เปิดหลักฐาน เชื่อนอกจาก “จดหมายปรีดี” ยังอาจมี “เทปลับ” ของ เผ่า ศรียานนท์ ซ่อนอยู่ในเซฟที่สวิตเซอร์แลนด์
หากเรื่อง ‘เอกสารปรีดี’ ที่จะเปิดในวันที่ 5 มกราคม 2567 ยังไม่น่าตื่นเต้นพอ อีกสิ่งที่น่าตื่นเต้นก็คือ ‘เทปลับ’ ของ พลตำรวจเอก เผ่า ศรียานนท์ อดีตอธิบดีกรมตำรวจ มือขวาของ จอมพล ป. พิบูลสงคราม เจ้าของคำขวัญ ‘ภายใต้ดวงอาทิตย์นี้ ไม่มีสิ่งใดที่ตำรวจไทยทำไม่ได้’ ซ่อนไว้ที่เมืองเจนีวา ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ซึ่งเป็นที่พักสุดท้ายของพลตำรวจเอกเผ่าก่อนเสียชีวิต
ก่อนที่จะไปถึงเนื้อหาเทปลับ ก่อนอื่นต้องทำความรู้จักพลตำรวจเอกเผ่าเสียก่อน แรกเริ่ม พลตำรวจเอกเผ่าเป็นทหาร ครองยศร้อยตรี เข้าร่วมการเปลี่ยนแปลงการปกครองในวันที่ 24 มิถุนายน 2475 จากนั้นเป็นมือขวา รับงานเป็นนายตำรวจคนที่ทำงานที่ ‘ไม่สะอาด’ นัก ให้กับ จอมพล ป. พิบูลสงคราม ตั้งแต่ช่วงเป็นนายกรัฐมนตรีรอบแรก
จากนั้นเข้ามามีส่วนร่วมในการรัฐประหารล้มรัฐบาลของ พลเรือตรี ถวัลย์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ เมื่อปี 2490 ซึ่งเป็นการ ‘ล้างขั้ว’ ปรีดี พนมยงค์ รวมถึงเข้ามามีส่วนสำคัญในการสอบสวนคดีสวรรคตของรัชกาลที่ 8 ซึ่งเกิดขึ้นเมื่อปี 2489 ในเวลาใกล้เคียงกันนี้ยังได้รับ ‘โอน’ ให้ไปครองยศพลตำรวจตรีในตำแหน่งรองอธิบดีกรมตำรวจเมื่อปี 2491
ในเวลาเดียวกัน พลตำรวจเอกเผ่าซึ่งคุม ‘กรมตำรวจ’ สร้างกรมตำรวจให้งอกเงย มีขุมกำลังจนเทียบเท่ากองทัพหนึ่ง มีทั้งตำรวจน้ำ ตำรวจพลร่ม ตำรวจรถถัง มีธงชัยเฉลิมพล และตั้งคำขวัญว่า ‘ภายใต้ดวงอาทิตย์นี้ ไม่มีสิ่งใดที่ตำรวจไทยทำไม่ได้ ในทางที่ไม่ขัดต่อศีลธรรม ขนบธรรมเนียมประเพณีอันดีงามและกฎหมายบ้านเมือง’
ส่วนหนึ่งเป็นเพราะกลุ่ม ‘ซอยราชครู’ ขึ้นมาเป็นใหญ่ภายหลังการรัฐประหารปี 2490 โดยพลตำรวจเอกเผ่าแต่งงานกับคุณหญิงอุดมลักษณ์ ศรียานนท์ บุตรสาวของ จอมพล ผิน ชุณหะวัณ ทำให้เกี่ยวดองกับ ‘ชุณหะวัณ’ ต้นกำเนิดกลุ่มการเมืองซอยราชครูไปโดยปริยาย
ภายหลังความพยายามกลับประเทศไทยของ ปรีดี พนมยงค์ กลายเป็นเรื่องล้มเหลวในกรณี ‘กบฏวังหลวง’ เมื่อปี 2494 พลตำรวจเอกเผ่ากลายเป็นคนดูแลงาน ‘อุ้มฆ่า’ งาน ‘สังหารโหด’ คนของปรีดีอยู่หลายกรณี ที่ลือลั่นก็คือกรณีสังหาร 4 รัฐมนตรีอีสาน คนสนิทของปรีดีริมถนนพหลโยธินเมื่อปี 2494 รวมถึงกรณีฆ่า-เผา เตียง ศิริขันธ์ อดีต ส.ส.สกลนคร และผู้ติดตาม ซึ่งใกล้ชิดกับปรีดีอย่างโหดเหี้ยม ก่อนนำศพไปเผาทำลายที่อำเภอเมืองกาญจนบุรี
ในภายหลัง จอมพล ป. พยายามที่จะข้ามมา ‘สวมเสื้อคลุม’ ประชาธิปไตยผ่านการเลือกตั้ง มีการตั้งพรรคการเมืองเสรีมนังคศิลา โดยให้พลตำรวจเอกเผ่าเป็นเลขาธิการพรรค แต่การเลือกตั้งในปี 2500 กลับเป็นการเลือกตั้งที่ได้ชื่อว่า ‘สกปรก’ ที่สุด และกลายเป็นข้ออ้างให้ ‘มือซ้าย’ อย่าง จอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ จากกลุ่ม ‘สี่เสาเทเวศร์’ ไม้เบื่อไม้เมาของกลุ่มซอยราชครู ใช้ทำรัฐประหารจอมพล ป. ในเวลาต่อมา
ถึงตรงนี้ สิ่งที่คนไทยรู้กันคือในวันรัฐประหาร 16 กันยายน 2500 จอมพล ป. เดินทางออกนอกประเทศอย่างยากเย็นโดยขับรถยนต์ไปเองถึงจังหวัดตราด และจ้างเรือประมงให้ข้ามไปส่งยังประเทศกัมพูชา ส่วนพลตำรวจเอกเผ่าไม่ได้มีรายงานเรื่องชีวิตยากลำบาก รายงานข่าวระบุว่า ส่วนหนึ่งพลตำรวจเอกเผ่า ‘เคลียร์’ กับจอมพลสฤษดิ์ได้ลงตัว ขณะที่อีกช่องทางหนึ่งบอกว่า พลตำรวจเอกเผ่าอาจ ‘จ่าย’ จอมพลสฤษดิ์ไปจำนวนไม่น้อย
ถึงตรงนี้ เริ่มโยงไปสู่ที่มาของ ‘เทปลับ’
เรื่องมีอยู่ว่า ก่อนการประหารชีวิต 3 ผู้ต้องหาในกรณีสวรรคตรัชกาลที่ 8 ได้แก่ ชิต สิงหเสนี, บุศย์ ปัทมศริน และเฉลียว ปทุมรส หนึ่งในผู้ต้องหาคือ ‘เฉลียว’ ซึ่งเป็นคนสนิทของปรีดี เล่าถึงเหตุการณ์จริง และบอกชื่อผู้ลอบปลงพระชนม์ให้กับพลตำรวจเอกเผ่าทราบ
เป็นที่รู้กันว่าการใส่ชื่อของเฉลียว ก็เพื่อให้เรื่องดังกล่าวสามารถโยงไปถึงปรีดีได้ และกลายเป็นเรื่อง ‘การเมือง’ มากกว่าจะต้องการหาผู้ปลงพระชนม์ตัวจริง ซึ่งในเวลาต่อมา หนึ่งใน ‘พยานเท็จ’ อย่าง ตี๋ ศรีสุวรรณ ก็เขียนจดหมายสารภาพว่า มีผู้จ้างวานให้ปรักปรำเฉลียวและใส่ร้ายปรีดี
17 กุมภาพันธ์ 2498 ที่เรือนจำ พลตำรวจเอกเผ่ายังปรากฏตัวอย่างลับๆ ในแดนประหาร โดยไม่มีระบุแม้แต่ในประกาศของกระทรวงมหาดไทย เฉลียวขอพูดคุยกับพลตำรวจเอกเผ่าก่อนจะเริ่มขั้นตอนประหารชีวิตราว 10 นาที
“อ้อ.. คุณเผ่า” คือคำที่เฉลียวพูดขึ้นหลังจากเห็นหน้านายตำรวจใหญ่ในแดนประหาร
หนังสือพิมพ์ ‘เช้า’ ในเวลานั้นพาดหัวว่า ‘เฉลียวขอพบเผ่าแฉความลับทั้งหมดก่อนประหาร’ พร้อมทั้งรายงานข่าวว่า ระหว่างการเข้าพบลับๆ 2 คนนั้น พลตำรวจเอกเผ่ามีความสนใจเป็นอย่างมาก
ข่าวลือก็คือในการพูดคุยกัน 2 คน พลตำรวจเอกเผ่าบันทึกเทปลับเหล่านี้ไว้ด้วย และกลายเป็นข่าวลือข้ามพุทธกาล เป็นหนึ่งตำนานที่หลายคนเชื่อว่าเทปนี้มีอยู่จริง
ข่าวลือก็คือพลตำรวจเอกเผ่านำเทปนี้ไปฝากไว้กับ ‘หลานชาย’ ลูกจอมพลผิน อย่าง พลจัตวา ชาติชาย ชุณหะวัณ เพื่อดูแลรักษาเทปนี้ไว้ที่สวิตเซอร์แลนด์ แต่กำชับว่าให้เปิดก็ต่อเมื่อหมดราชวงศ์นี้ไปแล้วเท่านั้น ขณะเดียวกัน อีกหนึ่งคนที่ยืนยันการมีอยู่จริงของเทปนี้คือ สุลักษณ์ ศิวรักษ์ ที่เคยคุยกับไกรศักดิ์ ชุณหะวัณ ซึ่งเสียชีวิตไปแล้วเมื่อปี 2563 ยืนยันว่ามีเทปนี้อยู่จริง
“คุณเผ่าก็ไปสัมภาษณ์ไอ้คนนี้ก่อนตาย อัดเสียงเอาไว้ เรื่องนี้ไอ้โต้ง (ไกรศักดิ์) ก็เคยบอกว่า พ่อมันเก็บเข้าเซฟไว้ที่สวิตเซอร์แลนด์ แล้วบอกหมดราชวงศ์นี้จะเปิดเผย แต่ยังไม่หมดราชวงศ์นี้คงยังเปิดไม่ได้”
ทั้งหมดนี้อาจเป็นการยืนยันว่า เทปลับม้วนนี้ ‘อาจมีอยู่จริง’ หรือ ‘มีอยู่จริง’ ก็เป็นได้ แต่คนที่เกี่ยวข้องย่อมไม่อยากพูดถึงอย่างแน่นอน