เครื่องครัวพลาสติกสีดำกลายเป็นของใช้ประจำในครัวเรือน แต่กลับอาจเป็นอันตรายได้ ผู้เชี่ยวชาญเตือนบ้านไหนมีควรทิ้ง
เว็บไซต์ New York Post รายงานว่า เผยผลวิจัยจากสถาบันวิจัยท็อกซิก-ฟรี ฟิวเจอร์และสถาบันเพื่อชีวิตและสิ่งแวดล้อมแห่งอัมสเตอร์ดัม มหาวิทยาลัยเสรีอัมสเตอร์ดัม เผยว่า จากการทดสอบเครื่องใช้ครัวเรือน 203 รายการ ที่ผลิตด้วยพลาสติกสีดำ พบว่าร้อยละ 85 มีสารหน่วงการติดไฟผสมอยู่ในปริมาณสูง
งานวิจัยดังกล่าวถูกตีพิมพ์ในวารสารคีโมสเฟียร์ โดย เมแกน หลิว ผู้จัดการด้านวิทยาศาสตร์และนโยบายของศูนย์วิจัย อธิบายว่า สารหน่วงการติดไฟหรือ Retardant เป็นสารชนิดเดียวกันกับสารที่ใช้ในการผลิตอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ต่างๆ อย่าง โทรทัศน์ สมาร์ตโฟน หรือคอมพิวเตอร์
ซึ่งสารดังกล่าวจะถูกพบในอุปกรณ์หรือเครื่องใช้ที่ผลิตด้วยพลาสติกสีดำเท่านั้น ไม่มีในพลาสติกสีอื่น เนื่องจากอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ที่สามารถนำไปรีไซเคิลได้ และเคลือบสารหน่วงการติดไฟเหล่านี้มักจะมีสีดำ จากการตรวจสอบก็พบสารนี้อยู่ในปริมาณที่น่ากังวลใจ
งานวิจัย ยังระบุว่า พลาสติกที่ใช้ในอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์เหล่านี้อาจถูกนำไปรีไซเคิลและกลายเป็นวัสดุผลิตอุปกรณ์เครื่องครัวซึ่งไม่ได้ต้องการคุณสมบัติการหน่วงการติดไฟเท่าไหร่นัก แต่กลายเป็นว่า ทำให้เรามีโอกาสสัมผัสสารอันตรายนี้โดยไม่จำเป็น ซึ่งอาจเป็นอันตรายต่อสุขภาพอย่างยิ่ง โดยเฉพาะกับเด็กและสตรีในวัยเจริญพันธุ์
นักวิจัยชี้ว่า ปัญหาสุขภาพที่เกี่ยวข้องกับการสัมผัสสารนี้ ได้แก่ การก่อโรคมะเร็ง รบกวนการทำงานต่อมไร้ท่อ เป็นพิษต่อระบบประสาทและระบบสืบพันธุ์ รวมทั้งเป็นพิษต่อเด็กในครรภ์
แม้จะไม่ได้เปิดเผยชื่อยี่ห้อหรือผู้ผลิต แต่ทีมวิจัยพบสารหน่วงการติดไฟในระดับสูงสุดในเครื่องใช้ประเภทไม้พาย ถาดซูชิที่เป็นบรรจุภัณฑ์วางขายตามร้านค้า และสร้อยคอลูกปัดพลาสติก
ขณะเดียวกัน เฮเทอร์ สเตเปิลตัน ศาสตราจารย์ผู้เชี่ยวชาญจากสถาบันโรนี-ริเชล การ์เซีย-จอห์นสันแห่งมหาวิทยาลัยดุ๊ก กล่าวว่า ผลการวิจัยนี้แสดงให้เห็นอย่างชัดเจนว่าอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ที่มีสารหน่วงไฟ เช่น เปลือกนอกของทีวีขนาดใหญ่ กำลังถูกนำมารีไซเคิลเป็นภาชนะเก็บอาหารและอุปกรณ์ครัว
พร้อมเสริมว่า “แม้การพัฒนาวิธีการจัดการขยะพลาสติกอย่างยั่งยืนเป็นสิ่งสำคัญ แต่เราควรระมัดระวังและมั่นใจว่าเราจะไม่เพิ่มการสัมผัสสารเคมีอันตรายในวัสดุรีไซเคิล”
Mike Bird
ขณะที่ เจมี่ อลัน รองศาสตราจารย์จากมหาวิทยาลัยมิชิแกนสเตท แนะนำว่า แม้จะกำจัดสิ่งอันตรายออกจากบ้านทั้งหมดได้ยาก แต่ควรเริ่มลดการใช้เครื่องครัวที่น่ากังวลเหล่านั้น
“ถ้าคุณค่อย ๆ เปลี่ยนช้อนหรือใช้อุปกรณ์เคลือบสีดำน้อยลงได้ ก็ถือเป็นเรื่องดี” อลัน กล่าว
อลัน แนะนำด้วยว่า หากว่ายังไม่สามารถเปลี่ยนเครื่องใช้เสี่ยงอันตรายเหล่านี้ได้ในทันที ก็ควรหลีกเลี่ยงการนำไปใช้หรือสัมผัสของของร้อนเป็นเวลานานๆ แต่หากพลาสติกเหล่านี้ละลายหรือเสียรูปจเมื่อโดนความร้อน ควรเปลี่ยนเครื่องใช้นั้นทิ้งไปในทันที
พร้อมทั้งแนะนำตัวเลือกภาชนะหรือเครื่องใช้ในครัวที่ดีกว่าพลาสติกสีดำ คือ เครื่องใช้ที่ทำจากโลหะ ไม้และเซรามิก แต่ก็ต้องทำความสะอาดและฆ่าเชื้อโรคอย่างสม่ำเสมอ