เปิดชีวิต! เด็กช่างไร้ฝัน "บุ๊ค ปริญญา" สู่ผู้จัดภาพยนตร์ไสยศาสตร์

Home » เปิดชีวิต! เด็กช่างไร้ฝัน "บุ๊ค ปริญญา" สู่ผู้จัดภาพยนตร์ไสยศาสตร์
เปิดชีวิต! เด็กช่างไร้ฝัน "บุ๊ค ปริญญา" สู่ผู้จัดภาพยนตร์ไสยศาสตร์

คร่ำหวอดในวงการบันเทิงทั้งเบื้องหน้าและเบื้องหลังมากว่า 25 ปี สำหรับ บุ๊ค-ปริญญา จันทร อดีตนักแสดงและผู้จัดการดารา ที่ปัจจุบันก้าวมาเป็นผู้บริหาร บริษัท จันธารา 168 จำกัด และเตรียมปลุกตำนานที่ไม่เคยถูกจารึกสร้างภาพยนตร์ มูลู (หน้าครู) หวังให้คนไทยและชาวต่างชาติได้รู้จัก

แต่กว่าชีวิตของ บุ๊ค ปริญญา จะเติบโตมาถึงวันนี้ มีเบื้องหลังชีวิตที่น่าสนใจจากเด็กช่างที่ไร้ความฝันสู่ผู้จัดภาพยนตร์ เขาทำได้อย่างไรและผ่านอะไรมาบ้างต้องติดตาม…

บุ๊ค ปริญญา เด็กช่างผู้ไร้ความฝัน

คิดไม่ออกว่าอยากเรียนอะไร ไม่รู้ว่าเราชอบอะไรก็เลยเรียนช่างตามเพื่อน บุ๊ค ปริญญา จันทร อดีตนักแสดงและผู้จัดการดาราและผู้บริหาร บริษัท จันธารา 168 จำกัด เล่าถึงชีวิตสมัยที่เป็นเด็กนักเรียนช่างที่ไร้ความฝันหลังเรียนจบมัธยมและไปสอบเข้าโรงเรียนก็คือเทคนิคสัตหีบ เมื่อเรียนจบระดับ ปวช. ก็ศึกษาต่อระดับ ปวส. ที่โรงเรียนกรุงเทพช่าง หลังเรียนได้ประมาณ 1 เดือน ระหว่างที่ไปเรียนหน้าโรงเรียนมีเหตุการณ์ยิงกัน จึงทำให้รู้สึกว่าตัวเองไม่ปลอดภัยและตั้งคำถามว่าถ้าวันนึงเป็นเราโดนยิงจะทำยังไง บุ๊ค ปริญญา ได้ตัดสินใจลาออกกลางคัน และรู้สึกเคว้งคว้างจึงคิดหางานทำ โดยเพื่อนของคุณแม่แนะนำให้ไปสมัครงานที่บริษัทอัมรินทร์บุ๊คเซ็นเตอร์

ความอยากได้งานไม่อยากว่างงานเลยไปสมัครจำได้เขาสัมภาษณ์เราคิดว่าเราไม่ได้หรอก เขาถามว่าคุณคิดยังไงถึงมาสมัครทั้งๆ ที่คุณไม่ได้เรียนด้านนี้มาคุณจบช่างมาคุณทำได้เหรอ เราก็เลยพูดไปว่าถ้าไม่ลองให้ทำดูจะรู้ได้ไงว่าทำได้ไหม คำนี้เหมือนไปท้าทายเขาหรือยังไงไม่รู้ หรือเขาจะให้โอกาสเราก็เลยได้ทำงาน ได้เป็นเซลล์และก็ขยับมาเป็นการตลาดทำอยู่ 2 ปี ความรู้สึกเราเริ่มตันกับงาน ด้วยความบังเอิญวันหนึ่งเราได้ไปเห็นเบอร์โทรศัพท์ของ พี่เปิ้ล (จารุณี สุขสวัสดิ์) ที่แปะไว้บนโต๊ะ บก. เราเลยแอบจดเบอร์และโทรหาพี่เปิ้ล แนะนำตัวว่าเป็นรุ่นน้องที่โรงเรียนที่สัตหีบ พี่เปิ้ลใจดีมากนัดเจอและถามเราอยากเรียนอะไร อยากเรียนนิเทศหรือเปล่า ตอนนั้นไม่ได้รู้จักคณะนิเทศฯ พี่เปิ้ลแนะนำให้ไปสมัครที่สวนดุสิต ทำให้เราได้เรียนนิเทศศาสตร์ในโควต้าของพี่เปิ้ลที่ตอนแรกพี่เปิ้ลจะเรียนเอง เราก็เลยรู้ตัวว่าเราชอบเรียนอะไรถ้าไม่ได้พี่เปิ้ลก็ยังงงสับสนว่าตัวเองชอบอะไร

จากอาชีพเซลล์สู่ ดาราอ้วน

ระหว่างที่เรียนและทำงานเป็นเซลล์ไปด้วย บุ๊ค ปริญญา เล่าว่า บังเอิญได้เห็นหนังสือพิมพ์ไทยรัฐหน้าบันเทิงประกาศรับสมัคร ดาราอ้วนถ้าไม่อ้วนไม่ต้องมา ของบริษัทบรอดคาซท์ ซึ่งกำลังรับสมัครนักแสดงเรื่อง ม.6/16 ร้ายบริสุทธิ์ รุ่นแรก และก็แคสผ่าน แต่ในจังหวะเดียวกันตนเองเคยได้ไปแคสเรื่องบุญชูที่จะนำมาทำเป็นละครโดย “คุณอาบัณฑิต ฤทธิ์ถกล” วางตัวให้เล่นแล้ว เราคุยกับเรื่องบุญชูไว้ก่อนจึงตัดสินใจเล่นบุญชู พอเล่นบุญชูไม่ทันได้เปิดกล้องก็มีปัญหาต้องพับโครงการ รู้สึกว่าตัวเองตัดสินใจผิดมาก แต่ตอนนั้นรู้ตัวแล้วว่าชอบการแสดง อยากอยู่ในวงการ ตอนเด็ก ๆ เราเล่นละครเวทีทำกิจกรรมกับโรงเรียนรู้สึกสนุกชอบแสดงออก

จากนั้นไปถ่ายรูปร้อยใบและส่งไปที่บริษัททีวีธันเดอร์ ที่ประกาศรับสมัครนักแสดง ส่งไปอาทิตย์ละ 5 ใบ และก็โทรไปเช็กว่าเขาได้รับไหม จนเขาบอกไม่ต้องส่งมาแล้วมันเยอะมาก ส่งจนครบร้อยใบก็ไม่มีอะไรเกิดขึ้น ผ่านไป 4 เดือน วันหนึ่งระหว่างที่ไปเรียน มีข้อความมาให้ติดต่อกลับด่วน ด้วยความดีใจจึงรีบลงจากรถเมล์หาตู้โทรศัพท์สาธารณะเพื่อโทรกลับ และทางบริษัทแจ้งว่าจะให้มาเล่นละครทางช่อง 3 เรื่องอีแตนโดยรับบทเป็นเพื่อนนางเอก จอย ศิริลักษณ์ อดีตนางเอกที่โด่งดังในยุค 90

ตอนนั้นตื่นเต้นรีบตอบกลับเขาว่าเล่นครับ แล้วก็เขานัดวันเวลาให้ไปเจอแต่เราไม่รู้ว่าเป็นงานบวงสรวงละคร จำได้ว่าเจอดาราตื่นเต้นไปหมด แล้วก็มีพี่ผู้หญิงชื่อ พี่ตุ๊ก ปิยพร ไล้ทอง เขาเป็นผู้บริหารตอนนั้นที่เป็นคนตัดสินใจเลือกเราเล่น เขาเอาบทละครมาให้ปึกใหญ่มากได้เล่นทั้งเรื่องเล่นเป็นเพื่อนนางเอก เราก็คิดเราจะเล่นยังไงเล่นไม่เป็น คนที่มาสอนเราคือ เป้า ปรปักษ์ มาช่วยสอนบทเป็นอย่างนี้เล่นอย่างนี้ แล้ววันที่ไปเล่นจริง ๆ เล่นไม่ได้เพราะตื่นเต้น ไปจับแขนจอยก็ขนลุกด้วยความตื่นเต้นรู้สึกเขาเป็นดาราดัง จอยเขาก็มาทำความสนิทสนมช่วงนั้นสนิทกันมากผ่านไปได้ด้วยดี และปรากฏว่าละครดังมาก จากนั้นทางช่อง 7 ติดต่อมาก็เลยได้มาเล่นสวัสดีคุณครู ก็ได้เล่นเป็นสิบเรื่องกลายเป็นดาราที่มีคาแร็กเตอร์อ้วน เล่นเรื่อย ๆ มันก็กลายเป็นอาชีพ และก็เรื่องหลงเงาจันทร์เป็นเรื่องสุดท้ายที่ปิดจ๊อบกับอาชีพนักแสดงและก็ดังเป็นที่จดจำจากเรื่องนี้เพราะว่าละครมันน้ำเน่าที่ดังมาก และจำได้จนถึงทุกวันนี้

“ความกล้าบ้าบิ่น” จากดาราตัวอ้วนสู่อาชีพพีอาร์

ในช่วงที่เป็นนักแสดง บุ๊ค ปริญญา เล่าว่า ตนเองเริ่มมีความคิดว่าเราไม่ได้เป็นตัวหลักเราเป็นแค่ตัวประกอบไม่รู้ว่าเราจะแสดงละครได้อีกนานแค่ไหน จึงได้มองหาโอกาสใหม่ ๆ ให้ตัวเองจากการสังเกต การทำงานในกองถ่าย และได้เห็นคนเดินถ่ายรูปชื่อว่าพี่ต้น จึงไปนั่งคุยและรู้ว่าพี่เขาทำพีอาร์เขียนข่าวโปรโมต จึงเกิดไอเดียเขียนข่าวตัวเองด้วยการเปิดหนังสือพิมพ์แล้วลอกข่าว บุ๊คเข้าแก๊งจอยโดดเด่นในอีแตน และนั่งแท็กซี่ไปที่สำนักข่าวหนังสือพิมพ์ ข่าวสด ไทยรัฐ เดลินิวส์ ไปขอเจอนักข่าวบันเทิงเพื่อฝากข่าว จากนั้นก็เฝ้ารอดูหนังสือพิมพ์ทุกวันจะมีข่าวเราลงไหม ผ่านไป 2-3 วัน แม่ทำงานอยู่โรงพยาบาล โรงพยาบาลเขาจะมีรับหนังสือพิมพ์ แม่โทรมาบอกมีข่าวบุ๊คลงในข่าวสด ตนจึงรีบขึ้นรถเมล์ไปหาซื้อหนังสือพิมพ์ และภูมิใจที่เห็นตัวเองอยู่ในหนังสือพิมพ์เป็นข่าวแรกที่เขียนเองแล้วแบบได้ลง

นี่เป็นจุดเริ่มต้นของการทำอาชีพพีอาร์ของเรา เป็นความฮึกเหิมในใจว่าเราทำได้ จนเราเริ่มครีเอทตัวเองว่าเวลาเราทำพีอาร์เราจะทำยังไงข่าวถึงจะได้ลง แล้วก็มีครูพักลักจำ มีเขียนสกู๊ปต่าง ๆ มันก็เลยกลายเป็นอาชีพพีอาร์มาจนทุกวันนี้ก็รวม ๆ 25 ปีก็ไม่น้อย เราเป็นนักแสดงอยู่แค่ 2-3 ปี และก็มาเป็นพีอาร์เพราะเรารู้สึกว่าเราต้องรู้ตัวให้เร็ว ตอนเด็กเราพลาดไม่รู้ว่าตัวเองอยากเป็นอะไร ถ้าเราไม่หาอะไรสำรองการเป็นนักแสดงถ้าไม่มีใครจ้างเราจะไปทำอะไร ก็รู้สึกอยากขอบคุณความบ้าบิ่นความกล้าของตัวเอง กล้าที่จะลองทำก่อน ทำโดยไม่รู้ว่าถูกหรือผิด กล้าที่จะเปิดโลกให้ตัวเองว่าตัวเองควรจะไปในทิศทางไหน ลองถูกลองผิดด้วยตัวเอง

“นุ่น วรนุช” คือความภูมิใจเล็กๆ แต่ยิ่งใหญ่

ช่วงที่แสดงละครเรื่องอีแตน บุ๊ค ปริญญา เผยเรื่องราวความภูมิใจที่กลายเป็นความทรงจำและไม่เคยเลือนราง ในตอนที่ตนเองมีโอกาสได้รู้จักและร่วมงานกับพี่ ๆ โมเดลลิ่ง และคอยหาเด็กไปแคสงาน จนกระทั่งวันหนึ่งไปเดินมาบุญครองมีเด็กผู้หญิงอยู่ 6 คน มาเดินเล่น ทำให้ตนเจอเด็กผู้หญิงคนนึงที่มีออร่าสวยสดใ ซึ่งก็คือ “นุ่น วรนุช” นางเอกสาวชื่อดัง ในปัจจุบัน เราเดินตามน้องเป็นชั่วโมงจนเขาเหลืออยู่ 3 คน จึงเข้าไปทักพร้อมกับแนะนำตัวอยากชวนไปประกวดหนุ่มสาวเดอะบอย นุ่นเขาก็นึกสนุกลองไปประกวดน้องได้รางวัลสาวหน้าใส และต่อมา “พี่แก้ว พีเมียร์” ก็มาขอตัวน้องไปแคสงานกับช่อง 7 เรารู้สึกว่าเรายังเด็กไม่ได้มีพาวเวอร์อะไรก็บอกนุ่นให้ไปเพราะโอกาสมาแล้ว นุ่นก็ได้ไปแคสกับทางช่อง 7 จนเป็นนุ่นในทุกวันนี้

นุ่นเป็นความภูมิใจเพราะว่านุ่นพูดถึงเราตลอด ไม่ได้ว่าเราดีใจที่เขาพูดถึงเรานะ เรารู้สึกว่าเด็กคนนี้น่ารักจริง ๆ แม้เราจะไม่ได้สร้างเขาได้เป็น นุ่น วรนุช ร้อยเปอร์เซ็นต์แค่เราเป็นส่วนแรก ๆ เขาก็เคยเอาชื่อเราไปพูดในรายการวันวานยังหวานอยู่ เราดูทีวีอยู่เราก็รู้สึกเขิน เราก็โทรหานุ่นบอกนุ่นวันหลังไม่ต้องพูดถึงพี่ก็ได้ เขาบอกว่าพี่บุ๊คชอบแอ๊บ นุ่นตรงๆ ไม่มีพี่บุ๊คก็ไม่มีนุ่นจริงๆ จนนุ่นมาเล่นกับทางช่อง 3 เรื่องทองเนื้อเก้าเขามีการสัมภาษณ์นุ่นย้อนอดีตกับไปว่าเข้าวงการได้อย่างไง ในนิตยสารนุ่นเขาก็พูดถึงชื่อเรา เข้าวงการได้เพราะ พี่บุ๊ค ปริญญา มันเป็นความภูมิใจเล็ก ๆ แต่ดูยิ่งใหญ่ และเวลาเจอน้อง นุ่นเขาก็น่ารักกับเราตลอด

พีอาร์ไร้ทุนสู่ผู้จัดฯ หนังไสยศาสตร์ “มูลู” (หน้าครู)

หลังทำอาชีพพีอาร์มากว่า 25 ปี บุ๊ค ปริญญา รู้สึกว่าตนเองควรยกระดับในการทำงานจึงอยากพัฒนาตัวเองเป็นผู้จัดภาพยนตร์ด้วยการนำประสบการณ์จากการทำงานวงการบันเทิงมาต่อยอด เพียงแต่ไม่มีเงินทุน จึงเริ่มหานายทุนโดยใช้เวลาเกือบ 2 ปี กว่าทุกอย่างจะลงตัวตนเองต้องเจออุปสรรคต่างๆ เข้ามาทดสอบมากจนยอมรับว่าเคยถอดใจและยอมที่จะทิ้งความตั้งใจในการสร้างภาพยนตร์ไสยศาสตร์ มูลู (หน้าครู) ให้เป็นที่รู้จักในวงกว้างโดยได้แรงบันดาลใจจากเรื่องราวของ หนังหน้าครู

กว่าจะได้เป็นผู้จัดภาพยนตร์เจออุปสรรคมาเยอะมาก หานายทุนไม่ได้ คุยไม่ลงตัว เนื้อเรื่องเปลี่ยนไปเปลี่ยนมา เหมือนโดนแบบทดสอบเยอะกับชีวิตว่าจะได้เป็นผู้จัดไหม เราลงทุนครั้งแรกประมาณสองแสนในการฟิตติ้ง เพื่อที่จะทำให้เกิดภาพและไปหานายทุน แต่ก็ไม่สำเร็จ ทำทุกอย่างมูก็แล้ว อะไรก็แล้วไปทุกวัด ทุกสำนัก ไปมาหมด แต่สุดท้ายพอถึงจังหวะมันจะได้นายทุนมาก็ได้ ได้มาแบบงงๆ ก็เลยมีความรู้สึกว่าสิ่งที่เราไปวิ่งหาไม่ได้ อยู่เฉยๆ ได้ ซึ่งตอนแรกเราปล่อยแล้วทิ้งแล้วไม่เอาแล้วไม่ทำแล้ว พอแล้วรู้สึกเหนื่อย ดิ้นรนมาก หมดเงินไปกับการมูเยอะมากเพื่อจะได้สิ่งนี้สิ่งที่อยากทำ แต่พอวางทุกอย่างปล่อยทุกอย่างมันมาเอง สำหรับเราในใจเราคิดว่าสำเร็จแล้วเพราะเราได้ทำแล้ว แต่ว่ามันจะดีไปกว่านี้ถ้ามันสามารถทำรายได้สร้างชื่อเสียงโด่งดังอันนั้นเป็นกำไร เราไม่ได้มองว่าเราต้องได้รายได้เป็นร้อยๆ ล้าน แต่ถ้ามันได้ขึ้นมาก็ถือว่าเป็นเรื่องโชคดีไป จริงๆ เราก็เริ่มจากศูนย์

ส่วนคนดูจะได้แง่คิดอะไรเกี่ยวกับหนัง มูลู (หน้าครู) เป็นเรื่องของความเชื่อแต่สิ่งที่คนดูจะได้จากหนังเรื่องนี้เขาจะรู้จักบาปบุญคุณโทษว่าการที่เรามีของดีอยู่ในมือแล้วเราไม่รักษาไว้ให้ดีจะเกิดอะไรขึ้น เช่น ถ้าเกิดเราบูชาหน้าครูดี ๆ มันก็เหมือนกับเป็นพุทธคุณ แต่ถ้าเราบูชาไม่ดีมันก็จะมีผลต่อชีวิตทันทีมันจะมีให้เห็นในหนังเรื่องนี้ ให้แง่คิดให้สติคนไทย คนไทยอยู่กับความงมงาย อยู่กับความเชื่อ แต่ถ้าเชื่อแล้วมีสติมันก็จะรอด แต่ถ้าเราเชื่อแล้วไร้สติมันก็อาจจะสูญเสียทั้งเงินทอง ซึ่งเราก็เคยผ่านมาเราก็เคยเสียสติในการมู

แท็กที่เกี่ยวข้อง

เรื่องอื่นที่น่าสนใจ