เปิดประมวลกฎหมาย "ตายแบบไหน? ต้องชันสูตรพลิกศพ"

Home » เปิดประมวลกฎหมาย "ตายแบบไหน? ต้องชันสูตรพลิกศพ"


เปิดประมวลกฎหมาย "ตายแบบไหน? ต้องชันสูตรพลิกศพ"

สำนักงานกิจการยุติธรรมออกมาชี้ชัด “ตายแบบไหน? ต้องชันสูตรพลิกศพ” เปิดประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 148 มีลักษณะอย่างไร? ใครที่เกี่ยวข้องบ้าง?

วันนี้ (27 เม.ย. 66) ทางสำนักงานกิจการยุติธรรม(สกธ.) หน่วยงานหนึ่งในกระทรวงยุติธรรม ได้ออกมาเปิดเผยข้อมูล “ตายแบบไหน…ต้องชันสูตรพลิกศพ”

“การชันสูตรพลิกศพ” เป็นวิธีที่ดีที่สุดในการพิสูจน์หาสาเหตุการตาย สามารถตอบปัญหา และข้อสงสัยจากการตายได้ ซึ่ง ‘การชันสูตรพลิกศพ’ เป็นกระบวนการที่กำหนดขึ้นตาม ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 148 ว่า

“เมื่อปรากฏแน่ชัดหรือมีเหตุอันควรสงสัยว่าบุคคลใดตายโดยผิดธรรมชาติหรือตายในระหว่างอยู่ในความควบคุมของเจ้าพนักงาน ให้มีการชันสูตรพลิกศพ เว้นแต่ตายโดยประหารชีวิตตามกฎหมาย”

ภาพประกอบ

ภาพประกอบจาก : สำนักงานกิจการยุติธรรม

โดย “การตายผิดธรรมชาติ” และ “การตายในระหว่างอยู่ในความควบคุมของเจ้าพนักงาน” มีรายละเอียดความแตกต่างกันคือ

  • การตายผิดธรรมชาติ มี 5 ลักษณะ ดังนี้
  1. การฆ่าตัวตาย
  2. การถูกผู้อื่นทำให้ตาย
  3. การถูกสัตว์ทำร้ายตาย
  4. การตายโดยอุบัติเหตุ
  5. การตายโดยยังไม่ปรากฏเหตุ
  • การตายในระหว่างอยู่ในความควบคุมของเจ้าพนักงาน ได้แก่

การตายที่อยู่ในระหว่างควบคุมหรือขัง หรือ กักขัง หรือจำคุก หรือคุมตัวของเจ้าพนักงานตามกฎหมาย หรือ คำพิพากษา หรือตามคำสั่งของศาลแล้วแต่กรณี

ทั้งนี้ ผู้ที่มีอำนาจหน้าที่เกี่ยวข้องกับชันสูตรพลิกศพ ได้แก่

1. พนักงานสอบสวนและตำรวจกองพิสูจน์หลักฐาน : รับแจ้งความเมื่อมีผู้ตาย แจ้งผู้มีหน้าที่ให้ร่วมชันสูตรพลิกศพทราบ เช่น แพทย์ พนักงานอัยการ พนักงานปกครอง ซึ่งก่อนการชันสูตรพลิกศพ ต้องแจ้งญาติของผู้ตายอย่างน้อย 1 คนทราบเท่าที่จะทำได้

2. เจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครอง เช่น ปลัดอำเภอ-จังหวัด นายอำเภอ ผู้ว่าราชการฯ

3. แพทย์หรือเจ้าหน้าที่สาธารณสุข : แพทย์ประจำโรงพยาบาลของรัฐ, แพทย์ประจำสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด, แพทย์ประจำโรงพยาบาลเอกชน หรือแพทย์ผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรมที่ขึ้นทะเบียนเป็นแพทย์อาสาสมัครตามระเบียบของกระทรวงสาธารณสุข

ภาพประกอบ

ภาพประกอบ

วิธีการชันสูตรพลิกศพ

1.การตรวจสอบด้วยการพลิกศพชันสูตรพลิกศพโดยไม่ผ่า “พลิกดูศพทั้งด้านหน้า – ด้านหลัง” เช่น ดูเพศ อายุ เชื้อชาติ สิ่งของติดตัว ฯลฯ เพื่อพิจารณาว่าผู้ตายเป็นใคร สภาพศพหลังตายเปลี่ยนแปลงอย่างไร ประมาณเวลาตาย ดูบาดแผลเพื่อสันนิษฐานสาเหตุของการตาย

2.การตรวจสอบด้วยการผ่าศพ ถ้ายังหาสาเหตุการตายไม่ได้ ไม่ชัดเจน หรือมีเหตุจำเป็นเพื่อหาสาเหตุการตาย เช่น การผ่าศพตรวจดูด้วยตาเปล่า หรือการตัดเอาก้อนเนื้อไปตรวจดูด้วยกล้องจุลทรรศน์

ทั้งนี้หากผู้ตายเป็นชาวไทยอิสลามจะผ่าศพไม่ได้ ตามหลักศาสนาอิสลาม หนังสือกระทรวงมหาดไทย และระเบียบสำนักงานตำรวจแห่งชาติ

ที่มา : สำนักงานกิจการยุติธรรม

แท็กที่เกี่ยวข้อง

เรื่องอื่นที่น่าสนใจ