
วันนี้แล้ว (27 กันยายน 2566) ที่เราจะได้รับรู้ว่ากันว่าเก้าอี้ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร.) จะเป็นของบิ๊กตำรวจคนไหน หลังจากมีการเปิดโผ 4 ตัวเต็งแคนดิเดต แล้วก็ตามมาด้วยประเด็นร้อนมากมายที่หลายคนก็เชื่อมโยงมาถึงเรื่องการคัดเลือก ผบ.ตร. คนที่ 14 อย่างไรก็ตาม การคัดเลือก ผบ.ตร. ในปีนี้ จะไม่เหมือนกับในปีก่อนๆ เนื่องจากหลักเกณฑ์การพิจารณาที่เปลี่ยนไป Sanook เปิดหลักเกณฑ์เลือก ผบ.ตร.คนใหม่ แล้วก็ไปรอลุ้นพร้อมกันว่าใครจะได้ตำแหน่งนี้ไปครอง!
- โค้งสุดท้าย! เปิดประวัติและผลงาน 4 บิ๊กตำรวจ “ตัวเต็ง” ในศึกชิงเก้าอี้ ผบ.ตร.
การคัดเลือกแต่งตั้ง ผบ.ตร. ในปีนี้ จะนำ “พระราชบัญญัติตำรวจแห่งชาติ พ.ศ.2565” มาใช้เป็นหลักในการพิจารณา ซึ่งถือเป็นครั้งแรกที่จะมีการใช้หลักเกณฑ์จาก พ.ร.บ. ฉบับนี้มาใช้เพื่อคัดเลือก ผบ.ตร. โดยเนื้อหาที่เกี่ยวข้องกัน มีดังต่อไปนี้
มาตรา 77 ระบุว่า การแต่งตั้งข้าราชการตำรวจให้ดำรงตำแหน่ง ให้แต่งตั้งตามหลักเกณฑ์ต่อไปนี้
- ตำแหน่ง “ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ” จะได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งจากข้าราชการตำรวจยศพลตำรวจเอก ซึ่งดำรงตำแหน่งจเรตำรวจแห่งชาติ หรือรองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ
มาตรา 78 การคัดเลือกแต่งตั้งข้าราชการตำรวจให้ดำรงตำแหน่งตามมาตรา 77 (1) (2) (3) (4) (5) (6) ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ดังต่อไปนี้
การแต่งตั้งข้าราชการตำรวจให้ดำรงตำแหน่งตามมาตรา 77 (1) ให้นายกรัฐมนตรีคัดเลือกรายชื่อพนักงานตำรวจผู้มีคุณสมบัติตามมาตรา 77(1) โดยคำนึงถึงอาวุโสและความรู้ความสามารถประกอบกันโดยเฉพาะประสบการณ์ในงานสืบสวนสอบสวนหรืองานป้องกันปราบปราม เสนอ ก.ตร.เพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบก่อนแล้วให้นายกรัฐมนตรีนำความกราบบังคมทูลพระกรุณาเพื่อทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้ง
กล่าวคือเจตนารมย์ของกฎหมายต้องการให้แต่งตั้ง ผบ.ตร. โดยคำนึงถึง “ความอาวุโส” มาเป็นเกณฑ์หลักในการพิจารณาก่อน โดยแบ่งเป็นคะแนนอาวุโสกับ “ความรู้ความสามารถ” อย่างละ 50% เท่าๆ กัน เมื่อเรียงอาวุโสแล้ว ใครอาวุโสสูงสุดก็จะได้คะแนน 50% ส่วนคนที่รองลงมาก็เฉลี่ยว่าจะได้กี่เปอร์เซ็นต์
ส่วนอีก 50% จะพิจารณาตาม 5 สายงานที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติใช้พิจารณา แต่ให้คะแนนประสบการณ์ งานสืบสวนสอบสวนและงานปราบปรามเป็นหลัก มากกว่าคะแนนด้านอื่น เนื่องจากในมาตรา 78 (1) ระบุว่า โดยเฉพาะประสบการณ์ในงานสืบสวนสอบสวน หรืองานป้องกันปราบปราม แต่ในสายงานอื่นก็ต้องมีคะแนนด้วย การกำหนดคะแนนต้องกำหนดให้เกิดความเป็นธรรม
สำหรับการกำหนดเกณฑ์มาตรฐานไว้ อย่างเช่น งานสืบสวน 12 คะแนน งานสอบสวน 12 คะแนนงานป้องกันปราบปราม 12 คะแนน งานที่เหลืออีกสองด้านด้านละ 7 คะแนน เป็น 14 คะแนน รวมเป็น 50 คะแนน ทั้งยังให้มีการกำหนดช่วงห่างการให้คะแนน ต้องกำหนดไว้เลยว่าถ้าใครผ่านงานชนิดใดมามากน้อยแค่ไหน ก็จะได้คะแนนมากน้อยเท่านั้น อย่างไรก็ตาม ถ้าใครไม่ผ่านงานด้านในมาเลย ต้องไม่มีคะแนน เป็นการกำหนดกรอบการให้คะแนนไว้ เพื่อป้องกันการใช้ดุลยพินิจตามอำเภอใจของคณะกรรมการคัดเลือก เพื่อไม่ให้คะแนนของผู้เข้ารับการคัดเลือกแตกต่างกันมาก
ก่อนหน้านี้ ไม่มีการกำหนดกฎเกณฑ์ตั้งแต่แรก หรือกำหนดกฎเกณฑ์แบบไม่เป็นธรรม เพื่อให้การคัดเลือกครั้งนี้เป็นไปโดยเป็นธรรม และให้ได้ผู้ที่มีความอาวุโสและมีความรู้ความสามารถ โดยเฉพาะประสบการณ์ในงานสืบสวนสอบสวนและงานป้องกันปราบปรามตามเจตนารมย์ของมาตรา 78 (1) อย่างแท้จริง