ประวัติ อุ๊งอิ๊ง แพทองธาร
แพทองธาร ชินวัตร เกิดเมื่อวันที่ 21 สิงหาคม พ.ศ. 2529 เป็นบุตรสาวคนสุดท้องของทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี มีพี่สองคนคือพานทองแท้ ชินวัตร และพินทองทา คุณากรวงศ์ เกิดที่ ลอสแองเจลิส แคลิเฟอร์เนีย สหรัฐอมริกา ที่เกิดและโตที่ กรุงเทพมหานคร
เธอสำเร็จการศึกษาระดับชั้นมัธยมศึกษาจากโรงเรียนเซนต์โยเซฟคอนเวนต์ และโรงเรียนมาแตร์เดอีวิทยาลัย โดยในระหว่างช่วงเวลาดังกล่าว เธอได้ไปฝึกงานที่ร้านแมคโดนัลด์ สาขาสยามสแควร์ ต่อมาเธอสำเร็จการศึกษาปริญญาตรีรัฐศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ปี พ.ศ. 2551 และศึกษาต่อที่ประเทศอังกฤษ สาขาวิชา Msc International Hotel Management ที่มหาวิทยาลัยเซอร์เรย์ และในปี พ.ศ. 2567 ได้เข้าศึกษาที่ วิทยาลัยป้องกันราชอาณาจักร หลักสูตรการป้องกันราชอาณาจักร สำหรับผู้บริหารแห่งอนาคต รุ่นที่ 1 เพื่อนร่วมรุ่น อาทิ รัดเกล้า สุวรรณคีรี และพชร นริพทะพันธุ์ เป็นต้น
เธอเป็นผู้ถือหุ้นอันดับ 1 บริษัท เอสซี แอสเสท คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) และกรรมการมูลนิธิไทยคม นอกจากนี้เธอยังเป็นผู้ถือหุ้นในกิจการอื่น ๆ เช่น โรงแรมโรสวู๊ด กรุงเทพ,เทมส์ วัลลีย์ เขาใหญ่ และเดอะ ซิสเตอส์ เนลส์ แอนด์ มอร์ เป็นต้น ทั้งนี้ ในปี พ.ศ. 2565 เธอถือหุ้นรวมทั้งหมด 21 บริษัท มูลค่าประมาณ 68,000 ล้านบาท นอกจากนี้เธอยังเคยเป็นประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มธุรกิจโรงแรม บริษัท เรนด์ ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด
ชีวิตส่วนตัว เธอสมรสกับปิฎก สุขสวัสดิ์ โดยทูลกระหม่อมหญิงอุบลรัตนราชกัญญา สิริวัฒนาพรรณวดี เสด็จเป็นองค์ประธานในพิธีมงคลสมรสของทั้งคู่ เมื่อวันที่ 22 มีนาคม พ.ศ. 2562 ณ โรงแรมโรสวู๊ด ฮ่องกง มีบุตรสาว 1 คน คือ ธิธาร สุขสวัสดิ์ ซึ่งเกิดวันที่ 10 มกราคม พ.ศ. 2564 และมีบุตรชาย 1 คน คือ พฤจ์ธาษิณ สุขสวัสดิ์ ซึ่งเกิดในวันที่ 1 พฤษภาคม พ.ศ. 2566 ก่อนการเลือกตั้งใหญ่ในเดือนเดียวกัน
บทบาททางการเมือง
การประชุมใหญ่สามัญประจำปีของพรรคเพื่อไทย เมื่อวันที่ 28 ตุลาคม พ.ศ. 2564 ที่ศูนย์ประชุมและแสดงสินค้านานาชาติ จังหวัดขอนแก่น สมพงษ์ อมรวิวัฒน์ หัวหน้าพรรคเพื่อไทย ซึ่งได้ประกาศลาออกในงานนั้น ได้ประกาศเปิดตัวแพทองธารเป็นประธานที่ปรึกษาด้านการมีส่วนร่วมและนวัตกรรมของพรรค
ในการประชุมของพรรคเพื่อไทยเมื่อวันที่ 20 มีนาคม พ.ศ. 2565 เธอได้รับตำแหน่ง “หัวหน้าครอบครัวเพื่อไทย” สมชัย ศรีสุทธิยากร อดีตคณะกรรมการการเลือกตั้ง วิเคราะห์ว่าตำแหน่งดังกล่าวเป็นการทะลายข้อจำกัดในการดำเนินงานของพรรคการเมือง และปูทางให้พรรคเพื่อไทยเสนอชื่อเธอเป็นผู้ถูกเสนอชื่อเป็นนายกรัฐมนตรีในการเลือกตั้งครั้งถัดไป
ในเดือนมกราคม พ.ศ. 2566 เธอกล่าวว่าพร้อมที่จะเป็นแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีของพรรคเพื่อไทย อีกทั้งระบุพร้อมจะจับมือกับทุกพรรคหากมีความคิดเรื่องนโยบายตรงกัน, เห็นพ้องในความเป็นประชาธิปไตย และเคารพเสียงของประชาชน แต่ปฏิเสธว่ายังไม่ได้มีการพูดคุยกับพลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ หัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) แต่อย่างใด
จากนั้นในปลายเดือนกุมภาพันธ์ พรรคเพื่อไทยแต่งตั้งให้ เศรษฐา ทวีสิน เป็นประธานที่ปรึกษาหัวหน้าครอบครัวเพื่อไทย โดยเศรษฐามีหน้าที่ให้คำปรึกษาหรือดำเนินการตามที่แพทองธารมอบหมาย ต่อมาในเดือนมีนาคมปีเดียวกัน เธอให้สัมภาษณ์กับเดอะสแตนดาร์ด ระบุหากพรรคพลังประชารัฐมีจุดยืนไม่เอารัฐประหารเช่นเดียวกับพรรคเพื่อไทย ก็พร้อมจะพูดคุย แต่ไม่ได้ยืนยันว่าจะรวมเสียงเพื่อจัดตั้งรัฐบาลกับ พปชร. หรือไม่ เดือนถัดมาพรรคเพื่อไทยเสนอเธอในบัญชีรายชื่อผู้สมควรดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี พร้อมกับเศรษฐาและชัยเกษม นิติสิริ
หลังจากมีการเลือกตั้งครั้งใหญ่ในเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2566 พรรคเพื่อไทยได้จำนวน ส.ส. เป็นอันดับ 2 รองจากพรรคก้าวไกล เธอกล่าวว่าตนเองก็มีความผิดหวังที่พรรคไม่ได้อันดับ 1 ตามแผน แต่ก็พร้อมทำงานร่วมกับพรรคก้าวไกล รวมถึงพรรคอื่น ๆ ที่จะจับขั้วร่วมกับทั้งสองพรรคดังกล่าว แต่ต่อมาภายหลังจากที่พรรคเพื่อไทยยกเลิกบันทึกความเข้าใจจัดตั้งรัฐบาลร่วมกับพรรคก้าวไกลแล้ว ในวันที่ 9 สิงหาคม เธอและผู้บริหารพรรคเพื่อไทยได้เดินเท้าจากอาคารโอเอไอที่ทำการพรรค ไปยังอาคารไทยซัมมิทที่อยู่ติดกัน เพื่อร่วมหารือกับแกนนำพรรคก้าวไกลในการพิจารณาให้ความเห็นชอบบุคคลซึ่งสมควรได้รับการแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรี ครั้งที่ 3 ซึ่งวันถัดมามีกระแสข่าวว่าแพทองธารได้แจ้งกับแกนนำพรรคก้าวไกลว่าพรรคเพื่อไทยจำเป็นต้องนำพรรคพลังประชารัฐ ซึ่งมีพลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ เป็นหัวหน้าพรรค เข้าร่วมรัฐบาล และส่งผลให้พรรคก้าวไกลมีมติในอีก 6 วันถัดมาว่า ไม่สนับสนุนบุคคลซึ่งสมควรได้รับการแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรีของพรรคเพื่อไทย
หลังจากที่ชลน่าน ศรีแก้ว ประกาศลาออกจากหัวหน้าพรรคเพื่อไทย ต่อมาเมื่อวันที่ 27 ตุลาคม พรรคเพื่อไทยได้จัดการประชุมใหญ่วิสามัญเพื่อเลือกกรรมการบริหารพรรคชุดใหม่ และที่ประชุมมีมติเลือกแพทองธารเป็นหัวหน้าพรรคคนใหม่เป็นคนที่ 8 โดยเธอเป็นผู้หญิงคนแรกที่ดำรงตำแหน่งดังกล่าว
ภายหลังศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยถอดถอนเศรษฐา ทวีสิน ออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 14 สิงหาคม พ.ศ. 2567 วันรุ่งขึ้น (15 สิงหาคม 67) ที่ประชุมสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรสังกัดพรรคเพื่อไทยมีความเป็นห่วงในเรื่องปัญหาสุขภาพของชัยเกษม นิติสิริ จึงมีมติให้การสนับสนุนแพทองธารให้สภาผู้แทนราษฎรพิจารณาให้ความเห็นชอบแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรีในนามพรรคเพื่อไทย ในการลงมติในวันถัดมา ซึ่งครอบครัวชินวัตรรับฟังความต้องการของ สส. พรรคเพื่อไทย และยินยอมให้พรรคเสนอชื่อแพทองธาร โดยที่ประชุม สส. พรรคเพื่อไทย ได้มอบอำนาจให้คณะกรรมการบริหารพรรคเพื่อไทยออกเป็นมติในการเสนอชื่อบุคคลซึ่งสมควรได้รับแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรี
ล่าสุดเมื่อวันที่ 15 สิงหาคมที่ผ่านมา เธอได้รับเลือกจากพรรคเพื่อไทย และพรรคร่วมรัฐบาล ให้เข้าชิงตำแหน่ง นายกคนที่ 31 ของประเทศไทย และถ้าหาก อุ๊งอิ๊ง แพทองธาร ได้รับเลือกให้เป็นนายกรัฐมนตรีคนที่ 31 ในวันนี้ (16 ส.ค.) ก็จะกลายเป็นนายกฯ หญิงคนที่ 2 ของประเทศไทยต่อจาก ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร และเป็นนายกรัฐมนตรีที่อายุน้อยที่สุดในประวัติศาสตร์ไทย