เปิดประสบการณ์ทางเพศ "นักเรียนมัธยม" ทั่วประเทศ สะท้อนความเข้าใจเรื่องเซ็กส์ของเด็กไทย

Home » เปิดประสบการณ์ทางเพศ "นักเรียนมัธยม" ทั่วประเทศ สะท้อนความเข้าใจเรื่องเซ็กส์ของเด็กไทย
เปิดประสบการณ์ทางเพศ "นักเรียนมัธยม" ทั่วประเทศ สะท้อนความเข้าใจเรื่องเซ็กส์ของเด็กไทย

วันวาเลนไทน์ย้อนกลับมาอีกครั้ง พร้อมกับประเด็นความรักมากมายหลากหลายแง่มุมที่ถูกนำเสนอในหน้าสื่อ เช่นเดียวกับประเด็นเรื่องประสบการณ์ทางเพศของนักเรียนไทย ที่ร็อกเก็ต มีเดีย แล็บ ร่วมกับมูลนิธิแพธทูเฮลท์ (p2h) ได้ทำการสำรวจข้อมูลเกี่ยวกับประสบการณ์ ความรู้ความเข้าใจ รวมถึงปัญหาเกี่ยวกับเรื่องเซ็กส์ ความรัก และความสัมพันธ์ ในกลุ่มนักเรียนมัธยมศึกษา 1-6 และ ปวช. 1-3 ผ่านแบบสอบถามออนไลน์ ระหว่างวันที่ 7-12 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา 

จากผู้ตอบแบบสอบถามทั้งหมด 3,678 คน แบ่งเป็นเพศหญิง 2,181 คน (59.3%) เพศชาย 1,073 คน (29.17%) ตามด้วย LGBTQ+ 322 คน (8.75%) และไม่ต้องการระบุ 102 คน (2.77%) โดยผู้ตอบมีอายุระหว่าง 11-20 ปี เมื่อแบ่งตามระดับการศึกษา แบ่งได้เป็นชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1-3 จำนวน 1,667 คน (45.32%) ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4-6 1,532 คน (41.65%) และ ปวช.1-3 จำนวน 479 คน (13.02%) 

ความสัมพันธ์ของนักเรียนไทย

แบบสำรวจสอบถามว่าปัจจุบันอยู่ในความสัมพันธ์รูปแบบใด นักเรียนที่ตอบแบบสอบถามระบุว่า 

  • เป็นโสดมากที่สุด 1,980 คน หรือคิดเป็น 53.83%
  • มีแฟน 1,258 คน หรือคิดเป็น 34.20%
  • มีสถานะเป็นคนคุย 330 คน หรือคิดเป็น 8.97%
  • Friends with benefits 50 คน หรือคิดเป็น 1.36%
  • One-night stand 25 คน หรือคิดเป็น 0.68%
  • และอื่นๆ 35 คน หรือคิดเป็น 0.95% (เช่น อยู่ใน Friend zone ซื้อ-ขายบริการ และมือที่สาม)

เมื่อถามนักเรียนที่ตอบแบบสอบถาม 1,717 คน ที่ไม่ได้ตอบว่าโสด ว่าเจอกับคู่ของตัวเองได้อย่างไร มีผู้ตอบว่าเจอกันที่โรงเรียน, ผ่านทางเฟซบุ๊ก, มีเพื่อนแนะนำ, เจอกันในที่สาธารณะ, ผ่านแอปหาคู่, อินสตาแกรม, เกมออนไลน์หรือร้านเกม, ที่เรียนพิเศษ/ค่าย/กิจกรรมต่างโรงเรียน, ผ่านทางดิสคอร์ส, ผ่านทางทวิตเตอร์ (X), ติ๊กต็อก และอื่นๆ (คนละแวกบ้าน, ผ่านทาง Omegle/ Bigo live/ Openchat) 

เคยมีเพศสัมพันธ์หรือไม่

จากคำถามที่ว่าเคยมีเพศสัมพันธ์หรือไม่ ในจำนวนผู้ตอบแบบสอบถาม 3,678 คน ตอบว่าเคย 1,087 คน (29.55%) และไม่เคย 2,591 คน (70.45%) ทั้งนี้ เมื่อพิจารณาในกลุ่มที่ตอบว่าเคย พบว่า

  • เป็นเพศหญิง 715 คน คิดเป็น 65.78% 
  • เป็นเพศชาย 240 คน คิดเป็น 22.08%
  • LGBTQ+ 102 คน คิดเป็น 9.38% 

และหากแยกเป็นระดับการศึกษาจะพบว่า เป็นนักเรียน ม.ต้น 153 คน (14.08%) ม.ปลาย 555 คน (51.06%) และปวช. 379 คน (34.87%) 

อะไรทำให้มีเซ็กส์ครั้งแรก

จากคำถามว่าอะไรที่ทำให้เกิดการมีเซ็กส์ครั้งแรก พบว่า

  • มีการตกลงกันทั้งสองฝ่าย 716 คน คิดเป็น 65.87% 
  • บรรยากาศพาไป 255 คน คิดเป็น 23.46%
  • เมา 46 คน คิดเป็น 4.23% 
  • ถ้าไม่ให้ กลัวมีปัญหากับความสัมพันธ์ 29 คน คิดเป็น 2.67% 
  • ถูกบังคับ 27 คน คิดเป็น 2.48% 
  • อยากรู้อยากลอง 11 คน คิดเป็น 1.01%
  • อื่นๆ 3 คน คิดเป็น 0.28%

เคยคุมกำเนิดด้วยวิธีใดบ้าง

สำหรับคำถามที่ว่าตั้งแต่มีเพศสัมพันธ์ เคยคุมกำเนิดด้วยวิธีใดบ้าง ซึ่งสามารถตอบได้มากกว่า 1 ตัวเลือก พบว่า

  • การใช้ถุงยางอนามัย 967 คน คิดเป็น 38.63% 
  • ยาคุมกำเนิดฉุกเฉิน 436 คน คิดเป็น 17.42% 
  • การหลั่งนอก 393 คน คิดเป็น 15.70% 
  • ใช้ยาคุมกำเนิดรายเดือน 241 คน คิดเป็น 9.63% 
  • เลือกที่จะไม่คุมกำเนิด 118 คน คิดเป็น 4.71% 
  • นับวัน หน้า 7 หลัง 7 104 คน คิดเป็น 4.16% 
  • เพศสัมพันธ์ภายนอก (ถูไถ) 95 คน คิดเป็น 3.80% 
  • ฝังยาคุม 83 คน หรือ 3.32% 
  • ยาคุมแบบฉีด 42 คน คิดเป็น 1.68% 
  • อื่นๆ เช่น ถุงยางอนามัยสตรี ห่วงอนามัย ยาคุมแบบแปะ 24 คน คิดเป็น 0.96% 

ทั้งนี้ และหากพิจารณาเรื่องการไม่คุมกำเนิดโดยแบ่งเป็นเพศ พบว่าเป็นเพศหญิงมากที่สุด 71 คน รองลงมาคือ เพศชาย 24 คน และ LGBTQ+ 19 คน

โดยปกติคุมกำเนิดแบบใด

จากนั้น เมื่อถามว่าโดยปกติแล้ว คุมกำเนิดอย่างไร โดยสามารถเลือกคำตอบได้มากกว่า 1 ตัวเลือก พบว่า

  • ใช้ถุงยางอนามัย 926 คน คิดเป็น 43.76% 
  • การหลั่งนอก 351 คน คิดเป็น 16.59% 
  • ยาคุมกำเนิดฉุกเฉิน 291 คน คิดเป็น 13.75% 
  • ยาคุมกำเนิดรายเดือน 218 คน 10.30% 
  • ฝังยาคุม 91 คน 4.3% 
  • ไม่คุมกำเนิด 73 คน คิดเป็น 3.45%
  • นับวัน หน้า 7 หลัง 7 จำนวน 61 คน คิดเป็น 2.88% 
  • เพศสัมพันธ์ภายนอก (ถูไถ) 50 คน คิดเป็น 2.36% 
  • ยาคุมแบบฉีด 38 คน คิดเป็น 1.80% 
  • ถุงยางอนามัยสตรี 6 คน คิดเป็น 0.30% 
  • ห่วงอนามัย 5 คน คิดเป็น 0.25% 
  • อื่นๆ เช่น LGBTQ 4 คน คิดเป็น 0.20%
  • ยาคุมแบบแปะ 2 คน คิดเป็น 0.10%

ป้องกันโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์อย่างไร

จากคำถามที่ว่าป้องกันโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์อย่างไร พบว่า

  • ใช้ถุงยางอนามัย 1,026 คน คิดเป็น 84.03%
  • ไม่ป้องกัน 82 คน คิดเป็น 6.72%
  • ยาเพร็พ (PrEP) 40 คน คิดเป็น 3.28%
  • ยาเป็ป (PEP) 29 คน คิดเป็น 2.38%
  • แผ่นยางอนามัย (dental dam) 23 คน คิดเป็น 1.88%

เมื่อพิจารณาในรายละเอียดของกลุ่มที่ตอบว่าใช้ถุงยางอนามัย 1,026 คน พบว่า เป็นเพศหญิงมากที่สุด 676 คน รองลงมาก็คือเพศชาย 230 คน และ LGBTQ+ 91 คน และยังพบว่าเป็นนักเรียนในระดับชั้น ม.ปลายมากที่สุด 523 คน รองลงมาก็คือ ปวช. 363 คน ในขณะที่กลุ่มที่ตอบว่าไม่ป้องกัน 82 คน พบว่า เป็นเพศหญิงมากที่สุด 53 คน รองลงมาก็คือ LGBTQ+ 14 คน และเพศชาย 12 คน และยังพบว่าเป็นนักเรียนในระดับชั้นม.ปลายมากที่สุด 42 คน รองลงมาก็คือ ปวช. 23 คน 

เข้าถึงอุปกรณ์คุมกำเนิด/ป้องกันโรคจากช่องทางไหน

เมื่อถามว่าเข้าถึงอุปกรณ์คุมกำเนิด/ป้องกันโรคจากช่องทางไหน พบว่า 

  • ซื้อด้วยตัวเอง ผ่านร้านขายยา/ร้านสะดวกซื้อ 786 คน คิดเป็น 72.31%
  • ซื้อด้วยตัวเอง ผ่านทางออนไลน์ 167 คน คิดเป็น 15.36%
  • รับฟรี ผ่านสถานพยาบาลรัฐ 68 คน คิดเป็น 6.26%
  • ไม่คุมกำเนิด 40 คน คิดเป็น 3.68% 
  • ผู้ปกครองหาให้และอื่นๆ 13 คน คิดเป็น 1.20% 
  • ได้จากเพื่อน 3 คน คิดเป็น 0.28% 
  • ได้จากแฟน 2 คน คิดเป็น 0.18%

อย่างไรก็ตาม เมื่อถามว่ารู้หรือไม่ว่าสามารถรับถุงยางอนามัย/ยาคุมได้ฟรี พบว่าผู้ตอบแบบสอบถามทั้งหมดตอบว่า รู้ 2,386 คน (64.87%) และไม่รู้ 1,292 คน (35.13%) ทั้งนี้ ในส่วนของคำถามที่ว่าหากสามารถรับอุปกรณ์คุมกำเนิดได้ฟรี อยากรับผ่านช่องทางไหน พบว่าคำตอบที่ถูกเลือกมากที่สุดคือสถานพยาบาล/ร้านขายยา โดยไม่ต้องให้ข้อมูลส่วนบุคคล หรือ 2,122 คน (57.69%)

หากคุณหรือคู่ของคุณตั้งครรภ์โดยไม่ได้ตั้งใจ จะทำอย่างไร

ส่วนคำถามที่ว่าหากคุณหรือคู่ของคุณตั้งครรภ์โดยไม่ได้ตั้งใจ จะทำอย่างไร พบว่า

  • เลือกที่จะตั้งครรภ์ต่อ โดยเรียนต่อ 1,807 คน คิดเป็น 49.13% 
  • เลือกที่จะยุติการตั้งครรภ์ 1,095 คน คิดเป็น 29.77%
  • เลือกที่จะตั้งครรภ์ต่อ โดยลาออกจากโรงเรียน 537 คน คิดเป็น 14.60%
  • ไม่รู้ ไม่แน่ใจ ไม่ตอบ 63 คน คิดเป็น 1.71%
  • ปรึกษาผู้ปกครอง 44 คน คิดเป็น 1.20%
  • เป็น LGBTQ+ 28 คน คิดเป็น 0.76
  • ดูความพร้อม 22 คน คิดเป็น 0.60%
  • เลือกที่จะตั้งครรภ์ต่อ โดยพักการเรียนชั่วคราว 18 คน คิดเป็น 0.49%
  • อื่นๆ เช่น ไม่คิดว่าจะเกิดขึ้น แล้วแต่ฝ่ายที่ตั้งครรภ์ 64 คน คิดเป็น 1.74 %

ความน่าสนใจของคำตอบในข้อเลือกที่จะตั้งครรภ์ต่อ โดยเรียนต่อ พบว่าเพศที่ตอบในข้อนี้แบ่งเป็น หญิง 1,045 คน (57.83%) ชาย 564 คน (31.21%) LGBTQ+ 163 คน (9.02%) และไม่ระบุเพศ 35 คน (1.94%)

ผู้ตอบแบบสอบถาม 2,007 คน คิดเป็น 54.57% รู้ว่ากฎกระทรวงห้ามสถานศึกษาไล่นักเรียนที่ตั้งครรภ์ออก ทั้งนี้ ในส่วนของคำถามที่ว่า รู้สึกอย่างไรกับคนที่ตั้งครรภ์แล้วยังมาเรียน ซึ่งเป็นคำถามปลายเปิด เมื่อนำมาวิเคราะห์และจำแนกเป็นกลุ่มต่างๆ พบว่า ผู้ตอบแบบสอบถามรู้สึก

  • เฉยๆ เป็นกลาง มากที่สุด 1,584 คน คิดเป็น 43.07% 
  • ชื่นชม เช่น เขาต้องแกร่งมากเพราะต้องสู้กับสายตาที่มองเขา รู้จัก รับผิดชอบชีวิตของตัวเอง 1,171 คน คิดเป็น 31.84% 
  • ไม่มีความเห็น เช่น ไม่รู้สึกอะไรเพราะคนเราผิดพลาดกันได้ 348 คน คิดเป็น 9.46% 
  • เห็นใจสงสาร เช่น รู้สึกสงสารคนๆ นั้นที่ต้องอุ้มเด็กมาเรียนทุกวัน ซึ่งเด็กในท้องนั้นอาจจะมีโดยไม่ได้ประสงค์ 268 คน คิดเป็น 7.29%
  • ประณาม ไม่ควรมา เช่น หน้าไม่อาย 161 คน คิดเป็น 4.38% 
  • แปลก ตกใจ เช่น คงรู้สึกแปลกเพราะส่วนใหญ่มักจะลาออก 83 คน คิดเป็น 2.26%
  • กังวล เช่น กลัวว่าถ้ามาโรงเรียนแล้วจะแท้งแบบไม่รู้ตัว 30 คน คิดเป็น 0.76%
  • เข้าใจ เช่น ส่วนตัวต้องเข้าใจเขานะเพราะมันอาจจะผิดพลาดจริงๆเราไม่ควรมองเขาด้วยสายตารังเกียจ 10 คน คิดเป็น 0.27%
  • อื่นๆ เช่น รู้สึกว่าเราต้องป้องกันไม่ไห้เกิดขึ้นกับเรา 25 คน คิดเป็น 0.68% นอกจากนี้ยังมีคนที่เขียนเล่าเรื่องในโรงเรียนด้วยว่า “ขอพูดตรงๆ นะคะ คือเพื่อนมาโรงเรียน แต่ว่าคุณครูไล่ออกแบบเงียบๆ ค่ะ เลือกออก 1 คน ไม่หญิงก็ชายค่ะ”

ในส่วนของคำถามที่ว่า รู้หรือไม่ว่าสามารถยุติการตั้งครรภ์ได้อย่างถูกกฎหมายโดยบุคลากรทางการแพทย์ หากอายุครรภ์ไม่เกิน 12 สัปดาห์ ผู้ตอบแบบสอบถาม ตอบว่ารู้ 2,263 คน (61.53%) และไม่รู้ 1,415 คน (38.47%)

เมื่อเกิดปัญหาด้านความสัมพันธ์ เลือกปรึกษาใคร

คำถามที่ว่าเมื่อเกิดปัญหาด้านความสัมพันธ์ เลือกปรึกษาใคร พบว่า

  • ผู้ปกครอง 1,480 คน คิดเป็น 40.24%
  • เพื่อน/รุ่นพี่/รุ่นน้องที่สนิท 900 คน คิดเป็น 24.47%
  • คู่ของคุณ 529 คน คิดเป็น 14.38%
  • ไม่ปรึกษา 247 คน คิดเป็น 6.72%
  • นักจิตวิทยา/แพทย์ 208 คน คิดเป็น 5.66%
  • องค์กรที่ทำงานด้านนี้โดยตรง 109 คน คิดเป็น 2.96%
  • ครู 84 คน คิดเป็น 2.28% 
  • ครูแนะแนว 64 คน คิดเป็น 1.74% 
  • คนในโซเชียลมีเดีย 31 คน คิดเป็น 0.84% 
  • อื่นๆ (เช่น Google หมอสูตินารี คนในโซเชียลมีเดียที่ไม่รู้จักและจะไม่ได้เจอกันอีก) 26 คน คิดเป็น 0.71% 

ได้เรียนวิชาเพศศึกษาหรือไม่

คำถามที่ว่าคุณได้เรียนเรื่องเพศศึกษาหรือไม่ พบว่า เรียนในวิชาสุขศึกษา 2,633 คน (71.59%) เรียนในวิชาเพศศึกษา 938 คน (25.50%) และไม่ได้เรียน 107 คน (2.91%) และเมื่อถามว่าได้เรียนอะไรบ้าง ซึ่งสามารถเลือกตอบได้มากกว่า 1 ข้อ พบว่า

  • โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์และการป้องกัน 19.69% 
  • การป้องกันการตั้งครรภ์ 19.57%
  • การเปลี่ยนแปลงของร่างกาย 18.93%
  • ความหลากหลายทางเพศ 16.09% 
  • ทักษะในการจัดการความสัมพันธ์ เช่น การต่อรอง การปฏิเสธ การสื่อสาร 15.42% 
  • การเข้าถึงบริการสาธารณสุข 9.86%
  • ไม่ได้เรียน 0.44%

แท็กที่เกี่ยวข้อง

เรื่องอื่นที่น่าสนใจ