กลายเป็นไวรัลในโลกโซเชียลอย่างหนัก เมื่อหมอชื่อดังอย่าง หมอ ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา ได้ออกมาโพสต์ภาพและข้อความ ระบุว่า “ใบสั่งแบบนี้มันจะไปติดที่หน้าต่างรถ อย่า scan จ่ายเด็ดขาด มันของปลอม เพื่อนเพิ่งได้รับมา เพื่อนๆ ใน FB นี่ บางท่านบอกว่าจริง หรือบอกว่า เนียน หลอก? สมมติว่าได้มาติดที่รถ หมอว่าไป สถานีน่าจะดีกว่าครับ อะไร ๆ ตอนนี้ ดูไม่น่าไว้ใจ”
ทำให้มีชาวเน็ตจำนวนมากเข้ามากดไลค์กดแชร์ โพสต์ดังกล่าวถึง 1.5 พันครั้ง และมีคนเข้ามาตั้งคำถามถึง ใบสั่งชนิดนี้ว่าเป็นของปลอม หรือของจริง
ล่าสุด พล.ต.ต.อาชยน ไกรทอง โฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตร.) เปิดเผยว่า กรณีภาพถ่ายใบสั่งอิเล็กทรอนิกส์ที่เพจ หมอธีระวัฒน์ เหมะจุฑา นำมาโพสต์นั้น ได้ตรวจสอบแล้วพบว่าผู้ออกใบสั่ง คือ สน.บางยี่ขัน เป็นใบสั่งจริง
ทั้งนี้ ขอเรียนชี้แจงว่า “ใบสั่งอิเล็กทรอนิกส์” คือ การออกใบสั่งผ่านเครื่องคอมพิวเตอร์ประมวลผลแบบพกพา ที่มีการติดตั้งแอปพลิเคชั่นชื่อว่า Police Ticket Management (PTM) ตำรวจจราจรจะพิมพ์ใบสั่งออกมาจากเครื่องให้กับผู้ขับขี่ที่ทำผิดได้ทันทีใช้กรณีที่พบการกระทำผิดซึ่งหน้า เช่น ไม่สวมหมวก หรือ ไม่รัดเข็มขัดนิรภัย ใช้โทรศัพท์ขณะขับรถ ขับรถย้อนศร ขับรถฝ่าฝืนเครื่องหมายจราจรในทางต่างๆ รวมถึงจอดรถในที่ห้ามจอด
ข้อมูลในใบสั่งอิเล็กทรอนิกส์นี้จะมีการระบุข้อหาและอัตราค่าปรับตามเกณฑ์ที่กำหนดไว้ในระเบียบของตร. อย่างชัดเจนในใบสั่งทุกใบ โดยข้อมูลจะเชื่อมโยงกับระบบสารสนเทศของสำนักงานตำรวจแห่งชาติแบบ real time รวมถึงจะแสดงข้อมูลที่เกี่ยวข้องต่างๆ เช่น วัน เวลา และสถานที่ที่ทำผิด ข้อมูลทะเบียนรถ ข้อมูลใบขับขี่ (กรณีพบตัวผู้ทำผิด) ชื่อเจ้าหน้าที่ตำรวจและหน่วยงานที่ออกใบสั่ง
นอกจากนั้น จะมี QR Code ด้านล่างสำหรับอำนวยความสะดวกประชาชนในการชำระค่าปรับผ่านระบบ mobile banking และ QR Code สำหรับตรวจสอบใบสั่งของตนเอง ผ่านเว็บไซต์ E-ticket
วิธีเช็กใบสั่งจริง ใบสั่งปลอม
ผู้ได้รับใบสั่งจราจร สามารถตรวจสอบความถูกต้องว่าเป็นใบสั่งจริง ได้ที่ https://ptm.police.go.th/eTicket/#/ หรือโทรสอบถามโดยตรงที่สถานีตำรวจที่ออกใบสั่งดังกล่าว
ใบสั่งของตำรวจจราจรจะมีอยู่ 3 รูปแบบ เป็นไปตามประกาศ ตร. เรื่อง กำหนดแบบใบสั่งเจ้าพนักงานจราจร (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2564 ซึ่งประกาศใช้เป็นกฎหมาย เมื่อวันที่ 9 ก.ค.64 คือ
- ใบสั่งแบบเขียนด้วยลายมือ
- ใบสั่งสำหรับส่งทางไปรษณีย์ ซึ่งจะเป็นกรณีตรวจจับโดยกล้องอุปกรณ์
- ใบสั่งอิเล็กทรอนิกส์
วิธีชำระค่าปรับ หรือ ใบสั่งตำรวจ
- ทางธุรกรรมอิเล็กทรอนิกส์ ได้ทุกธนาคาร และตู้บุญเติม
- จุดบริการชำระเงินอื่น ๆ ได้แก่ ไปรษณีย์ทุกสาขา และจุดบริการเคาน์เตอร์เซอร์วิสที่มีสัญลักษณ์ คำว่า “PTM”
- สามารถเดินทางไปชำระได้ที่สถานีตำรวจทุกสถานี
ทั้งนี้ ใบสั่งอิเล็กทรอนิกส์รูปแบบใหม่นี้จะให้ประชาชนจ่ายค่าปรับเมื่อกระทำความผิดภายใน 7 วัน นับตั้งแต่ถูกออกใบสั่ง หากครบกำหนดไม่จ่าย ตำรวจจะส่งเอกสารเตือนทางไปรษณีย์ไทยให้จ่ายค่าปรับไปถึงที่บ้านภายใน 15 วัน และหลังจากส่งใบเตือนไปแล้วตำรวจจะให้เวลาอีก 15 วัน ให้จ่ายค่าปรับ รวมระยะเวลาหลังจากออกใบสั่งและใบเตือน เท่ากับว่าประชาชนมีเวลา 30 วัน ในการจ่ายค่าปรับ แต่หากไม่จ่าย ตำรวจจะส่งข้อมูลไปที่กรมการขนส่งทางบกเพื่อให้งดออกเครื่องหมายเสียภาษี
ติดตามข่าวสาร Bright Today ช่องทางอื่น ๆ
Website : BRIGHT TODAY
Facebook : BRIGHT TV
Line Today : BRIGHT TODAY