เจ้าสาวของกลุ่มชาติพันธุ์ในประเทศจีน ไม่เพียงแต่ต้องร้องไห้อย่างน้อยหนึ่งชั่วโมงต่อวัน เป็นเวลาหนึ่งเดือนก่อนงานแต่งงาน แต่ยังต้องดุด่าแม่สื่อ ด้วยความเชื่อว่าจะทำให้ชีวิตแต่งงานมีความสุขในอนาคต
งานแต่งงานถือเป็นช่วงเวลาที่เต็มไปด้วยความสุข เสียงหัวเราะ และความสุข เมื่อเจ้าสาวและเจ้าบ่าวเริ่มต้นสร้างครอบครัวใหม่ด้วยกัน อย่างไรก็ตาม สำหรับเจ้าสาวของกลุ่มชาติพันธุ์ถู่จีอา (土家族) ในมณฑลเสฉวน ประเทศจีน พวกเขาจะต้องร้องไห้อย่างน้อยวันละ 1 ชั่วโมงเป็นเวลาหนึ่งเดือน ก่อนที่จะกลายเป็นสามีภรรยากัน
ประเพณีการร้องไห้ในงานแต่งงานมีมานานแล้ว ในหลายพื้นที่ของมณฑลเสฉวนทางตะวันตกเฉียงใต้ และมีชื่อเสียงในสมัยราชวงศ์ชิง (ค.ศ.1644-1911) แม้ว่าปัจจุบันจะไม่ได้รับความนิยมเท่าที่เคยเป็นมา แต่ผู้คนยังคงถือว่าประเพณีนี้เป็นพิธีแต่งงานที่สำคัญ
กลุ่มชาติพันธุ์ถู่จีอา เป็นกลุ่มชาติพันธุ์ที่ใหญ่เป็นอันดับ 8 จาก 56 กลุ่มชาติพันธุ์ในประเทศจีน โดยมีประชากรมากกว่า 8 ล้านคน ซึ่งส่วนใหญ่อาศัยอยู่ในภูมิภาคตอนกลาง และตะวันตกเฉียงใต้ของประเทศ
คนเฒ่าคนแก่บอกว่า เจ้าสาวทุกคนร้องไห้ในงานแต่งงานของตัวเอง เพราะหากไม่ทำเช่นนั้น เจ้าสาวจะถูกเพื่อนบ้านดูถูกและกลายเป็นตัวตลกในหมู่บ้าน จริงๆ แล้วมีหลายกรณีที่เจ้าสาวถูกแม่ทุบตีเพราะไม่ร้องไห้ในระหว่างพิธีแต่งงาน และพวกเขายังมีความเชื่อว่า การร้องไห้สามารถประเมินคุณค่าและความฉลาดของเจ้าสาวได้
ตามรายงานพบว่า ประเพณีการร้องไห้ในงานแต่งงาน โดยปกติแล้วเจ้าสาวจะเริ่มร้องไห้หนึ่งเดือนก่อนวันแต่งงาน โดยเมื่อตกกลางคืนเจ้าสาวก็เข้าไปในห้องโถง และนั่งร้องไห้อยู่ประมาณหนึ่งชั่วโมง สิบวันต่อมาแม่ของเจ้าสาวก็จะร้องไห้พร้อมกับลูกสาวด้วย จากนั้นก็ถึงตาคุณยายของเจ้าสาวที่จะเข้าร่วมด้วยเช่นเดียวกัน หากเจ้าสาวมีพี่สาวหรือป้าก็ต้องร้องไห้ร่วมกับเจ้าสาวด้วย
ตามความเชื่อ การร้องไห้ของเจ้าสาวจะทำให้ชีวิตสมรสมีความสุข เสียงร้องของเจ้าสาวแสดงออกผ่านความคร่ำครวญอันแสนเศร้า อย่างไรก็ตาม ในอดีต เจ้าสาวหลายคนร้องไห้เพราะถูกบังคับให้แต่งงาน และคร่ำครวญเกี่ยวกับการแต่งงานที่ไม่มีความสุขที่กำลังจะเกิดขึ้น
ส่วนการดุด่าแม่สื่อ เป็นส่วนสำคัญและน่าสังเกตของประเพณีการร้องไห้ในงานแต่งงาน ในสังคมยุคโบราณผู้หญิงไม่มีสิทธิ์ตัดสินใจเรื่องการแต่งงานของตนเอง แต่แม่สื่อและผู้ปกครองเป็นผู้จัดเตรียมทุกอย่าง ดังนั้น เจ้าสาวจึงมักดุแม่สื่อก่อนแต่งงาน นอกจากนี้ยังปรากฏให้เห็นในละครและศิลปะพื้นบ้านอื่นๆ ในประเทศจีนอีกด้วย
ในชนบทที่แม่สื่อยังคงมีบทบาทสำคัญ เจ้าสาวยังคงสาปแช่งต่อไปในขณะที่ปฏิบัติตามธรรมเนียมการร้องไห้ในงานแต่งงาน อย่างไรก็ตามแม่สื่อไม่กลัวที่จะถูกดุด่า เพราะถ้าไม่ด่าก็หมายความว่าพวกเขาจะไม่สามารถกำจัดปัญหาที่โชคร้ายออกไปได้
ทั้งนี้ยังพบว่าด้วยว่า เด็กผู้หญิงอายุ 15 หรือ 16 ปีจำนวนมากถูกฝึกให้ร้องไห้ เพื่อเตรียมตัวสำหรับงานแต่งงานในอนาคต พวกเขาฝึกซ้อมกับเพื่อนๆ เพื่อให้แน่ใจว่าพวกเขาจะไม่ทำผิดพลาดในวันก่อนวันแต่งงานอย่างเป็นทางการ