เปิดมาตรการ สถานศึกษา ป้องกันโควิด มีคนติดเชื้อไม่มีอาการ ไม่ต้องปิดเรียน

Home » เปิดมาตรการ สถานศึกษา ป้องกันโควิด มีคนติดเชื้อไม่มีอาการ ไม่ต้องปิดเรียน


เปิดมาตรการ สถานศึกษา ป้องกันโควิด มีคนติดเชื้อไม่มีอาการ ไม่ต้องปิดเรียน

เปิดมาตรการ สถานศึกษา ต้องทำอย่างไร เพื่อป้องกันโควิด หลัง สาธารณสุข ปรับเป็นโรคติดต่อที่ต้องเฝ้าระวัง มีคนติดเชื้อไม่มีอาการ ไม่ต้องปิดเรียน

วันที่ 3 ต.ค.65 น.ส.ตรีนุช เทียนทอง รมว.ศึกษาธิการ (ศธ.) กล่าวตอนหนึ่งในการแถลงข่าวเตรียมความพร้อมสถานศึกษาในสังกัดและในกำกับกระทรวงศึกษาธิการทั่วประเทศ ว่า เนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือ โควิด-19 ในประเทศไทยมีแนวโน้มคลี่คลายลง และ สธ.ได้ประกาศยกเลิกโรคโควิด-19 จากโรคติดต่ออันตราย เป็นโรคติดต่อที่ต้องเฝ้าระวัง ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคมที่ผ่านมา และ ศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบค.) มีมติยกเลิก พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 ให้กลับไปใช้ พ.ร.บ.โรคติดต่อ พ.ศ. 2558

กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) จึงยกเลิกประกาศ 3 ฉบับ เพื่อให้สอดรับกัน ได้แก่ ประกาศ ศธ. เรื่อง มาตรการป้องกันและควบคุมสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ของ ศธ. ลงวันที่ 30 ธันวาคม 2564 และ ประกาศ ศธ. เรื่องดังกล่าวเพิ่มเติม ครั้งที่ 1 ลงวันที่ 3 มกราคม 2565

รวมทั้งยกเลิกประกาศ ศธ. เรื่อง หลักเกณฑ์การเปิดโรงเรียนหรือสถาบันการศึกษา ตามข้อกำหนดที่ออกตามความในมาตรา 9 แห่ง พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 ลงวันที่ 30 พฤษภาคม 2565 และยังคงให้หน่วยงานและสถานศึกษาในสังกัด ศธ. ทุกแห่ง ปฏิบัติตามแนวทางของคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดและ สธ.กำหนดต่อไป

“สถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 มีแนวโน้มคลี่คลายลง แต่สถานศึกษาเป็นสถานที่ ที่มีการรวมกลุ่มและทำกิจกรรม จึงมีโอกาสเสี่ยงต่อการติดเชื้อโรคต่างๆ ซึ่งการจัดการเรียนการสอนนั้น ศธ. ยึดหลักความปลอดภัยของนักเรียน ครู และบุคลากรทางการศึกษา เป็นสำคัญ เพื่อให้นักเรียน ครู และผู้ปกครอง มีความอุ่นใจในการส่งบุตรหลานเข้ามาเรียน

ศธ.จึงต้องปรับแนวปฏิบัติให้สอดรับกับประกาศของ สธ. เช่น แนะนำให้สวมใส่หน้ากากอนามัยกรณีเข้าไปในสถานที่ที่แออัดหรือเป็นพื้นที่ปิด จัดสภาวะแวดล้อมของสถานศึกษาให้ถูกสุขลักษณะ และหากมีการติดเชื้อในสถานศึกษาให้จัดการเรียนการสอนตามความเหมาะสมโดยไม่ปิดเรียน

ทั้งนี้ ศธ.จะเน้นการพัฒนาระบบและทักษะให้นักเรียนและครูสามารถดูแลตนเองได้ โดยใช้โครงการ 1 โรงเรียน 1 ครูอนามัย สร้างเด็กไทยรอบรู้สุขภาพ ซึ่งจะเน้นทักษะในการคัดกรองดูแลสุขภาพเบื้องต้นตนเองได้ เช่น ความเสี่ยงการติดโรคระบาด การกู้ชีวิตขั้นพื้นฐานได้ (Basic Life Support) รวมถึงด้านสุขภาพจิตใจ มีระบบการคัดกรอง เฝ้าระวัง การส่งต่อ ด้านความเครียดหรือซึมเศร้าต่าง ๆ เพื่อให้การช่วยเหลือและลดความรุนแรง” น.ส.ตรีนุช กล่าว

คำแนะนำโควิดในสถานศึกษา

ด้าน นพ.สราวุฒิ บุญสุข รองอธิบดีกรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวว่า หลังจากที่ สธ.ประกาศยกเลิกโควิด-19 จากโรคติดต่ออันตราย เป็นโรคติดต่อที่ต้องเฝ้าระวัง ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคมนั้น ซึ่งสธ.ได้จัดระบบเฝ้าระวังโควิด-19 ไว้ 4 ส่วน ดังนี้ 1.การเฝ้าระวังในโรงพยาบาล 2.การเฝ้าระวังในพื้นที่ ที่มีความเสี่ยง เช่น สถานศึกษา เป็นต้น 3.การเฝ้าระวังการระบาดในลักษณะกลุ่มก้อน หรือ คลัสเตอร์ หากมีการแพร่ระบาดจำนวนมาก ต้องมีระบบในการควบคุมและสอบสวนโรค และ 4.การเฝ้าระวังเรื่องการกลายพันธ์ของเชื้อโควิด-19

“สำหรับคำแนะนำการป้องกันโรคติดต่อที่ต้องเฝ้าระวัง โควิด-19 สำหรับสถานศึกษานั้น แยกเป็น 3 ส่วน คือ 1.สถานศึกษา ให้ประกาศนโยบายมิติสุขภาพและคำแนะนำการป้องกันโรคติดต่อที่ต้องเฝ้าระวัง พร้อมกับให้จัดสภวาะแวดล้อมของสถานศึกษา ให้สะอาด ปลอดภัย มีสุขลักษณะตามหลักสุขาภิบาล และจัดห้องเรียนมีระบบการระบายอากาศที่ดี และมีการประเมินความเสี่ยงตามความเหมาะสมหรือตามคำแนะนำของ สธ. และคณะกรรมการโรคติดต่อระดับจังหวัด และส่งเสริมสร้างความรอบรู้ด้านสุขภาพแก่ ครู บุคลากร นักเรียนและผู้ปกครอง

2.นักเรียนและบุคลากร ต้องปฏิบัติตามสุขอนามัยส่วนบุคคลขั้นพื้นฐานเป็นกิจวัตร คือ ล้างมือ สวมหน้ากากในที่เข้าไปในสถานที่ ที่มีคนแออัด ในพื้นที่อากาศถ่ายเทไม่สะดวก หรือมีความเสี่ยง ประเมินความเสี่ยงของตนเองด้วย Thai Save Thai ถ้าเสี่ยงสูง แนะนำตรวจ ATK หรือปรึกษาหน่วยบริหารด้านสาธารณสุขในพื้นที่ และรับวัคซีน

และ 3.การเฝ้าระวัง ให้สถานศึกษาตรวจคัดกรองสุขภาพนักเรียนตามมาตรฐานงานอนามัยโรงเรียน พร้อมกับเฝ้าระวังและสังเกตการอาการป่วย ถ้ามีการป่วยเป็นกลุ่มก้อน ให้ประสาน ปรึกษา และส่งต่อสถานพยาบาล และกำกับติดตามและรายงานตามมาตรฐาน ผ่านออนไลน์อนามัยโรงเรียน” นพ.สราวุฒิ กล่าว

นพ.สราวุฒิ กล่าวเพิ่มเติมว่า แนวปฏิบัติสำหรับสถานศึกษากรณีติดเชื้อโควิด-19 กรณีที่ไม่มีอาการหรือมีอาการเล็กน้อย นักเรียน ครู บุคลากรในสถานศึกษา ปฏิบัติ ดังนี้ จัดการเรียนการสอนที่เหมาะสม โดยไม่ปิดเรียน ปฏิบัติตามหลักการ Universal Prevention เน้นมาตราการ 6-6-7 เข้มการสวมหน้ากากอนามัย ล้างมือ เว้นระยะห่างในห้องเรียนไม่น้อยกว่า 2 เมตร งดทำกิจกรรมรวมกลุ่ม จัดพื้นที่ให้มีระบบระบายอากาศที่ดี และทำความห้องเรียนชั้นเรียน กรณีที่ผู้ติดเชื้อโควิด-19 มีอาการปานกลางหรือรุนแรง ให้สถานศึกษาปฏิบัติตามแนวทางการดูแลรักษาของ สธ. และติดต่อหน่วยงานสาธารณสุขในพื้นที่

นายอรรถพล สังขวาสี รักษาราชการแทนปลัด ศธ. กล่าวว่า สำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ (สป.ศธ.) ในฐานะที่กำกับดูแลสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน (สช.) มีนักเรียนในสังกัดกว่า 500,000 คนนั้น จะนำข้อแนะนำ และองค์ความรู้เรื่องโรคติดต่อที่ต้องเฝ้าระวังทั้งหมด มีสร้างความรู้ ความเข้าใจให้นักเรียน ครู และบุคคลกรทางการศึกษา เพื่อให้บุคคลเหล่านี้นำองค์ความรู้ที่ได้กระจายให้ผู้ปกครอง และทำการเฝ้าระวังตนเองต่อไป

มองว่า ศธ.​จะต้องมีระบบการติดตามข้อมูลตัวเลขผู้ติดเชื้อจากทุกหน่วยงานหลัก เพื่อให้ รมว.ศธ. สามารถนำข้อมูลนี้ไปกำหนดนโยบายเกี่ยวกับโควิด-19 ได้ และสป.ศธ. จะเร่งจัดทำ ประกาศ​ ศธ. ถึงแนวปฏิบัติในการป้องกันโรคติดต่อเฝ้าระวัง เพื่อให้สถานศึกษานำแนวทางนี้ไปดำเนินการป้องกันการแพร่ระบาดของโควิด-19 ต่อไป

สถานศึกษา ต้องออกแบบ-วางมาตรการป้องกัน

นายอัมพร พินะสา เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) กล่าวว่า ตนจะสื่อสารไปยังโรงเรียนในสังกัดว่า แม้โควิด-19 ปรับเป็นโรคติดต่อที่ต้องเฝ้าระวังแล้ว แต่เรายังต้องเน้นป้องกันการแพร่ระบาดอยู่ เพราะโรคนี้ยังไม่ได้หายไป โดยสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) จะนำแนวปฏิบัติที่ สธ.ให้ไว้ ลงสู่การปฏิบัติ โดยเข้าไปให้ความรู้เรื่องการป้องกันไม่ให้ติดเชื้อโควิด-19 ให้กับนักเรียน ครู และบุคลากรทางการศึกษา

ส่วนสถานศึกษา ต้องออกแบบและวางมาตรการป้องกัน อะไรที่เป็นมาตรการเข้มงวดอยู่แล้ว และสร้างความปลอดภัยให้นักเรียน ก็ขอให้คงไว้เหมือนเดิม เช่น การเว้นระยะห่างในห้องเรียน จัดให้โรงอาหารเป็นพื้นที่โปร่ง โล่ง เป็นต้น และส่วนมาตรการไหนที่ผ่อนปรนได้ ก็ขอให้ผ่อนปรนเท่าที่จำเป็น

ทั้งนี้ขอให้สถานศึกษาทำงานร่วมกับผู้ปกครอง ถ้าผู้ปกครองสังเกตุว่าเด็กมีความเสี่ยง ต้องเข้าสู่ระบบคัดกรองทันที พร้อมกับปรับการเรียนการสอนเป็นรูปแบบอื่นให้นักเรียนยังคงได้เรียนหนังสือตลอด และต้องมีแผนเผชิญเหตุหากพบนักเรียนติดเชื้อ

ว่าที่ร้อยตรีธนุ วงษ์จินดา รักษาราชการแทนเลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (กอศ.) กล่าวว่า สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) จะเร่งสร้างความเข้าใจกับสถานศึกษาในสังกัด พร้อมกับเน้นย้ำเรื่องการทำความสะอาดห้องพักนักศึกษาที่อยู่ในโครงการอาชีวะอยู่ประจำ เรียนฟรี มีอาชีพ และทำความสะอาดห้องปฏิบัติการด้วย เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19

นอกจากนี้ สถานศึกษาต้องจัดทำแผนเผชิญเหตุเพื่อรองรับสถานการณ์ต่าง ๆ ด้วย และตนจะต้องดำเนินการตามนโยนบายของ รัฐมนตรีว่าการ ศธ. คือ เร่งจัดให้มี 1 วิทยาลัย 1 ครูอนามัย ประจำวิทยาลัยทุกแห่ง เพื่อให้มีครูที่มีความรู้เข้ามาดูแลโดยเฉพาะ ซึ่งตนเชื่อว่า สอศ.พร้อมที่จะขับเคลื่อนจัดการศึกษาท่ามกลางสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไปได้อย่างดี

ขณะที่ นายวัลลพ สงวนนาม เลขาธิการสำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย (กศน.) กล่าวว่า จะเร่งประสานขอความร่วมมือกับชุมชน ผู้ประกอบการ องค์การปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) เพื่อเตรียมความพร้อมสถานที่สำหรับการจัดกิจกรรมเรียนรู้ของผู้เรียน กศน.ให้มีความสะอาด มีความปลอดภัยจากเชื้อโควิด-19 มากที่สุด

นอกจากนี้ กศน.จะนำข้อแนะนำของสธ.​ ไปชี้แจงทำความเข้าใจกับผู้เรียน ครู และบุคลากรของ กศน.ต่อไป

แท็กที่เกี่ยวข้อง

เรื่องอื่นที่น่าสนใจ