“แม่นี้มีบุญคุณอันใหญ่หลวง…” ประโยคขึ้นต้นเพลงที่คนไทยต่างคุ้นเคยดี เพราะเพลง “ค่าน้ำนม” เป็นเพลงสุดอมตะที่อยู่ในความทรงจำของชาวไทยมาอย่างยาวนาน มีเนื้อหาซาบซึ้งกินใจเกี่ยวกับพระคุณของแม่ ที่ฟังแล้วอาจทำให้หลายคนน้ำตาไหล
เพลงค่าน้ำนม แต่งโดย ไพบูลย์ บุตรขัน มีการขับร้องและบันทึกเสียงครั้งแรกโดย ชาญ เย็นแข เมื่อ พ.ศ. 2492 ซึ่งเรียกได้ว่าเป็นเพลงที่สร้างชื่อเสียงให้กับ ไพบูลย์ บุตรขัน และชาญ เย็นแข มากที่สุด และต่อมาเพลงนี้ก็กลายเป็นเพลงวันแม่ไปโดยปริยาย
ประวัติความเป็นมาของเพลงนี้ก็กินใจไม่แพ้เนื้อหาในเพลง ไพบูลย์ บุตรขัน แต่งให้กับมารดา คือ นางพร้อม ประณีต ซึ่งเป็นผู้ที่ดูแลครูไพบูลย์อย่างใกล้ชิดมาตลอด ถึงแม้ครูไพบูลย์จะป่วยเป็นโรคเรื้อนซึ่งได้รับความรังเกียจจากบุคคลทั่วไป แต่ผู้เป็นแม่กลับไม่เคยรังเกียจ ซึ่งเพลงค่าน้ำนม เป็นหนึ่งในเพลงจำนวน 5-6 เพลง ที่ลูกชายคนนี้แต่งให้แม่ของเขา เพื่อเชิดชูความรักที่แม่มีต่อลูกอย่างมากมายมหาศาลและไม่มีเงื่อนไขใดๆ
เพลงค่าน้ำนม เป็นเพลงแรกที่ ชาญ เย็นแข ได้รับการบันทึกเสียง โดยในครั้งแรกครูไพบูลย์ตั้งใจจะให้บุญช่วย หิรัญสุนทรเป็นผู้ขับร้องบันทึกเสียงกับวงดนตรีศิวารมย์ของครูสง่า อารัมภีร แต่บุญช่วย หิรัญสุนทรเกิดป่วยไม่สามารถมาร้องได้ ครูสง่าจึงเสนอให้ชาญ เย็นแขซึ่งเป็นลูกศิษย์ มาขับร้องแทน
ในการขับร้องบันทึกเสียงครั้งแรก ครูสง่า อารัมภีร เป็นผู้เล่นเปียโน บันทึกเสียงเพียงไม่กี่ครั้งก็ใช้งานได้ เรียบเรียงเสียงประสานโดย สง่า อารัมภีร และ ประกิจ วาทยกร (บุตรชายของพระเจนดุริยางค์) วางจำหน่ายเมื่อ 4 มิถุนายน พ.ศ. 2492 หลังจากแผ่นเสียงเพลงนี้ออกจำหน่าย ได้รับความนิยมเป็นอย่างมาก
ประวัติ ครูไพบูลย์ บุตรขัน อัจฉริยะนักแต่งเพลง
ไพบูลย์ บุตรขัน เดิมชื่อ ไพบูลย์ ประณีต เกิดที่บ้านท้องคุ้ง ตำบลเชียงรากใหญ่ อำเภอสามโคก จังหวัดปทุมธานี เป็นบุตรของนายบุตร และนางพร้อม ประณีต ครอบครัวมีอาชีพทำนา มีฐานะยากจน มีพี่น้อง 3 คน เมื่ออายุได้ 6 ปี บิดาเสียชีวิต จึงได้รับการเลี้ยงดูโดยนายเจน บุตรขัน ผู้เป็นอา นำไปอยู่ที่อำเภอปทุมวัน กรุงเทพ และได้เปลี่ยนนามสกุลจากประณีต มาเป็นบุตรขัน
ไพบูลย์ บุตรขัน เริ่มศึกษาชั้นประถมต้นที่จังหวัดปทุมธานี ประถมปลายที่โรงเรียนสตรีปทุมวัน และศึกษาจนจบมัธยม 8 ที่โรงเรียนสวัสดิ์อำนวยเวทย์ กรุงเทพ และศึกษาดนตรีเพิ่มเติมจากครูพิณ โปร่งแก้วงาม ราวปี พ.ศ. 2476-2478 และเรียนวิชาดนตรีและโน้ตเพลงสากลเพิ่มเติมที่สมาคมวายเอ็มซีเอ แถบถนนวรจักร และได้ใช้โน้ตดนตรีประกอบการแต่งเพลงทุกครั้งตั้งแต่นั้นมา
-
จุดเริ่มต้นการเขียนเพลง
หลังจากเรียนจบ ไพบูลย์ บุตรขัน ได้ทำงานเป็นครูสอนภาษาไทยที่โรงเรียนกว๋องสิว แล้วลาออกไปทำงานเป็นช่างไฟฟ้าที่โรงไฟฟ้าสามเสน แล้วลาออกไปทำงานกับคณะละคร คณะแม่แก้ว และคณะจันทโรภาส ของพรานบูรพ์ ทำหน้าที่เขียนบทละครวิทยุ และแต่งเพลง
งานเพลงของไพบูลย์ บุตรขัน เริ่มบันทึกแผ่นเสียงเมื่อประมาณ พ.ศ. 2490 จากการชักนำของ สวัสดิภาพ บุนนาค ซึ่งเป็นเพื่อนและน้องเขย เพลงในยุคแรกได้แก่เพลง “มนต์เมืองเหนือ” “คนจนคนจร” “ดอกไม้หน้าพระ” “ดอกไม้หน้าฝน” และ “ค่าน้ำนม” และได้รับการยกย่องว่าเป็นงานที่มีคุณค่า และได้รับรางวัลแผ่นเสียงทองคำพระราชทาน เช่น “โลกนี้คือละคร” (ขับร้องโดย ปรีชา บุณยะเกียรติ) “เบ้าหลอมดวงใจ” และ “มนต์รักลูกทุ่ง” (ขับร้องโดย ไพรวัลย์ ลูกเพชร) “ฝนเดือนหก” (ขับร้องโดย รุ่งเพชร แหลมสิงห์)
“กลิ่นโคลนสาปควาย” (แต่งขึ้นในปี พ.ศ. 2496 ขับร้องโดยชาญ เย็นแข) เป็นอีกผลงานชิ้นสำคัญชิ้นหนึ่งของของไพบูลย์ บุตรขัน ที่ทางราชการไทยเคยประกาศห้ามเปิดในช่วงการปราบปรามคอมมิวนิสต์ แม้จะมีการห้ามจากทางการแต่ยิ่งห้ามก็มีผู้ฟังซื้อแผ่นเสียงไปฟังเป็นจำนวนมาก เพลงนี้ยังได้รับยกย่องให้เป็นรากฐานของเพลงลูกทุ่งอีกด้วยเพราะในอดีตก่อน พ.ศ. 2500 นั้นเพลงในประเทศไทยยังมิได้แบ่งแยก ยุคสมัยที่ยังไม่ได้มีการแบ่งแยกเพลงลูกกรุงและเพลงลูกทุ่งออกจากกันอย่างชัดเจน
หลังจากเสียชีวิตไปแล้วหลายปี ในปี พ.ศ. 2532 เพลงของครูไพบูลย์ ได้รับรางวัลพระราชทานในงานกึ่งศตวรรษเพลงลูกไทย ถึง 10 เพลง ได้แก่ “ชายสามโบสถ์” (ขับร้องโดย คำรณ สัมบุญณานนท์) “น้ำตาเทียน” (ขับร้องโดย ทูล ทองใจ) “บ้านไร่นารัก” และ “เพชรร่วงในสลัม” (ขับร้องโดย ชินกร ไกรลาศ) “ฝนซาฟ้าใส” (ขับร้องโดย ยุพิน แพรทอง) “ฝนเดือนหก” (ขับร้องโดย รุ่งเพชร แหลมสิงห์) “บุพเพสันนิวาส” และ “มนต์รักแม่กลอง” (ขับร้องโดย ศรคีรี ศรีประจวบ) “มนต์รักลูกทุ่ง” (ขับร้องโดย ไพรวัลย์ ลูกเพชร) และ “ยมบาลเจ้าขา” (ขับร้องโดย บุปผา สายชล) และในปี พ.ศ. 2534 ได้รับรางวัลจากเพลง “หนุ่มเรือนแพ” (ขับร้องโดย กาเหว่า เสียงทอง)
-
อาการป่วย
ตั้งแต่วัยหนุ่ม ครูไพบูลย์ บุตรขัน ป่วยเป็นโรคเรื้อนและไม่มีเงินรักษาอย่างจริงจัง ครูไพบูลย์เก็บตัวเงียบไม่ออกสังคม โดยได้รับการดูแลอย่างใกล้ชิดจากนางพร้อม ประณีต ผู้เป็นมารดาจนนางพร้อมเสียชีวิตในปี พ.ศ. 2508 แต่ได้ความช่วยเหลือจากเพื่อนฝูง พาไปรักษาจนหายดี แต่ก็ยังมีร่างกายพิการ ต่อมาได้กลับมาเป็นโรคร้ายอีกครั้ง และใช้ยาเสพติดเพื่อบรรเทาอาการ และเข้าบำบัดที่สำนักสงฆ์ถ้ำกระบอกจนหายขาดในปี พ.ศ. 2502
ครูไพบูลย์ บุตรขัน สมรสกับ ดวงเดือน บุตรขัน นักแต่งเพลงลูกศิษย์ครูไสล ไกรเลิศ ที่เป็นเพื่อนกัน ทั้งคู่ร่วมงานกันและแต่งงานกันในเดือนธันวาคม พ.ศ. 2511 แต่ครูไพบูลย์ได้ล้มป่วยด้วยโรคลำไส้ อาเจียนเป็นเลือด หลังจากนั้นไม่นาน จนกระทั่งเสียชีวิตเมื่อวันที่ 29 สิงหาคม พ.ศ. 2515 (อายุ 56 ปี) มีพิธีพระราชทานเพลิงศพเมื่อเดือนมกราคม พ.ศ. 2516