เปิดตำนานหดหู่ "มิสเซิลโท" สื่อกลางชีวิตกับความตาย สู่ธรรมเนียมจูบในคืนคริสต์มาส

Home » เปิดตำนานหดหู่ "มิสเซิลโท" สื่อกลางชีวิตกับความตาย สู่ธรรมเนียมจูบในคืนคริสต์มาส
เปิดตำนานหดหู่ "มิสเซิลโท" สื่อกลางชีวิตกับความตาย สู่ธรรมเนียมจูบในคืนคริสต์มาส

อมนุษย์ เพื่อนมนุษย์ : โลกีย์ ชีวิต และมิสเซิลโท จากตำนานโบราณถึงคริสต์มาสที่คุณรัก

ช่วงเวลาแห่งคริสต์มาสได้หวนกลับมาหาพวกเราอีกครั้ง เดินไปตามห้างร้านต่างๆ ไม่ว่าจะที่ไทยหรือประเทศอื่นๆ น่าจะได้ยินเสียงเพลงคริสต์มาสหลายเพลง บางคนอาจรื่นเริง หรือบางคนอาจได้ยินจนรำคาญและในบรรดาเพลงคริสต์มาสคุ้นหูอย่าง We wish you a merry Christmas หรือ Joy to the World ไปจนถึงเพลงยุคใหม่อย่าง All I want for Christmas is you ของ มารายห์ แครี หรือ Last Christmas ของแวม! ก็คงจะมีเพลงนี้ที่หลายคนคงได้ยินกันบ่อยๆ นั่นคือ Mistletoe ของจัสติน บีเบอร์ 

เนื้อเพลงบอกว่าตัวเอกอยากอยู่กับเธอใต้มิสเซิลโทมากกว่าอย่างอื่น  แน่นอนว่ามิสเซิลโทเป็นอีกหนึ่งพืชยอดนิยมในวันคริสต์มาสรองจากต้นสน ทางฝั่งตะวันตกมีความเชื่อกันว่า ถ้าผู้หญิงคนไหนยืนใต้ต้นมิสเซิลโท ผู้ชายที่พบเจอจะต้องมาจูบผู้หญิงคนนั้นเพื่อสิริมงคล หรือถ้าได้จูบกันก็จะได้รักกันนิรันดร จูบหนึ่งครั้งก็ให้เด็ดลูกของมิสเซิลโทไปด้วย ที่จัสติน บีเบอร์อยากจะอยู่ใต้ต้นมิสเซิลโทกับ ‘เธอ’ ในบทเพลงก็เพราะจะได้เป็นแฟนกันอยู่ด้วยกันตลอดไปอะไรแบบนั้น ผู้ชายผู้หญิงบางคู่สมัยก่อน เขาก็พบรักกันใต้พุ่มมิสเซิลโทนี่แหละ (มีทินเดอร์ที่ไหนล่ะ สมัยนั้น)

เชื่อไหมคะว่า ธรรมเนียมการจูบกันใต้ช่อมิสเซิลโทมาแพร่หลายจริงจังในอังกฤษศตวรรษที่สิบเก้า ซึ่งเป็นยุคสมัยที่หลายๆ คนมองว่าหมกมุ่นเรื่องศีลธรรมทางเพศ ดิฉันว่าหน้าที่ของเจ้าช่อมิสเซิลโทคือการสร้างพื้นที่ให้คนได้หลีกหนี ระบายออกจากระเบียบที่เข้มงวด เป็นพื้นที่สีเทาที่ต้องมีอยู่เพื่อผ่อนคลายความตึงเครียด 

บทบาทในฐานะผู้ต่อรองกับขนบนี้ชวนให้ดิฉันนึกถึงต้นมิสเซิลโทในตำนานและในชีวิตจริง ซึ่งอยู่กับความกำกวม ท้าทายเส้นแบ่งและกฎเกณฑ์เสมอๆ ไม่ว่าจะเป็นตำแหน่งของมัน ซึ่งอยู่ระหว่างดินกับฟ้า เพราะเป็นกาฝาก หรือพุ่มใบเขียวชอุ่มของมันก็ชูช่อในฤดูหนาว ฤดูที่สรรพชีวิตอื่นๆ เหมือนจะ ‘ล้มตาย’ กันหมด ความกำกวมซึ่งสะท้อนพลังชีวิตในยามโหดร้ายนั้น ก็ทำให้มิสเซิลโทกลายเป็นสัญลักษณ์ของงานฉลองในหน้าหนาวอย่างคริสต์มาสได้ง่ายๆ เพราะคริสต์มาสก็เป็นเหมือนแสงสว่างอันอบอุ่นท่ามกลางความหนาวเหน็บของฤดูกาล 

ก่อนอื่นต้องทำความเข้าใจก่อนว่า วันที่พระเยซูประสูติจริงๆ อาจไม่ใช่ 25 ธันวาคม อย่างที่ทุกคนเข้าใจกันมาว่าวันคริสต์มาสคือวันคริสตสมภพ ซึ่งศาสนจักรจะกำหนดวันไหนก็ไม่ใช่เรื่องผิด แต่ในแง่ของประวัติศาสตร์ศาสนา วันคริสต์มาสนั้นใกล้เคียงกับเทศกาลเฉลิมฉลองสุริยเทพในศาสนาโบราณในหลายอารยธรรม เช่น อารยธรรมโรมันโบราณ หรือ อารยธรรมเยอรมันโบราณ ที่ฉลองกันช่วงนี้ก็เพราะจะมีวันหนึ่งในเดือนธันวาคมที่ช่วงกลางวันสั้นที่สุด ปรากฏการณ์นี้เรียกว่าปรากฏการณ์เหมายัน หรือ winter solstice หรือบางทีจะเรียกว่า Midwinter (แต่ไม่ได้อยู่กลางฤดูหนาวนะคะ ขอย้ำ) หลังจากพระอาทิตย์หายหน้าไปพระถูกความมืดกลืนกิน

วันรุ่งขึ้นคนก็ออกฉลองที่พระอาทิตย์กลับมา ช่วงเหมายันมักจะราวๆ วันที่ 20 – 22 ธันวาคมของทุกปี ไม่น่าแปลกอะไรที่วันที่ 25 ธันวาคม ตามปฏิทินสมัยใหม่ จะกลายเป็นวันเฉลิมฉลองใหญ่ เพียงแต่ก่อนนั้นคนฉลองสุริยเทพกันมาก่อนคริสตศาสนาจะถือกำเนิดเสียอีก และไม่แปลกอะไรที่คริสตศาสนาจะรับเทศกาลเฉลิมฉลองโบราณมาเป็นส่วนหนึ่งของตน และเป็นส่วนหนึ่งของประวัติพระเยซู ผู้ถูกเปรียบกับดวงอาทิตย์บ่อยครั้งในพระคัมภีร์ไบเบิล ตำนานโบราณหลายๆ ตำนานก็มักจะกล่าวถึงการต่อสู้ระหว่างดวงตะวันและความมืดมนเสมอๆ 

แล้วเจ้ามิสเซิลโทมันอยู่ตรงไหนของเรื่อง?

สิ่งที่จะเหมาะประดับประดาในหน้าหนาวอันมืดหม่นแบบนี้คงหนีไม่พ้นใบไม้เขียวๆ วัฒนธรรมการนำไม้ไม่ผลัดใบ (กล่าวคือ จะฤดูไหนก็เขียว) มาประดับบ้านเพื่อเฉลิมฉลองหลังวันเหมายันพ้นผ่านมีมานานตั้งแต่สมัยอียิปต์โบราณ เหมือนเป็นการฉลองว่าชีวิตยังงอกเงยงอกงามได้ในฤดูกาลซึ่งทุกอย่างแทบจะตายไปหมด นี่คือสาเหตุว่าทำไมเราต้องมีต้นคริสต์มาสและมิสเซิลโทในวันคริสต์มาส 

เจ้าต้นมิสเซิลโทเป็นที่นิยมมากสำหรับชาวเคลต์ (Celt) ชนเผ่าโบราณในยุโรปเพราะเป็นต้นไม้ชนิดหนึ่งที่เขียว และยิ่งไปกว่านั้น มันอยู่ระหว่างดินกับฟ้า ไม่งอกจากดิน เป็นต้นไม้เทพประทานมาจากฟ้า นักเขียนชาวโรมันโบราณชื่อไพลนีผู้อาวุโส (Pliny the Elder) ได้เขียนเล่าถึงพิธีกรรมมิสเซิลโทของชาวเคลต์ไว้ว่า นักบวชเคลต์ ซึ่งเราเรียกกันว่าดรูอิด (Druid) นั้นจะต้องอัญเชิญมิสเซิลโทศักดิ์สิทธิ์ซึ่งขึ้นบนต้นโอ๊ค เพราะถือเป็นของหายาก จากนั้นนักบวชเคลต์จะต้องตัดต้นมิสเซิลโทด้วยเคียวทอง อัญเชิญมาไหว้บนผ้า ไม่ให้ร่วงลงพื้นไม่เช่นนั้นจะหมดความศักดิ์สิทธิ์ จากนั้นก็นำไปประกอบพิธีต่อ 

ประเด็นคือไม่มีใครรู้ว่าไพลนีผู้อาวุโสนี่เชื่อถือได้สักแค่ไหน เพราะไม่เจอหลักฐานอื่นในฝั่งเคลต์เกี่ยวกับเรื่องนี้เลย อย่างไรเสีย ไม่ว่าอีตาไพลนีจะมโนหรือไม่ก็ตาม เรื่องเล่าของไพลนีกลายเป็นพิธีกรรมจริงจังขึ้นมาเมื่อเกิดการรื้อฟื้นวัฒนธรรมเคลติกในคริสต์ศตวรรษที่สิบแปดและสิบเก้า ศิลปินในยุคนั้นก็ได้วาดรูปพิธีกรรมนี้จากเรื่องเล่าของไพลนี ปัจจุบันนี้ ณ เมืองเทนบรี เวลส์ (Tenbury Wells) ในภาคกลางของประเทศอังกฤษ พิธีกรรมคล้ายที่ไพลนีอธิบายยังคงนำมาใช้เพื่อประกอบพิธีขอมิสเซิลโทจากต้นไม้ และเฉลิมฉลองผลผลิตทางการเกษตร พิธีกรรมนี้เป็นส่วนหนึ่งของเทศกาลมิสเซิลโทและการประมูลช่อมิสเซิลโทเพื่อนำไปขาย ที่นี่ทำชาจากใบมิสเซิลโท แถมยังมีมูลนิธิมิสเซิลโท (Mistletoe Foundation) เมืองนี้จึงชื่อเล่นว่าเมืองหลวงของมิสเซิลโทในประเทศอังกฤษ

สำหรับชาวเคลต์ การจูบกันในเทศกาลพระสุริยเทพใต้ต้นไม้เขียวชอุ่มนั้นก็เป็นเรื่องปกติ เพราะการจูบกันสำหรับชาวเคลต์คือการอวยชัยให้พรกัน บ้างก็อธิบายว่าการจูบเป็นส่วนหนึ่งของเรื่องเพศ ซึ่งเป็นส่วนสำคัญของพิธีกรรมแห่งความอุดมสมบูรณ์ (เพราะการร่วมเพศคือการสืบต่อชีวิต ขยายพันธุ์) ผลมิสเซิลโทซึ่งมีสีขาวขุ่นบีบแล้วมีน้ำเหนียวออกมานั้นก็ชวนให้นึกถึงน้ำกาม (semen) ราวกับว่ามิสเซิลโทเป็น ‘เชื้อชีวิต’ ของต้นไม้ใหญ่ ในอดีต เชื่อกันว่ามิสเซิลโทเป็นยาแก้สารพัดโรคเพราะมันคือตัวแทนของพลังชีวิต (จริงๆ แล้วผลของมันเป็นพิษต่อคนนะคะ) อาจกล่าวได้ว่า ต้นมิสเซิลโทเป็นต้นไม้ขบถ และเป็นสัญญาณแห่งการต่อสู้ของชีวิต ผู้ไม่ยอมเหี่ยวแห้งโรยราไปกับฤดูหนาวหรือความตาย

สำหรับชาวนอร์ส (Norse) และชาวโรมันโบราณ ต้นมิสเซิลโทนั้นเป็นต้นไม้ที่อยู่ระหว่างความเป็นและความตาย ไม่ต่างกันนักจากชาวเคลต์ ซึ่งมองว่ามันเป็นพลังชีวิตที่ยังปรากฏในฤดูกาลแห่งความโรยรา ทั้งสองชาติมีตำนานซึ่งเชื่อมโยงมิสเซิลโทและดินแดนของผู้ล่วงลับ ในตำนานของอีเนียส (Aeneas) บรรพบุรุษของชาวโรมันนั้น อีเนียสต้องการพบแองไคซิส (Anchises) บิดาผู้ล่วงลับ นางเดย์โฟบี (Deiphobe) นางซิบิล (Sybil) หรือนักบวชหญิงของเทพอพอลโล (Apollo) เทพแห่งดวงอาทิตย์และความจริงนั้น ได้บอกว่า หากอีเนียสต้องการเดินทางสู่โลกของผู้ล่วงลับ ก็จงหากิ่งไม้ทองให้เจอ กิ่งไม้ทองนั้นหายาก แต่มารดาของอีเนียส ซึ่งคือเทพีวีนัส (Venus) ได้ส่งนกเขา บริวารของเธอ มานำทางให้อีเนียสหาจนพบ กิ่งไม้มองนั้นคือกิ่งมิสเซิลโทนั่นเอง เมื่ออีเนียสได้พบแองไคซิส แองไคซิสได้พยากรณ์อนาคตให้แก่ลูกและคำพยากรณ์นำไปสู่การเกิดของจักรวรรดิโรมัน คำว่ากิ่งไม้ทอง หรือ The Golden Bough กลายเป็นชื่อหนังสือเชิงมานุษยวิทยา ว่าด้วยตำนานและพิธีกรรมโบราณเล่มแรกๆ ในภาษาอังกฤษด้วย เขียนโดยเซอร์เจมส์ เฟรเซอร์ (Sir James Frazer)

ส่วนตำนานของนอร์สนั้นค่อนไปทางหดหู่ บอลเดอร์ (Balder) เทพหนุ่มผู้งดงามแห่งเทวนครแอสการ์ด (Asgard) ฝันเห็นเงาดำชั่วร้ายเป็นลางจากเฮล (Hel) เทพีผู้เฝ้านรก ทุกคนกลัวว่าบอลเดอร์จะตาย (เทพของนอร์สนั้นไม่เป็นอมตะ) เพราะโอดิน (Odin) เทพแห่งฟากฟ้า บิดาของบอลเดอร์ได้พบว่า ณ โลกแห่งความตาย เฮลได้เตรียมแหวนทองและของประดับมากมายเพื่อรับบอลเดอร์แล้ว ฟริกก์ (Frigg) เทพีแห่งความอุดมสมบูรณ์ผู้เป็นมารดาของบอลเดอร์ ก็ได้ออกไปวิงวอนขอร้องสรรพสิ่งไม่ให้ทำร้ายบอลเดอร์ สรรพสิ่งก็รับคำ

จากนั้น บรรดาเทพเจ้าก็รุมกันปาหิน โยนข้าวของใส่บอลเดอร์อย่างสนุกสนาน บอลเดอร์ก็สนุกเพราะรู้สึกว่าตัวเองไม่เป็นอะไรเลย ขณะนั้นเอง เทพแห่งหายนะและโกลาหลอย่างโลกิ (Loki) ก็แปลงร่างเป็นหญิงแก่ ไปแกล้งถามฟริกก์ว่าไม่มีอะไรที่จะฆ่าบอลเดอร์ได้เลยเชียวเหรอ ฟริกก์ตอบว่า เธอไปขอร้องทุกอย่างไม่ให้ฆ่าบอลเดอร์ ยกเว้นต้นมิสเซิลโท เพราะเห็นว่าเป็นไม้พุ่มเล็กๆ ไม่เป็นอันตราย โลกิได้ทีจึงนำมิสเซิลโทมาตัดก้านให้แหลม และหลอกให้ฮอด (Hod) เทพตาบอดพี่น้องกับบอลเดอร์ปามิสเซิลโทใส่บอลเดอร์ บอลเดอร์ก็ถึงแก่ความตาย  หลังจากนั้น ทวยเทพจึงลงทัณฑ์โลกิ ตามด้วยปัจฉิมบทแห่งโลก นั่นคือสงครามกัลปาวสาน ที่เรียกกันว่าแร็กนาร็อค (Ragnarok) บางฉบับกล่าวว่าทวยเทพชุบชีวิตบอลเดอร์ได้ บางฉบับกล่าวว่าชุบชีวิตไม่ได้ แต่น้ำตาของฟริกก์ได้กลายเป็นผลของมิสเซิลโท และฟริกก์ได้ขอให้มิสเซิลโทเป็นสัญลักษณ์เป็นสันติสุขและมิตรภาพ 

มิสเซิลโทจากสองตำนานหลังเป็นพืชที่ท้าทายความเข้าใจเกี่ยวกับธรรมชาติโดยทั่วไปของผู้คนยุคนั้น เพราะชีวิตของมิสเซิลโทไม่เป็นไปตามวัฏจักรของธรรมชาติ พืชที่ยังดำรงชีพได้ท่ามกลางความ ‘ตาย’ ของสรรพสิ่ง กลายเป็นไม้ศักดิ์สิทธิ์ที่จะพาให้คนเป็นเดินทางไปยังโลกหลังความตาย แต่ในกรณีของนอร์ส พลังชีวิตของมิสเซิลโทกลับกลายเป็นพลังพรากชีวิต เหมือนกับที่มิสเซิลโทเป็นกาฝาก ไม่ใช่เชื้อชีวิต หรือพลังของต้นไม้ใหญ่ที่ยังยืนหยัดสู้กับหน้าหนาวอันโหดร้าย นอกจากนี้มิสเซิลโทในตำนานนอร์สยังเป็นการย้ำเตือนขอบเขตของการฉลอง เน้นย้ำขีดจำกัดของชีวิต (ซึ่งทำให้ชีวิตมีค่า) ลักษณะการแกล้งทำร้ายบอลเดอร์ชวนให้นึกถึงความไร้ระเบียบที่มักเกิดในงานฉลองต่างๆ ตั้งแต่โบราณ (และอาจชวนให้นึกถึงการบูชายัญมนุษย์ด้วย) หน้าที่ของโลกิและมิสเซิลโทเป็นการย้ำเตือนจุดจบของงานฉลอง เน้นย้ำว่าหน้าหนาวยังคงอยู่ และยังกินเวลาอีกยาวนาน น้ำตาของฟริกก์ก็เป็นการย้ำเตือนความรักความอาลัย ซึ่งเป็นคุณค่าซึ่งควรธำรงไว้เมื่อเราเห็นคุณค่าของชีวิต

การแขวนต้นมิสเซิลโทในฤดูหนาวจึงเป็นธรรมเนียมแห่งพลังชีวิตซึ่งเชื่อมโยงกับเรื่องเพศ ผ่านการจูบ ซึ่งในยุคสมัยที่ประเพณีคริสต์มาสเปลี่ยนจากพิธีกรรมใหญ่ตามโบสถ์สู่พิธีกรรมตามบ้านของชนชั้นกลางนั้น การจูบกันของชายหญิงในที่สาธารณะกลับกลายเป็นเรื่องต้องห้ามและดูขัดเขิน 

ประเทศที่นำคริสต์มาสเข้าสู่ครอบครัวชนชั้นกลางแรกๆ คือประเทศอังกฤษ และยุคสมัยที่คริสต์มาสกลายเป็นเทศกาลแห่งการจับจ่ายซื้อของและสร้างความบันเทิงเริงรมย์ในที่พักอาศัยของตนนั้นคือยุควิกตอเรียน (ซึ่งกินระยะเวลาส่วนใหญ่ของคริสตศตวรรษที่สิบเก้าในอังกฤษ) หลายๆ คนอาจจะทราบกันว่า ชนชั้นกลางยุควิกตอเรียนหมกมุ่นเรื่องศีลธรรมทางเพศและพยายามไม่ให้เรื่องเพศปรากฏในที่สาธารณะอย่างสุดโต่ง ความกดดันนี้เองที่มิสเซิลโทเข้ามาช่วยคลาย การจูบกันใต้ต้นมิสเซิลโทซึ่งชนชั้นกลางรับไปจากชนชั้นแรงงาน (การแขวนมิสเซิลโทเริ่มจากคนงานในบ้านก่อนที่เหล่าคุณหญิงคุณชายจะยึดไปเป็นธรรมเนียมปฏิบัติด้วย) ก็เป็นไปเพื่อบรรเทาความเก็บกดทางเพศที่เกิดขึ้นจากระเบียบข้อห้ามทางสังคม และทำให้หนุ่มสาวได้พบเจอกัน 

แต่กระนั้นการลดแรงกดดันทางเพศก็ใช่ว่าจะเป็นการสร้างความเท่าเทียมระหว่างเพศ สังคมวิกตอเรียนนั้น ถึงแม้จะหน้าบางและหวาดกลัวว่าสิ่งใดๆ จะชวนให้นึกถึงเรื่องเพศไปเสียหมด แต่สังคมวิกตอเรียนก็ยอมรับว่าเพศชายเป็นเพศที่มีพลังทางเพศ นั่นหมายความเพศหญิงนั้น ถึงจะเป็นที่ยอมรับว่ามีอารมณ์ทางเพศ ก็ต้องเป็นฝ่าย ‘รับ’ หรือ passive จะเป็นคนเริ่มก่อนไม่ได้ เพราะฉะนั้น เราจึงปฏิเสธไม่ได้ว่าต้นมิสเซิลโทในยุคที่คริสต์มาสเริ่มเป็นงานรื่นเริงของชนชั้นกลางตามแบบที่เรารู้จักก็เป็นตัวแทนของพลังทางเพศแบบผู้ชาย (และเรามักพบภาพผู้ชายถือช่อมิสเซิลโทไว้เหนือหัวผู้หญิงเพื่อจะได้จูบผู้หญิงด้วย) แม้กระทั่งตอนนี้ก็อาจจะยังเป็น ทั้งๆ ที่ชาวเคลต์เดิมอาจจะไม่ได้สนใจเรื่องเพศของคนจูบหรือคนถูกจูบด้วยซ้ำ 

ถึงแม้เราจะกล่าวว่าเทศกาลคริสต์มาสเริ่มขึ้นในยุคที่หมกมุ่นเรื่องศีลธรรมทางเพศและสร้างความชอบธรรมให้แก่ความปรารถนาทางเพศของผู้ชายอย่างมากนั้น เราก็ต้องยอมรับว่ายุควิกตอเรียนนี้เองคือยุคที่ขบวนการสตรีนิยมได้ก่อตัวขึ้นอย่างเป็นรูปเป็นร่างในอังกฤษ เหตุการณ์สำคัญอย่างแผ่นพับเรียกร้องสิทธิเลือกตั้งแก่สตรีของแอนน์ ไนท์ (Anne Knight) ตีพิมพ์ใน ค.ศ. 1847 สืบเนื่องจากการเข้าร่วมการสัมมนาต่อต้านการค้าทาสโลก เธอรู้สึกคับข้องใจเมื่อผู้หญิงไม่ได้รับสิทธิ์ให้ลงคะแนนเสียงเมื่อต้องการมติที่ประชุม แผ่นพับนี้ถูกส่งไปยังรัฐสภาแต่กว่าประเด็นสิทธิของผู้หญิง ซึ่งจริงๆเสนอ (และโดนดูถูก) มาตั้งแต่ศตวรรษที่สิบแปดแล้วนั้น กว่าจะเป็นที่สนใจของสังคม ก็ใช้เวลาอีกยาวนาน 

  • ทำไม “คริสต์มาส” ต้องสีแดงกับสีเขียว และความเชื่อเรื่องจูบใต้ต้นมิสเซิลโท
  • คริสต์มาส คือวันที่ 24 หรือ 25 ธันวาคม พระเยซูเกิดวันไหนกันแน่?

แท็กที่เกี่ยวข้อง

เรื่องอื่นที่น่าสนใจ