เปิดประวัติ! ‘ตั๊น’ จิตภัสร์ กฤดากร แกนนำสาว กปปส. คดีไล่ยิ่งลักษณ์

Home » เปิดประวัติ! ‘ตั๊น’ จิตภัสร์ กฤดากร แกนนำสาว กปปส. คดีไล่ยิ่งลักษณ์
ตั๊น-ประวัติ-ปก-min

เปิดประวัติ! “ตั๊น” หรือ “จิตภัสร์ กฤดากร” แกนนำสาว กปปส. คดีไล่ยิ่งลักษณ์ ปัจจุบันรักษาการรองเลขาธิการ พรรคประชาธิปัตย์

วันที่ 1 ธ.ค. 2566 ณ ศาลอาญา ถนนรัชดาภิเษก มีคำพิพากษาในคดีหมายเลขดำ อ.2732/2562 ที่พนักงานอัยการฝ่ายคดีพิเศษ 4 เป็นโจทก์ฟ้อง นายนัสเซอร์ ยีหมะ, นายอุทัย ยอดมณี, นายนิติธร ล้ำเหลือ, น.ส.จิตภัสร์ กฤดากร กับพวก รวม 7 คนในความผิดฐาน ร่วมกันมั่วสุมเป็นกบฏสมคบกันใช้กำลังประทุษร้ายเพื่อล้มล้างหรือ เปลี่ยนแปลงรัฐธรรมนูญ ฯ

ศาลพิพากษาจำคุกนายนัสเซอร์ จำเลยที่ 1 เป็นเวลา 6 เดือนไม่รอลงอาญา เพราะเคยมีประวัติร่วมกันก่อเหตุความวุ่นวาย ส่วนจำเลยที่ 2-3 คือนายอุทัย และนายนิติธร สั่งจำคุก 5 ปี 9 เดือน ปรับ 2 แสนบาท ให้รอลงอาญาเป็นเวลา 2 ปี

ขณะที่จำเลยที่ 4 คือ ตั๊น จิตภัสร์ กฤดากร ให้จำคุก 9 เดือน ปรับ 4 หมื่นบาท รอลงอาญา 2 ปี ส่วนจำเลยที่ 5-6 คือ นายพานสุวรรณ ณ แก้ว และนายประกอบกิจ อินทร์ทอง สั่งจำคุก 4 ปี 9 เดือน ปรับ 1 แสน 8 หมื่นบาท ให้รอลงอาญาเป็นเวลา 2 ปี

ทั้งนี้ จำเลยที่ 1-6 ถูกศาลพิพากษาลงโทษในความผิดข้อหาต่างๆ เช่น ยุยง หรือจัดให้เกิดการร่วมกันหยุดงาน, กระทำให้ปรากฏแก่ประชาชนด้วยวาจาเพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลง, มั่วสุมกันตั้งแต่ 10 คนขึ้นไป, ร่วมกันทำให้เสียทรัพย์ เป็นต้น แต่ได้ยกฟ้องในข้อหากบฏ โดยศาลพิเคราะห์ว่า เป็นการแสดงความเห็นโดยสุจริตตามสิทธิเสรีภาพที่ประชาชนพึงมี นอกจากนี้ ยังพิเคราะห์ว่าจำเลยที่ 2 ถึง 6 ได้มามอบตัวเอง ไม่มีพฤติกรรมหลบหนีคดี ไม่เคยมีประวัติก่อคดีมาก่อน จึงให้รอลงอาญา

ส่วนนายกิตติศักดิ์ ปกติ จำเลยที่ 7 ศาลยกฟ้องทุกข้อกล่าวหา เนื่องจากศาลพิเคราะห์ว่าไม่ปรากฏว่าเคยไปเป็นแกนนำ โจทก์ซัดทอดไม่ชัดเจนว่าเป็นคนสั่งการ โดยหลังฟังคำพิพากษา จำเลยที่ 1-6 ก็ได้ให้ทนายความไปยื่นขออุทธรณ์คดีทันที

ประวัติ “ตั๊น” หรือ “จิตภัสร์ กฤดากร”

จิตภัสร์ ตั๊น กฤดากร เดิมชื่อ จิตภัสร์ ภิรมย์ภักดี ชื่อเล่นว่า ตั๊น เป็นอดีตสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ สังกัดพรรคประชาธิปัตย์ รองเลขาธิการพรรคประชาธิปัตย์ และประธานที่ปรึกษาคณะกรรมาธิการตำรวจ สภาผู้แทนราษฎร อดีตรองโฆษกพรรคประชาธิปัตย์ อดีตแนวร่วมกลุ่ม กปปส. อดีตเลขานุการรัฐมนตรีจุติ ไกรฤกษ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศการสื่อสารในรัฐบาลอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ

เกิดเมื่อวันที่ 16 มิถุนายน พ.ศ. 2528 เป็นบุตรสาวคนโตของจุตินันท์ ภิรมย์ภักดี อดีตรองกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท บุญรอด บริวเวอรี่ จำกัด, อดีตประธานกรรมการ บริษัท สิงห์ เอสเตท จำกัด (มหาชน) อดีตประธานมูลนิธิคณะกรรมการพาราลิมปิกแห่งประเทศไทย นายกสมาคมคาราเต้แห่งประเทศไทย และอดีตสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ กับหม่อมหลวงปิยาภัสร์ ภิรมย์ภักดี ซึ่งเป็นบุตรีของหม่อมราชวงศ์ยงสวาสดิ์ กฤดากร รองผู้อำนวยการสำนักงานทรัพย์สินพระมหากษัตริย์

ประวัติการศึกษา

จิตภัสร์ เริ่มเข้าเรียนที่โรงเรียนจิตรลดา ก่อนไปศึกษาต่อที่โรงเรียนประจำหญิงล้วน Westonbirt School ที่ประเทศอังกฤษจนจบชั้นมัธยมศึกษา สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรี สาขาวิชาภูมิศาสตร์จากคิงส์คอลเลจลอนดอน ประกาศนียบัตรหลักสูตรผู้นำยุคใหม่ในระบบประชาธิปไตย รุ่น 2 สถาบันพระปกเกล้า 

สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาโท รัฐประศาสตรมหาบัณฑิต จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยและ หลักสูตรการโดดร่มใหม่แบบกระตุกเอง รุ่นที่ 1/64 ของ กองบังคับการสนับสนุนทางอากาศ กองบัญชาการตำรวจตระเวนชายแดน

ประสบการณ์การทำงาน

  • จิตภัสร์เคยฝึกงานทั้งในประเทศและต่างประเทศ เช่น บริษัทโฆษณา Blue UIR Advertising, บริษัท Orange (True Move), Christian Dior, หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ บริษัทโพลีพลัสเอ็นเตอร์เทนเม้นท์
  • เป็น NGO ในโครงการ Population and Community Development Association ที่จังหวัดกระบี่
  • เป็นครูฝึกสอนที่จังหวัดบุรีรัมย์ ก่อนที่จะผันตัวเข้าสู่แวดวงการเมือง ตามความฝันในวัยเด็กที่ต้องการจะเป็นนายกรัฐมนตรี

เข้าสู่วงการ “การเมือง”

เข้าร่วมทำงานกับรัฐบาลอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ โดยการชักชวนของ นิพนธ์ พร้อมพันธุ์ เลขาธิการนายกรัฐมนตรี ที่มีความสนิทสนมกับครอบครัว และเห็นว่ามีความสนใจทางการเมือง โดยมีหน้าที่เป็นผู้ช่วยและเลขานุการของ ดร.ปณิธาน วัฒนายากร รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ต่อมาในปี พ.ศ. 2554 ได้ลงสมัครสมาชิกผู้แทนราษฎร พรรคประชาธิปัตย์ เขต 5 แต่ไม่ได้รับเลือกตั้ง ในอีกสองปีต่อมาเธอได้เข้าร่วมกับชุมนุมกับกลุ่ม กปปส. โดยรับหน้าที่เป็นโฆษกภาคภาษาอังกฤษ และต่อมาในปี พ.ศ. 2561 ได้รับตำแหน่งรองเลขาธิการพรรคประชาธิปัตย์ และลงสมัคร ส.ส. ระบบบัญชีรายชื่อ ลำดับที่ 20 ในการเลือกตั้งปีถัดมา และได้รับการเลือกตั้งหลังจากการคำนวณคะแนนบัญชีรายชื่อใหม่ อันเนื่องมาจากการเลือกตั้งซ่อมที่จังหวัดเชียงใหม่ในช่วงปลายเดือนพฤษภาคมปีเดียวกัน เนื่องจากผู้สมัครของพรรคประชาธิปัตย์ในเขต 8 เชียงใหม่ ได้คะแนน 1,738 คะแนน แต่สามารถดันจิตภัสร์ให้เป็น สส. จนเป็นที่มาของฉายา “ตั๊นพันเจ็ด”

สำหรับการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรไทยเป็นการทั่วไป พ.ศ. 2566 จิตภัสร์ได้เป็นผู้สมัครรับเลือกตั้งแบบบัญชีรายชื่อ ของพรรคประชาธิปัตย์ ในลำดับที่ 10 หลังจากได้อาการบาดเจ็บหลังประสบอุบัติเหตุจากการฝึกกระโดดร่ม จนต้องใส่เฝือกที่หลัง เพื่อป้องการกระแทกระหว่างการหาเสียง

เข้ามาเป็นแกนนำ กปปส. ได้ยังไง?

ในช่วง วิกฤตการณ์ทางการเมืองปี พ.ศ. 2556-2557 จิตภัสร์ได้เข้าร่วมการชุมนุมกลุ่ม กปปส. โดยรับผิดชอบ ด้านการรายงานข่าวภาคภาษาอังกฤษและดูแลโรงเรียนต้นไม้

ในระหว่างการชุมนุม จิตภัสร์ให้สัมภาษณ์สำนักข่าวเอเอฟพีว่า “คนไทยจำนวนมาก ขาดความเข้าใจในประชาธิปไตยที่แท้จริง โดยเฉพาะคนในชนบท” ก่อให้เกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนัก จุตินันท์ ภิรมย์ภักดี ผู้เป็นบิดาได้ร่อนจดหมายขอโทษต่อสื่อมวลชน ขณะที่จิตภัสร์ชี้แจงว่า “ไม่เคยดูถูกคนชนบท แม้แต่นิดเดียว ดังที่บางกลุ่มพยายามบิดเบือนใส่ร้าย เพื่อตอกลิ่มสร้างความแตกแยกในสังคม” 

จากเหตุการณ์ดังกล่าวส่งผลให้ครอบครัวได้รับผลกระทบและถูกคนร้ายลอบปาระเบิดเพลิงใส่บ้านและสันติ ภิรมย์ภักดี กรรมการผู้จัดการใหญ่ บจก.บุญรอดบริวเวอรี ได้มีหนังสือไปยังจุตินันท์ บิดาของจิตภัสร์ในเชิงตำหนิ ด้วยเหตุดังกล่าว จิตภัสร์จึงตัดสินใจเปลี่ยนนามสกุลจาก “ภิรมย์ภักดี” เป็น “กฤดากร”

แท็กที่เกี่ยวข้อง

เรื่องอื่นที่น่าสนใจ