เปิดหลักเกณฑ์ เงินเยียวยาน้ำท่วม สูงสุด 9,000 บาทต่อครัวเรือน ผ่านพร้อมเพย์

Home » เปิดหลักเกณฑ์ เงินเยียวยาน้ำท่วม สูงสุด 9,000 บาทต่อครัวเรือน ผ่านพร้อมเพย์

เยียวยาน้ำท่วม เงิน

ปภ. เร่งกำหนดแนวทางจ่ายเงิน เยียวยาน้ำท่วม สูงสุด 9,000 บาท ธนาคารออมสินโอนผ่านพร้อมเพย์ เช็กหลักเกณฑ์ ได้ที่นี่

(18 ก.ย.67) คณะรัฐมนตรีเห็นชอบหลักเกณฑ์ เงื่อนไข และวิธีจ่ายเงินช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัยในช่วงฤดูฝน ปี 2567 พร้อมอนุมัติกรอบวงเงิน 3,045.52 ล้านบาท เพื่อช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัยเบื้องต้นในพื้นที่ 57 จังหวัด รวม 338,391 ครัวเรือน โดย ปภ. เตรียมหารือจังหวัดที่ประสบวางแนวทางการขอรับเงินช่วยเหลือผู้ประสบภัยตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขที่กำหนดเพื่อให้มีความชัดเจน และสามารถจ่ายเงินช่วยเหลือประชาชนได้โดยเร็วที่สุด

นายไชยวัฒน์ จุนถิระพงศ์ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) เปิดเผยว่า ตามที่ได้เกิดอุทกภัย น้ำท่วมฉับพลัน น้ำไหลหลาก น้ำล้นตลิ่ง และน้ำท่วมขัง ก่อให้เกิดความเสียหายต่อชีวิต ทรัพย์สิน ที่อยู่อาศัย พื้นที่การเกษตร และสิ่งสาธารณประโยชน์เป็นบริเวณกว้าง รวมถึงส่งผลกระทบต่อการดำรงชีวิตของประชาชน รัฐบาลมีความห่วงใยพี่น้องประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากอุทกภัย เพื่อเป็นการบรรเทาความเดือนร้อนแก่ผู้ประสบอุทกภัย จึงได้สั่งการให้กระทรวงมหาดไทย โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยประสานจังหวัดและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นสำรวจความเสียหายและพื้นที่ประสบภัยเพื่อให้การช่วยเหลือเยียวยาเบื้องต้นแก่ครอบครัวผู้ประสบอุทกภัยเป็นกรณีพิเศษ และเมื่อวานนี้ (17 ก.ย.67) คณะรัฐมนตรีได้มีมติเห็นชอบหลักเกณฑ์ เงื่อนไข วิธีการจ่ายเงินช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัยในช่วงฤดูฝน ปี 2567 พร้อมทั้งได้อนุมัติกรอบวงเงิน 3,045.52 ล้านบาท ภายใต้งบกลาง รายการสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น เพื่อช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย โดยเป็นค่าดำรงชีพเบื้องต้นแก่ครอบครัวผู้ประสบภัยเป็นกรณีพิเศษ

  • พม่าอ่วม อิทธิพล ‘พายุยางิ’ สูญเสียกว่า 226 ชีวิต เหตุ การช่วยเหลือล่าช้า!
  • รับมืออีกครั้ง! ฝนตกหนักทั้งวัน น้ำท่วม จ.ภูเก็ต ไหลเชี่ยวซัดแรง
  • ระทึก น้ำป่าไหลหลากท่วม ม.พะเยา ประชาชน-นศ.หนีตายขึ้นหลังคา

นายไชยวัฒน์ กล่าวว่า สำหรับหลักเกณฑ์ เงื่อนไข และวิธีการจ่ายเงินช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัยในช่วงฤดูฝน ปี 2567 ได้กำหนดหลักเกณฑ์การจ่ายเงินช่วยเหลือเยียวยากรณีอุทกภัยที่ก่อให้เกิดผลกระทบต่อที่อยู่อาศัยในช่วงฤดูฝน ซึ่งเกิดสถานการณ์ขึ้นตั้งแต่วันที่ 20 พฤษภาคม 2567 เป็นต้นมา โดยเป็นอุทกภัยทั้งในกรณีน้ำท่วมฉับพลัน น้ำไหลหลาก น้ำล้นตลิ่ง รวมถึงผลกระทบจากการระบายน้ำจนส่งผลกระทบให้ไม่สามารถดำรงชีวิตได้ และจังหวัดได้ประกาศเขตพื้นที่ประสบสาธารณภัยและ/หรือประกาศเขตการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน โดยจากการสำรวจข้อมูลครัวเรือนเบื้องต้นขณะนี้มีพื้นที่ได้รับผลกระทบจากอุทกภัย 57 จังหวัด จำนวน 338,391 ครัวเรือน

นายไชยวัฒน์ กล่าวต่อว่า สำหรับการจ่ายเงินช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัยในช่วงฤดูฝน ปี 2567 จะแบ่งเป็น 3 กรณี ดังนี้ (1) กรณีบ้านที่อยู่อาศัยประจำอยู่ในพื้นที่น้ำท่วมขังตั้งแต่ 1 วัน (24 ชั่วโมง) แต่ไม่เกิน 7 วัน และทรัพย์สินเสียหาย รวมถึงกรณีน้ำท่วมขังติดต่อกันเกิน 7 วัน แต่ไม่เกิน 30 วัน ให้ความช่วยเหลือครัวเรือนละ 5,000 บาท (2) กรณีบ้านที่อยู่อาศัยประจำอยู่ในพื้นที่น้ำท่วมขังติดต่อกันเกิน 30 วัน แต่ไม่เกิน 60 วัน ให้ความช่วยเหลือครัวเรือนละ 7,000 บาท และ (3) กรณีบ้านที่อยู่อาศัยประจำอยู่ในพื้นที่น้ำท่วมขังติดต่อกันเกิน 60 วันขึ้นไป ให้ความช่วยเหลือครัวเรือนละ 9,000 บาท

เยียวยาน้ำท่วม

ในส่วนของการพิจารณาเงื่อนไขการจ่ายเงินช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัยนั้น ได้กำหนดเงื่อนไขการขอรับเงินเยียวยาเป็น 2 ส่วน ดังนี้ (1) ต้องเป็นบ้านที่อยู่อาศัยประจำในพื้นที่ที่ได้มีการประกาศเขตพื้นที่ประสบสาธารณภัยและ/หรือประกาศเขตการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน โดยต้องมีหนังสือรับรองผู้ประสบภัยที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นออกให้ (ตามพระราชบัญญัติป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย พ.ศ. 2550 มาตรา 30) และจะต้องผ่านการประชาคมหมู่บ้านของแต่ละพื้นที่ประสบสาธารณภัย รวมถึงจะต้องผ่านการตรวจสอบและยืนยันข้อมูลจากคณะกรรมการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติอำเภอ (ก.ช.ภ.อ.) และคณะกรรมการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติจังหวัด (ก.ช.ภ.จ.) สำหรับพื้นที่กรุงเทพมหานครต้องผ่านการตรวจสอบและยืนยันข้อมูลจากสำนักงานเขตและกรุงเทพมหานคร (2) กรณีที่ประสบภัยหลายครั้ง จะได้รับความช่วยเหลือเพียงครั้งเดียว

“กระทรวงมหาดไทย โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย จะเป็นหน่วยรับงบประมาณและดำเนินการจ่ายเงินช่วยเหลือแก่ผู้ประสบภัย ซึ่งธนาคารออมสินจะจ่ายเงินให้แก่ผู้ประสบภัยที่มีสิทธิได้รับเงินช่วยเหลือโดยตรง โดยการโอนเงินเข้าบัญชีผ่านระบบพร้อมเพย์ (PromptPay) ขณะนี้ ปภ. ได้จัดทำแนวทางปฏิบัติและเตรียมหารือร่วมกับจังหวัดที่ประสบอุทกภัยเพื่อกำหนดแนวทางการจ่ายเงินช่วยเหลือผู้ประสบภัยตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขที่กำหนดให้มีความชัดเจน และสามารถจ่ายเงินช่วยเหลือประชาชนได้ตามกรอบระยะเวลา 90 วัน นับแต่วันที่ได้รับการจัดสรรงบประมาณ และจะได้เร่งทำข้อมูลชี้แจงสร้างความเข้าใจหลักเกณฑ์ต่างๆ ที่เกี่ยวข้องให้พี่น้องประชาชนผู้ประสบภัยได้รับทราบโดยเร็ว เพื่อจะได้เตรียมในการยื่นขอรับเงินช่วยเหลือต่อไป” อธิบดี ปภ. กล่าว

แท็กที่เกี่ยวข้อง

เรื่องอื่นที่น่าสนใจ