าเคารพในการตัดสินใจของลูกคุณ ไม่ไปบังคับ ไม่ว่าเขาจะเกิดเป็นเพศไหน แบบใด เขาก็สามารถประสบความสำเร็จในเส้นทางของเขาได้”
ปัจจุบันดร.พอลลี่เป็นอาจารย์และเป็นนักวิชาการ อีกทั้งเพิ่งลาตำแหน่ง Miss Trans Thailand 2024 ไปไม่นานมานี้
ความรู้สึกหลังสมรสเท่าเทียมผ่าน
ทั้งคู่เผยว่ารู้สึกยินดีที่มีสมรสเท่าเทียม โดยคุณพอลลี่กล่าวว่า “จริง ๆ มันเป็นการตอกย้ำว่าบ้านเราได้ก้าวไปอีกขั้นหนึ่งแล้ว ความคิดของผู้ใหญ่ในสังคมหรือของคนในสังคมมันพัฒนาขึ้นไปในทางที่เจริญมากขึ้น ซึ่งถ้าเปรียบเทียบกับในอดีตประเทศเราเนี่ยก็ยังมีความยึดติดในเรื่องของเพศชาย เพศหญิง มีในกฎหมายทุก ๆ ข้อเลย จะมีการระบุเพศเข้าไปเกี่ยวข้อง อันนี้มันเลยเป็นก้าวสำคัญมาก ๆ ที่ทำให้เห็นว่าผู้ใหญ่ในบ้านเมือง รัฐบาลทุกภาคส่วน เห็นค่าของความเป็นมนุษย์ที่เท่ากันที่ไม่ได้ยึดติดแค่เรื่องเพศ”
มุมมองต่อความหลากหลายทางเพศระหว่างไทยกับต่างประเทศ
ทั้งสองเคยมีประสบการณ์อาศัยอยู่ต่างประเทศ โดยดร.พอลลี่เคยมีประสบการณ์การเรียนต่อปริญญาโทที่ประเทศเยอรมัน และเดน่าก็เกิดและโตที่อเมริกา Sanook จึงขอให้ทั้งคู่ช่วยเล่าถึงมุมมองต่อ LGBTQIA+ ในแต่ละประเทศว่ามีความต่างกันหรือไหม
“ถามว่าถ้าเปรียบเทียบกับต่างประเทศ ส่วนใหญ่จะได้ไปใช้ชีวิตอยู่ในประเทศฝั่งยุโรป ซึ่งยุโรปเองกฎหมาย สมรสเท่าเทียม รับรองอัตลักษณ์ทางเพศ เขาใช้ก่อนเราเนอะ แต่จริง ๆ ลึก ๆ ความที่มีคนนับถือศาสนาคริสต์เยอะเนอะ ซึ่งบางคนที่เคร่งในไบเบิ้ลมากๆ ก็ยังมีคนที่ไม่เห็นด้วยในเพศหลากหลาย ซึ่งบางครั้ง ในบางเมืองยังมากกว่าบ้านเราด้วยซ้ำ แตกต่างกันที่ว่าบ้านเขามองสิทธิมนุษยชนเป็นหลัก ไม่ได้มองที่ศาสนา หรืออื่น ๆ เขาก็เลยมีกฎหมายที่ส่งเสริมมนุษยชน ให้คนที่มีความหลากหลายได้ใช้ ซึ่งสวนทางกับบ้านเรานะที่เหมือนจะยอมรับการมีอยู่ใน LGBTQ ได้มากกว่าแต่เรามาช้ากว่าเขาในเรื่องกฎหมาย การบังคับใช้ ถ้าเป็นต่างชาติเข้ามาเขาก็จะรู้สึกเซอร์ไพรส์ละว่าทำไมบ้านเราถึงไม่ได้มีสมรสเท่าเทียม แต่ในวันนี้เรามีแล้วแหละ ในอนาคตก็หวังว่าจะมีการเปลี่ยนแปลงที่ดีขึ้น” พอลลี่กล่าว
ด้านเดน่าก็เห็นตรงกับดร.พอลลี่ โดยเสริมว่า “การยอมรับใน LGBTQIA+ ของประเทศไทย ในช่วงปีที่ผ่านมาก็นับว่าคนในสังคม โดยเฉพาะคนรุ่นใหม่มีการเปิดกว้างเรื่องเพศมากขึ้น เห็นได้จากการที่ประเทศไทยมีสมรสเท่าเทียม ซึ่งถือเป็นจุดเริ่มต้นที่ดี”
ประเด็นไหนที่อยากผลักดันเพื่อชุมชน LGBTQIA+
ทั้งคู่ได้เห็นตรงกันว่าอีกหนึ่งประเด็นที่อยากผลักดันหลังสมรสเท่าเทียมผ่านแล้ว คือเรื่อง “พ.ร.บ.รับรองอัตลักษณ์ทางเพศ”
โดยดร.พอลลี่ ได้เล่าประสบการณ์ความยากลำบากที่ต้องเผชิญ เพราะคำนำหน้านามไม่ตรงกับเพศสภาพ
“ตัวดร.พอลลี่เอง ทำงานอยู่ในวงการวิชาการ ซึ่งต้องเดินทางไปพูดในหลายประเทศอยู่ตลอดเวลา ซึ่งปัจจุบันบัตรประชาชนของเรายังใช้คำนำหน้าว่านายอยู่ ตรงนี้มันทำให้การเดินทางในประเทศต่าง ๆ มีปัญหาเยอะมาก จากการที่เราจะโดนกักตัวไม่ให้เข้าประเทศ ถึงแม้ว่าเรามาในตัวแทนประเทศมาพูดในเรื่องของวิชาการก็ตาม ซึ่งตรงนี้มองว่าจริง ๆ แล้ว ในปัจจุบัน เทคโนโลยีทางการแพทย์ก้าวหน้าไปมาก ทำให้ชายสามารถที่จะ cross ไปเป็นผู้หญิงได้อย่างสมบูรณ์แบบ และผู้หญิงก็สามารถ cross ไปเป็นผู้ชายได้อย่างสมบูรณ์แบบเช่นกัน แต่สิ่งที่เขาไม่ได้เลยก็คือ เอกสารที่ไม่สามารถที่จะเป็นไปตามรูปลักษณ์ หรือเพศสภาพที่เขาเป็น มันเลยทำให้เกิดคำถาม การตัดสิน ตั้งแต่แรกตั้งแต่ยังไม่ได้เกิดการพูดคุย ว่าทำไมถึงมีคำนำหน้าที่ไม่ตรงเพศสภาพ ดังนั้นกฎหมายถัดไปที่อยากจะผลักดันให้เกิดขึ้นหลังสมรสเท่าเทียม เพื่อให้ LGBTQ สามารถดำรงชีวิตได้ เป็นประชากรของโลกได้ดีขึ้นก็คือ พ.ร.บ.รับรองอัตลักษณ์ทางเพศค่ะ”
สมรสเท่าเทียมเป็นเพียงจุดเริ่มต้น
หลังจากที่ได้คุยกับดร.พอลลี่ และเดน่า ทำให้เราทราบว่า “สมรสเท่าเทียม” เป็นเพียงจุดเริ่มต้นของความเท่าเทียมทางเพศของไทย เนื่องจากยังมีอีกหลากหลายประเด็นที่ยังไม่ได้รับการรับรอง ไม่ว่าจะเป็นประเด็นเรื่องคำนำหน้าชื่อที่ไม่ตรงกับเพศสภาพอย่างที่ดร.พอลลี่ยกตัวอย่างไว้ หรือจะเป็นประเด็นอื่น ๆ อย่างการรับรองบุตรในคู่รักเพศเดียวกัน
อย่างไรก็ตามนี่ถือเป็นการเริ่มต้นที่ดีของประเทศไทย และหวังว่าในอนาคตสังคมไทยจะมองข้ามคำว่าเพศได้อย่างแท้จริง โดยไม่ต้องมีคำว่า LGBTQIA+ เพศหญิง หรือเพศชาย มีแต่ความเป็นมนุษย์ ก็จะทำให้ประเทศไทยน่าอยู่ยิ่งขึ้นกว่าเดิมอย่างแน่นอน
อ่านเพิ่มเติม:
- LOVE IS LOVE: คุยกับหนึ่ง-แพท คู่รัก LGBTQIA+ จากความรักที่สังคมไม่ยอมรับ สู่สมรสเท่าเทียม
- คุยกับ “ปู่กัญจน์-ย่าตุ๊ก” คู่รักที่ใช้เวลากว่า 30 ปีกว่าสังคมยอมรับ
- เปิดใจ “ดาด้า-ซัน” คู่รัก LGBTQIA+ ที่ความรักที่มาเติมเต็มความรักของครอบครัวที่ขาดหาย