ภาพผู้ปกครองวิ่งวุ่นซื้อข้าวของอุปกรณ์การเรียนให้กับลูกหลาน รวมถึงการรายงานข่าวโรงรับจำนำที่หนาแน่นในช่วงก่อนเปิดเทอม เนื่องจากหลายครอบครัวนำของมีค่าไปจำนำเพื่อแลกเงินมาจ่ายค่าเทอม หรือภาพของเด็กนักเรียนที่มีกระดาษติดอยู่บนเสื้อ ระบุว่า “ยังไม่ได้จ่ายค่าเทอม” สร้างความอับอายให้เด็กคนนั้น คือภาพอันคุ้นตาเมื่อโรงเรียนเปิดภาคเรียนปีการศึกษาใหม่ ขณะเดียวกัน นโยบาย “เรียนฟรี” กลับไม่เกิดขึ้นจริงในทางปฏิบัติในประเทศไทย ด้วยค่าใช้จ่าย “เพิ่มเติม” ที่แยกย่อยออกมา ในขณะที่ประเทศอื่น ๆ สามารถจัดการศึกษาฟรีได้ทั้งระบบตั้งแต่อนุบาลจนถึงมหาวิทยาลัย เกิดอะไรขึ้นกับประเทศไทย เหตุใดการศึกษาที่ควรจะเป็นสิทธิของทุกคนจึงไม่อาจ “ฟรี” ได้จริง Sanook พูดคุยกับเหล่านักการศึกษาอีกครั้ง เพื่อหาคำตอบในเรื่องนี้ พร้อมวิธีที่จะทำให้เด็กทุกคนสามารถเข้าถึงการศึกษาอย่างเท่าเทียมและมีประสิทธิภาพ
เรียนฟรีมีจริงไหม
นโยบาย “เรียนฟรี” ปรากฏอยู่ในรัฐธรรมนูญไทยมาตั้งแต่ฉบับปี พ.ศ. 2540 ในมาตรา 43 ซึ่งระบุว่า “บุคคลมีสิทธิ์เสมอกันในการรับการศึกษาขั้นพื้นฐานไม่น้อยกว่า 12 ปีที่รัฐจะต้องจัดให้โดยไม่เก็บค่าใช้จ่าย” มาจนถึงรัฐธรรมนูญฉบับปี พ.ศ. 2550 มาตรา 49 และรัฐธรรมนูญฉบับปี พ.ศ. 2560 ในยุคของรัฐบาล คสช. มาตรา 54 ซึ่งกล่าวไว้ว่า
“รัฐต้องดำเนินการให้เด็กทุกคนได้รับการศึกษาเป็นเวลา 12 ปี ตั้งแต่ก่อนวัยเรียนจนจบการศึกษาภาคบังคับ (ม.3) อย่างมีคุณภาพโดยไม่เก็บค่าใช้จ่าย”
AFP
แม้นโยบายของรัฐบาลทุกสมัยพยายามทำให้คุณภาพการศึกษาของคนไทยดีขึ้น และได้รับโอกาสเข้าถึงการศึกษาที่มีคุณภาพ แต่ปัญหาสำคัญที่ถูกหยิบยกมาวิพากษ์วิจารณ์กันอยู่ตลอดเวลา คือคำว่า “เรียนฟรี” ที่ไม่สามารถฟรีได้จริง เพราะพ่อแม่ผู้ปกครองยังต้องแบกรับภาระค่าใช้จ่ายเพิ่มเติมที่เกี่ยวข้องกับการศึกษาอีกมากทีเดียว
“วิธีการจัดสรรงบประมาณไม่สอดคล้องกับบริบทความเป็นจริง และการจัดสรรบุคลากรของเราก็ยังไม่สอดคล้องกับบริบทของโรงเรียน” ครูจุ๊ย – กุลธิดา รุ่งเรืองเกียรติ ประธานกรรมการบริหารโรงเรียนต้นกล้า จังหวัดเชียงใหม่ ตอบคำถามว่าทำไมการศึกษาไทยจึงฟรีไม่ได้ “เรามีครูอยู่เยอะจริง แต่การกระจายครูของเราไม่มีคุณภาพ ครูไปกระจุกอยู่ตามโรงเรียนขนาดใหญ่ โรงเรียนขนาดเล็กก็ขาดแคลนครู แล้วทำไมเกิดการกระจุกตัว ก็เพราะรัฐคิดตามหัวนักเรียน เช่น มีนักเรียน 20 คนต่อครู 1 คน พอเป็นแบบนี้โรงเรียนขนาดใหญ่ก็ได้ครูเยอะ แล้วก็มีปัญหาเรื่องงบประมาณแบบเดียวกัน คือในขณะที่โรงเรียนเล็กมาก ๆ มีนักเรียน 50 คน รัฐก็เอางบต่อหัวคูณ 50 คน เงินจำนวนเท่ากันแต่ปริมาณ (ครู) ไม่เท่ากัน เมื่อเป็นแบบนี้ เราจึงเห็นปรากฏการณ์ในสังคมว่าผู้ปกครองยังต้องจ่ายค่าอุดหนุนบำรุงการศึกษาต่าง ๆ มีการทอดผ้าป่าอยู่ตลอดเวลา หรือมีการจ้างครูอัตราจ้างในเงินเดือน 4,000 – 5,000 บาท มันสะท้อนว่าทำไมฟรีไม่ได้ ก็เพราะงบประมาณไม่พอตั้งแต่แรก แล้วโดนกระหน่ำด้วยการกระจายงบที่ไม่มีคุณภาพ”
การบริหารจัดการเงินที่ไร้ประสิทธิภาพและไร้ทิศทางของระบบการศึกษาไทย ผนวกกับปัญหาเรื่องคน กลายเป็นปัญหาและภาระมากกว่าจะก่อให้เกิดประโยชน์ ส่งผลให้ภาระเรื่องค่าใช้จ่ายตกไปอยู่ที่ผู้ปกครองที่จะต้องหาเงินมาให้ลูกเรียน ซึ่งเป็นปรากฏการณ์ “วนลูป” ที่เห็นทุกครั้งในช่วงเปิดเทอมปีการศึกษาใหม่ นอกจากนี้ ครูพล – อรรถพล ประภาสโนบล ผู้ก่อตั้งกลุ่มการเรียนรู้ “พลเรียน” ก็แสดงความคิดเห็นว่าชุดความเชื่อ “คนไม่เท่ากัน” ที่หยั่งรากลึกอยู่ในสังคมไทย เป็นปัจจัยหนึ่งที่กีดกันให้การศึกษาไทยไม่สามารถฟรีได้อย่างแท้จริง
“ทำไมฟรีไม่ได้ ก็เพราะสังคมของเรามองว่า สิทธิขั้นพื้นฐานในคุณภาพชีวิตไม่ได้ถูกมองว่าทุกคนควรได้รับ แต่มองว่ามีคนบางกลุ่มที่ควรจะได้ แล้วก็มีคนบางกลุ่มที่ไม่ควรจะได้ มันก็เหมือนการเล่นเก้าอี้ดนตรี ว่าคนที่จะได้สิทธินี้ไปคือคนที่เหลือรอดเป็นคนสุดท้าย แต่ถ้าคุณเล่นแล้วแพ้ คุณก็จะถูกกันออกไปจากสังคม กล่าวคือมันไม่ได้ถูกมองว่าสังคมนี้เป็นเจ้าของร่วมกันทุกคน หรือทุกคนควรมีคุณภาพชีวิตที่ดี” ครูพลกล่าว
AFP
ค่านิยมในระบบการศึกษาไทย
ระบบการศึกษาของไทยอยู่ภายใต้แนวคิดแบบ “ทุนนิยมแบบเสรีนิยมใหม่” ซึ่งพยายามจัดให้โรงเรียนเป็นเสมือน “สินค้า” โดยมีความเชื่อว่าหากโรงเรียนตั้งอยู่บนกลไกตลาดที่มีการแข่งขันสูง ก็จะทำให้โรงเรียนและครูเกิดการพัฒนาและส่งผลให้การศึกษามีคุณภาพมากขึ้น เมื่อโรงเรียนอยู่ในสถานะสินค้า พ่อแม่ผู้ปกครองจึงมีเสรีภาพในการเลือกโรงเรียนที่ดีที่สุดให้กับลูก แต่ปัญหาก็คือ ไม่ใช่ทุกคนจะมีทรัพยากรเพียงพอที่จะเลือกการศึกษาที่ดีที่สุดให้กับตัวเอง นั่นจึงส่งผลให้เด็กมากมายถูกทิ้งไว้ข้างหลัง
“การศึกษาของเรากลายเป็นการศึกษาที่มีเงื่อนไข มีอะไรบางอย่างที่กลายมาเป็นกำแพงทางเศรษฐกิจ ปัจจัยที่จะทำให้เรียนจบหรือได้เรียนต่อกลายเป็นเรื่องเงิน ผมจึงมองว่าการศึกษาถูกทำให้เป็นสินค้า ถ้าเรามีเงิน เราก็ซื้อสินค้าที่มีคุณภาพสูงได้ แต่ในขณะเดียวกัน ถ้าเราไม่มีเงิน ก็อาจจะไม่ได้เลยหรืออาจได้สินค้าที่มีคุณภาพแย่” ครูพลอธิบาย
เมื่อการศึกษากลายเป็นสินค้าและเด็กที่มีความพร้อมทางการเงินเท่านั้นจะสามารถเข้าถึงสินค้าที่ดีได้ จึงส่งผลให้เด็กมากมายที่อาจไม่มีโอกาสหรือไม่ได้มีคุณภาพชีวิตที่ดี ต้องพลาดโอกาสในการเข้าถึงการศึกษาที่พวกเขาต้องการ ยิ่งไปกว่านั้น ในสังคมที่ขาดไร้สวัสดิการที่จะดูแลประชาชน และมีปัญหาเรื่องความเหลื่อมล้ำที่ชัดเจนดังเช่นในสังคมไทย ค่านิยมเรื่องการศึกษาจึงถูกเน้นย้ำอย่างเข้มข้น เนื่องจากคนถือความเชื่อว่า “การศึกษาคือใบเบิกทางที่คนจะสามารถไต่เต้าทางสังคมและเศรษฐกิจ” ส่งผลให้ความฝันของเด็ก “ถูกดัดแปลง” ด้วยเงื่อนไขชีวิตต่าง ๆ เช่น เด็กที่พ่อแม่บอกว่าจบไปต้องเป็นข้าราชการ หรือทำงานระดับสูง โดยที่เด็กไม่ได้อยากเป็น แต่ด้านหนึ่งมันก็สะท้อนว่าเด็กมากมายกำลังเรียนบนความฝันของพ่อแม่ เพื่อจะได้สวัสดิการและเอามาเลี้ยงดูพ่อแม่กับครอบครัว ซึ่งไม่ใช่การเรียนเพราะเด็กสนใจหรือใฝ่ฝัน แต่เพื่อจะได้รับเงื่อนไขหรือสิทธิบางอย่าง
ดังนั้น เมื่อโรงเรียนมีสถานะเป็นสินค้า และชุดความเชื่อว่าการศึกษาคือใบเบิกทางสู่ชีวิตที่ดีขึ้น ทำให้พ่อแม่ผู้ปกครองต้องกัดฟันยอมจ่ายเงินที่เกี่ยวข้องกับการศึกษาให้ลูกได้เรียนในโรงเรียนที่ถูก “จัดอันดับ” ว่าเป็นโรงเรียนชั้นนำ เพื่อแลกมาด้วยโอกาสในสังคม นโยบายเรียนฟรีจึงไม่ถูกให้ความสำคัญเท่ากับผลลัพธ์ของการศึกษาที่จะทำให้เด็กสามารถสอบแข่งขันเพื่อเข้าเรียนในโรงเรียนหรือมหาวิทยาลัยที่มีชื่อเสียงได้
AFP
“อีกปัญหาคือเราต้องถามตัวเองว่า ถ้าวันหนึ่งโรงเรียนฟรี แล้วเราไปเรียนข้างบ้านได้จริง ๆ นั่นหมายความว่าประเทศไทยจะไม่มีโรงเรียนเตรียมอุดม ไม่มีโรงเรียนสาธิต โรงเรียนไหน ๆ ก็เหมือนกันหมด เรายอมรับข้อเท็จจริงนี้ได้จริงหรือเปล่า เราต้องถามตัวเองว่าการศึกษาของเราอยากให้เด็กคนหนึ่งได้รับการศึกษาเพื่อพัฒนาศักยภาพของเขา หรือมันเป็นใบเบิกทางสำหรับการไต่เต้าทางสังคม เพราะถ้ามันเป็นใบเบิกทางเมื่อไรเเล้ว เราก็จำเป็นต้องแปะป้ายให้ชัดเจนว่ามาจากโรงเรียนไหน สถาบันไหน ถ้าสังคมยังเชื่อมั่นในระบบแบบนี้ ว่าเราต้องจบโรงเรียนดัง ๆ มาเท่านั้น ถึงแม้คุณจะมีเรียนฟรีทุกโรงเรียน มันก็อาจไม่ได้ก่อให้เกิดความเปลี่ยนแปลงขนาดนั้น เพราะคุณก็ยังดิ้นรนที่จะเข้าโรงเรียนที่รู้สึกว่าดังอยู่ดี” ครูจุ๊ยชี้
การศึกษาที่เท่าเทียมอย่างแท้จริง
ปัญหาค่านิยมที่ว่าด้วยการศึกษาจะเป็นประตูไปสู่สิทธิพิเศษฝังรากลึกอยู่ในสังคมไทยอย่างยาวนาน คู่ขนานไปกับปัญหาเรื่อง “รัฐสวัสดิการถ้วนหน้า” ที่ไม่มีอยู่ในนโยบายของภาครัฐ ซึ่งครูพลได้ตั้งคำถามว่า จะดีกว่าไหม หากภาครัฐทำให้มีสวัสดิการถ้วนหน้าสำหรับทุกคนได้อย่างแท้จริง เมื่อถึงตอนนั้น พ่อแม่ก็อาจจะไม่ต้องคาดหวังกับลูกมากจนเกินไป ขณะที่ลูกก็จะมีหนทางที่จะได้ทำตามความฝันของตัวเองโดยไม่ถูกจำกัดด้วยจำนวนเงินในกระเป๋าและความฝันของพ่อแม่ผู้ปกครอง
“มันอาจไม่ได้ตอบโจทย์ทั้งหมดหรือเป็นยาที่จะเยียวยาได้ทุกอย่าง แต่อย่างน้อยมันเป็นหลักประกันให้ชีวิตของทุกคน ว่าความฝันของคุณจะสามารถเกิดขึ้นได้ในชาตินี้ ไม่ใช่คุณต้องเกิดมาแล้วทำงานใช้หนี้ หรือเกิดมาต้องทำงานเพื่อเอาเงินให้พ่อแม่ เราไม่ควรทำแบบนั้น แต่เราควรเกิดมาและได้ทำอะไรที่มีความหมายกับชีวิตของเรา” ครูพลกล่าว
AFP
การจัดการกับความเชื่อของคนในสังคมจึงต้องปรับทั้งฐานโครงสร้างเศรษฐกิจและสังคม โดยทำให้คนมีทางเลือกอย่างแท้จริง กล่าวคือ เมื่อจัดการศึกษาเพื่อให้คน ๆ หนึ่งสามารถพัฒนาศักยภาพของตัวเองได้ และสามารถเลือกเส้นทางตามสิ่งที่สนใจหรือชอบได้ จำเป็นต้องเป็นไปทั้งระบบนิเวศของการศึกษา ซึ่งต้องมีระบบสนับสนุนต่าง ๆ เข้ามา ทัั้งระบบแนะแนว ระบบการศึกษา การจัดการเรียนรู้ให้เด็กได้ทดลองทำสิ่งต่าง ๆ เพื่อดึงศักยภาพของเขาเหล่านั้นออกมา และเมื่อเด็กเติบโตขึ้นไปเรียนในระดับที่สูงขึ้น พวกเขาจะไม่ยึดติดหรือถูกสังคมผูกติดอยู่กับว่า “ต้องเป็นเจ้าคนนายคนเท่านั้นจึงจะประสบความสำเร็จ” ซึ่งครูจุ๊ยชี้ว่า
“สังคมต้องมองว่า ในที่สุดแล้ว เมื่อเขาทำงาน เขาก็จะมีเกียรติและศักดิ์ศรีในงานของเขา มีความเป็นมืออาชีพในงานของเขา โดยไม่ต้องรู้สึกน้อยเนื้อต่ำใจว่า งานของฉันมีเกียรติกว่างานของเธอ เมื่อสังคมมีภาวะกดดันนี้น้อยลง มันจะทำให้คนกล้าเลือกตามศักยภาพของตัวเองมากขึ้น”
“ถ้าประเทศมองว่าคนเป็นทรัพยากรที่มีคุณค่าสำหรับการพัฒนาประเทศ ทุกคนสามารถสร้างมูลค่าและทำให้ประเทศเดินหน้าในรูปแบบของตัวเอง ดังนั้น ถ้าเขาเลือกได้ว่าจะพัฒนาศักยภาพของตัวเองไปในทิศทางไหน มันก็จะสร้างให้เกิดประชากรที่มีคุณภาพมากขึ้น ประเทศก็จะพัฒนาเร็วขึ้น แต่นั่นหมายความว่า เราต้องไม่ติดกับดักหรือใยแมงมุมระบบราชการ ไม่งั้นเราจะไม่ไปไหน และคนเก่ง ๆ ก็จะย้ายประเทศกันไปหมด” ครูจุ๊ยกล่าวปิดท้าย
- ระบบการศึกษาไทย ปีศาจที่กัดกินความเป็นคนของครู
- #DEK64กำลังจะถูกทิ้ง เมื่อเด็กถูกลอยแพในการสอบชี้ชะตาชีวิต
- “บ่วงบุญคุณ” พันธนาการรักของพ่อแม่ที่อาจทำร้ายลูก
- เสียงสะท้อน “เรียนออนไลน์” และความไม่พร้อมของการศึกษาไทยช่วงโควิด-19