เปิดประวัติ "เฉลิมชัย ศรีอ่อน" หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ คนที่ 9

Home » เปิดประวัติ "เฉลิมชัย ศรีอ่อน" หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ คนที่ 9
เปิดประวัติ "เฉลิมชัย ศรีอ่อน" หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ คนที่ 9

ประวัติ “เฉลิมชัย ศรีอ่อน” ย้อนประวัติเส้นทางการเมือง 33 ปี ก่อนขึ้นมาเป็นหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ คนที่ 9

สิ้นสุดการรอคอยที่แสนยาวนานกว่า 7 เดือน สำหรับตำแหน่งหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์คนใหม่ หลังจาก นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ ได้ลาออกจากตำแหน่งเพื่อแสดงความรับผิดชอบผลการเลือกตั้งไม่เป็นไปตามที่คาดหวัง ได้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (สส.) ต่ำกว่า 50 ที่นั่ง โดยได้เพียง 25 ที่นั่ง แบ่งเป็น สส. เขต 22 ที่นั่ง และ สส. บัญชีรายชื่อ 3 ที่นั่งเท่านั้น

พรรคประชาธิปัตย์จัดการประชุมใหญ่วิสามัญเพื่อเลือกหัวหน้าพรรคคนใหม่และกรรมการบริหารพรรคชุดใหม่มาแล้วทั้งสิ้น 2 ครั้ง แต่ก็มีเหตุให้การประชุมล่มทั้ง 2 ครั้ง เนื่องจากองค์ประชุมไม่ครบ

สำหรับการประชุม วันนี้ (9 ธ.ค.) จัดการประชุมใหญ่วิสามัญเพื่อเลือกหัวหน้าพรรคคนใหม่และกรรมการบริหารพรรคชุดใหม่ ครั้งที่ 3 ซึ่งที่ประชุมมีมติเลือก นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รักษาการหัวหน้าพรรคและรักษาการเลขาธิการพรรค ขึ้นเป็นหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์คนที่ 9

  • ไม่พลิกโผ “เฉลิมชัย ศรีอ่อน” ขึ้นเป็นหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ คนที่ 9 แบบไร้คู่แข่ง

เส้นทางการเมือง เฉลิมชัย ศรีอ่อน หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์คนใหม่ 

นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน เกิดเมื่อวันที่ 7 มี.ค.2508 เป็นคนสามร้อยยอด อ.ปราณบุรี จ.ประจวบคีรีขันธ์ มีชื่อเล่นว่า ต่อ เป็นบุตรของนายหลียักหมิ่น แซ่ลี และนางหลวย ศรีอ่อน สมรสกับนางธันยวีร์ ศรีอ่อน มีบุตร 1 คน คือ สรวิศ ศรีอ่อน

นายเฉลิมชัย เริ่มต้นเส้นทางการเมืองด้วยการเป็นสมาชิกสภาจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ (ส.จ.) เป็นเวลา 10 ปี (พ.ศ.2533-2543) เป็นประธานสภาจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ (พ.ศ.2538-2540) เข้าสู่เวทีการเมืองระดับประเทศด้วยการเป็น สส.ประจวบคีรีขันธ์ ครั้งแรกในการเลือกตั้ง พ.ศ.2544 และได้รับการเลือกตั้งต่อมาในปี 2548, 2550 และ 2554

ต่อมาในปี 2562 นายเฉลิมชัยลงสมัครรับเลือกตั้งในพื้นที่ จ.ประจวบคีรีขันธ์ ในการเลือกตั้งทั่วไป แต่ไม่ได้รับเลือกตั้ง แพ้ให้กับนายพรเทพ วิสุทธิ์วัฒนศักดิ์ จากพรรคเพื่อไทย ไปเพียง 106 คะแนน

แต่ในการเลือกตั้งครั้งนั้น พรรคประชาธิปัตย์ก็ไม่สามารถชนะการเลือกตั้งดั่งที่ประกาศไว้ได้ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ในฐานะหัวหน้าพรรค จึงประกาศลาออกรับผิดชอบต่อผลคะแนน ทำให้คณะกรรมการบริหารพรรคต้องพ้นจากตำแหน่งทั้งคณะ

หลังจากนั้นวันที่ 15 พ.ค. ในปีเดียวกัน สมาชิกพรรคก็ได้ลงมติให้ นายเฉลิมชัย ดำรงตำแหน่งเลขาธิการของพรรค

ในรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เฉลิมชัยได้รับแต่งตั้งเป็น รมว.เกษตรและสหกรณ์ และเป็นกรรมการศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดโรคติดต่อ​ไวรัสโคโรนา​ 2019 ประธานกรรมการในคณะกรรมการกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร

ประวัติการศึกษา

  • ระดับมัธยมศึกษาจากโรงเรียนพรหมานุสรณ์ จังหวัดเพชรบุรี
  • ระดับปริญญาตรี คณะนิติศาสตร์ จากมหาวิทยาลัยรามคำแหง
  • ระดับปริญญาโท ศิลปศาสตรมหาบัณฑิต สาขานโยบายและการวางแผน จากมหาวิทยาลัยเกริก
  • ระดับปริญญาเอก ปรัชญาดุษฎีบัณฑิต สาขายุทธศาสตร์การพัฒนา มหาวิทยาลัยราชภัฏพระนคร

ประวัติการทำงาน

  • พ.ศ. 2533 – 2543 สมาชิกสภาจังหวัดประจวบคีรีขันธ์
  • พ.ศ.2538 – 2540 ประธานสภาจังหวัดประจวบคีรีขันธ์
  • พ.ศ. 2544, 2548, 2550, 2554 สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จังหวัดประจวบคีรีขันธ์
  • พ.ศ. 2553 รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน
  • พ.ศ. 2550 – 2554 รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์
  • พ.ศ. 2554 – 13 ธ.ค. 2556 เลขาธิการพรรคประชาธิปัตย์
  • 17 ก.ค. 2562 – 5 ก.ย. 2566 รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์
  • 15 พ.ค. 2562 – 2566 เลขาธิการพรรคประชาธิปัตย์
  • 9 ธ.ค. 2566 – ปัจจุบัน หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์

เครื่องราชอิสริยาภรณ์

  • พ.ศ. 2553 – มหาปรมาภรณ์ช้างเผือก (ม.ป.ช.)
  • พ.ศ. 2551 – มหาวชิรมงกุฎไทย (ม.ว.ม.)

แท็กที่เกี่ยวข้อง

เรื่องอื่นที่น่าสนใจ