เปิดร่าง พ.ร.บ.คุมตลาดอาหาร-เครื่องดื่ม กำหนดค่า หวานมันเค็ม ห้ามโฆษณาทุกทาง

Home » เปิดร่าง พ.ร.บ.คุมตลาดอาหาร-เครื่องดื่ม กำหนดค่า หวานมันเค็ม ห้ามโฆษณาทุกทาง


เปิดร่าง พ.ร.บ.คุมตลาดอาหาร-เครื่องดื่ม กำหนดค่า หวานมันเค็ม ห้ามโฆษณาทุกทาง

กรมอนามัย แก้โรคอ้วน-โรคNCDs ในเด็ก เปิดร่าง พ.ร.บ.คุมการตลาด “อาหาร” ส่งผลสุขภาพเด็ก ประเภทอาหาร-เครื่องดื่ม กำหนดค่า “หวานมันเค็ม” ห้ามโฆษณาตรงทุกช่องทาง งดจำหน่ายในโรงเรียน เร่งประชาพิจารณ์คาด 1 ปีกฎหมายเสร็จ ประเดิมผู้ประกอบการรายใหญ่

23 พ.ค. 66 – ที่โรงแรมมิราเคิล แกรนด์ คอนเวนชัน กทม. กรมอนามัยจัดเวทีประชาพิจารณ์ (ร่าง) พ.ร.บ.ควบคุมการตลาดอาหารและเครื่องดื่ม ที่ส่งผลต่อสุขภาพเด็ก

โดย นพ.สราวุฒิ บุญสุข รองอธิบดีกรมอนามัย กล่าวภายหลังเป็นประธานการรับฟังความคิดเห็นต่อร่าง พ.ร.บ.ควบคุมการตลาดอาหารและเครื่องดื่มที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพเด็ก พ.ศ. … ว่า

ร่าง พ.ร.บ.นี้ทำมาเกือบ 2 ปีแล้ว การประชาพิจารณ์ในครั้งนี้มีหน่วยงานเข้าร่วมมากกว่า 30 หน่วยงาน เพื่อให้ พ.ร.บ.ฯ มีประสิทธิภาพมากที่สุด โดยจะนำความเห็นมาพัฒนาร่างกฎหมาย เพื่อช่วยแก้ไขปัญหาโรคอ้วน และโรค NCDs ในเด็ก

ซึ่งเด็กไทยมีภาวะอ้วนเป็นอันดับ 3 ของอาเซียน ซึ่งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและประชาชนสามารถร่วมประชาพิจารณ์ได้ผ่านทางเว็บไซต์ จนถึงวันที่ 30 มิ.ย. 2566 ตั้งเป้าจะคลอดให้ได้ภายใน 1 ปี โดยกฎหมายลักษณะนี้มีแล้วหลายประเทศ เช่น อังกฤษ ชิลี จะช่วยควบคุมโฆษณาเกินจริง โดยเฉพาะอาหารไขมันสูง หวานสูง โซเดียมสูง

พญ.สายพิณ โชติวิเชียร ผอ.สำนักโภชนาการ กรมอนามัย กล่าวว่า ร่าง พ.ร.บ.ฯ มี 42 มาตรา สาระสำคัญคือ ฉลากต้องไม่ใช้ข้อความหรือเทคนิคอื่นใดที่ดึงดูดให้กลุ่มเด็กสนใจ ห้ามผู้ผลิตผู้นำเข้าผู้จำหน่ายหรือตัวแทนแสดงความคุ้มค่าทางด้านราคา ณ จุดจำหน่ายสินค้า ทั้งร้านค้าปลีก ค้าส่ง และระบบพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์

ห้ามจำหน่ายในสถานศึกษาที่ต่ำกว่าระดับอุดมศึกษา ห้ามส่งเสริมการขาย คือ แจก แถม ให้ แจกคูปองหรือสิทธิที่จะได้รับส่วนลด ขายพ่วง ให้ของขวัญรางวัลหรือสิ่งอื่นใด การแถมพกหรือรางวัลด้วยกันเสี่ยงโชคชิงโชคชิงรางวัล จัดส่งแบบไม่คิดค่าบริการ

ห้ามบริจาคในสถานศึกษา หรือสถานที่ส่วนรวมสำหรับเด็ก หากประสงค์จะมอบหรือให้สิ่งของอุปกรณ์ของใช้ หรือสนับสนุนงบประมาณจัดกิจกรรม ต้องไม่แสดงชื่อหรือข้อความหรือสัญลักษณ์ที่สื่อความหมายเชื่อมโยงไปถึงอาหารและเครื่องดื่ม และห้ามติดต่อเด็กไม่ว่าโดยตรงหรือโดยอ้อมทุกช่องทาง

ห้ามผู้ใดโฆษณาอาหารในเครื่องดื่ม ที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพเด็กทุกช่องทาง ห้ามผู้ใดจัดตั้งกลุ่ม ชมรม ชุมชนออนไลน์ของอาหารและเครื่องดื่มที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพเด็กเพื่อส่งเสริมสนับสนุนแนะนำให้บริโภค

รวมถึงห้ามผู้ใดชักชวนหรือจูงใจเด็ก ด้วยข้อความสัญลักษณ์ที่เชื่อมโยงไปถึงอาหารในเครื่องดื่มที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพเด็กทั้งทางตรงทางอ้อม

โดยบทกำหนดโทษจะเป็นโทษปรับ ซึ่งมีตั้งแต่ปรับไม่เกิน 1 แสนบาท 2 แสนบาท และ 300,000 บาท ต่างกันไปตามความผิดและยังมีการปรับอีกวันละไม่เกิน 10,000 บาท จนกว่าจะปฏิบัติให้ถูกต้อง

ส่วนบทเฉพาะกาลกำหนดให้ฉลากที่จัดทำไว้แล้วก่อน พ.ร.บ.นี้ บังคับใช้ ให้ใช้ได้ต่อไปไม่เกิน 2 ปี และให้ดำเนินการตาม พ.ร.บ. นี้ให้แล้วเสร็จภายใน 180 วัน

ถามว่า จะซ้ำซ้อนกับ พ.ร.บ.อาหารของ อย.หรือไม่ นพ.สราวุฒิ กล่าวว่า คนละอย่างกัน พ.ร.บ.อาหารจะควบคุมคุณภาพ ปริมาณขนาดไหนให้ขายได้ การทำฉลาก ส่วนของเราควบคุมการตลาดเป็นคนละส่วน

แต่ที่เกี่ยวข้องกันคือ สารอาหารที่จะระบุในฉลากของอาหารต้องชัดเจน เช่น ไขมัน น้ำตาล โซเดียมต้องไม่เกินเท่าไร ซึ่งเรามีการกำหนดตัวเลขตามหลักวิชาการไว้แล้ว ตามประเภทของอาหารและเครื่องดื่มที่มี 7 ประเภท

ซึ่งแต่ละประเภทจะไม่เท่ากัน เช่น อาหารมื้อหลัก ขนมขบเคี้ยว เครื่องดื่มต่างๆ เป็นต้น ถ้าหวานมันเค็มเกินเกณฑ์ที่กำหนดก็จะโฆษณาไม่ได้ในกลุ่มเด็กอายุต่ำกว่า 18 ปี ซึ่งไม่ใช่แค่ในทีวี แต่รวมถึงออนไลน์ด้วย แต่ถ้าไม่เกินจากนี้ก็จะสามารถโฆษณาได้ตามปกติ

ถามว่า อาหารที่ส่งผลกระทบสุขภาพเด็ก แต่เป็นการโฆษณากับประชาชนทั่วไปไม่ใช่กับเด็กโดยตรงจะทำได้หรือไม่ นพ.สราวุฒิกล่าวว่า ตรงนี้ยังเป็นประเด็นที่อาจมีช่องว่าง เพราะหากไปโฆษณาแต่กระทบต่อเด็กก็ต้องลิงก์ว่ามีผลกระทบแบบนั้นก็จะไม่ให้มีการโฆษณา เพื่อไม่ให้เกิดกระทบต่อเด็ก ก็เป็นข้อหนึ่งที่จะลงไปในรายละเอียด

อย่างไรก็ตาม เรามีการพูดคุยกับผู้ประกอบการตลอด ส่งเสริมให้มีความรอบรู้ ทั้งเรื่องการผลิตอาหารแบบมีคุณภาพ หวานน้อยสั่งได้ Healthier Choise รวมถึงการใช้มาตรการทางกฎหมายแบบนี้ ส่วนกรณีอินฟลูเอนเซอร์ก็จะรวมด้วย แต่อาจจะต้องพิจารณาเพิ่มว่าจะมีความผิดร่วมด้วยหรือไม่เท่าไรอย่างไร เพราะโทษตอนนี้มีเพียงทางแพ่งโทษปรับ ไม่มีโทษอาญา เชื่อว่าหากกฎหมายบังคับใช้โฆษณาส่วนใหญ่ที่เป็นอาหารกรุบกรอบ เครื่องดื่มบางประเภท ต้องปรับรูปแบบโฆษณาใหม่

ถามถึงอาหารจานด่วนหรือกลุ่มฟาสต์ฟู้ดที่ไม่มีฉลากชัดเจน นพ.สราวุฒิกล่าวว่า อาหารต่างๆ ถ้าจะมาโฆษณาได้ก็ต้องผ่านการมีฉลาก แต่อาหารบางกลุ่มที่ไม่มีฉลาก เราพยายามให้ผู้ประกอบการมาลงทะเบียนและมีฉลาก ซึ่งกลุ่มอาหารจานด่วน ฟาสต์ฟู้ด ก็อยู่ใน 7 ประเภทอาหาร มีตารางสารต่างๆ ที่ต้องไม่เกินค่าตามนี้

จึงต้องมีการไปตรวจค่าออกมาก่อน และทำฉลากว่าส่วนผสมมีสารอะไรเท่าไรบ้าง หากไม่เกินก็โฆษณากับเด็กได้ตามปกติ ส่วนรายย่อย แฮนด์เมดที่ไม่มีฉลากอยู่แล้วก็เป็น Next Step ซึ่งเราจะพยายามให้เข้ามาสู่ระบบเช่นกัน แต่กลุ่มนี้จะไม่ค่อยโฆษณาเท่าไร เพราะขายอยู่แค่ตรงนั้น ก็จะค่อยเป็นค่อยไป

ผู้สื่อข่าวถามว่า การห้ามจำหน่ายในโรงเรียนเพียงพอหรือไม่ เพราะตรงข้ามโรงเรียนก็มีการขายแล้ว นพ.สราวุฒิกล่าวว่า จริงๆ เรามีมาตรการเยอะ โรงเรียนสีขาว อาหารปลอดภัยในโรงเรียน พื้นที่ห่างจากโรงเรียนไม่เกินเท่านี้ไม่ให้ขายก็มีมาตรการเยอะ แต่ก็ยังมีแบบนั้นอยู่ นอกจากมี พ.ร.บ.นี้ออกมาก็จะช่วยให้การเข้าถึงของเด็กยากขึ้น เป็นสิ่งที่เราคาดหวังไว้

ถามต่อว่า การให้ผู้ประกอบการอาหารที่มีผลกระทบสุขภาพเด็กสนับสนุนอุปกรณ์ งบประมาณต่างๆ ที่เกี่ยวกับเด็กได้ แต่ห้ามแสดงชื่อต่างๆ จะกลายเป็นการตีตราอาหารเหล่านี้หรือไม่ว่ามีโทษร้ายแรงไม่แตกต่างจากบุหรี่และเหล้าที่ห้ามเหมือนกันหรือไม่ นพ.สราวุฒิกล่าวว่า ต้องให้ผู้คนรับทราบว่า สิ่งเหล่านี้กินเข้าไปแล้วอันตรายต่อสุขภาพ ส่วนจะตีตราเหมือนเหล้าหรือบุหรี่หรือไม่ก็ต้องสามารถแยกแยะได้ ถ้ากินแบบนี้ส่งผลต่อสุขภาพอย่างไร

แท็กที่เกี่ยวข้อง

เรื่องอื่นที่น่าสนใจ